xs
xsm
sm
md
lg

3 วิธี เพิ่มความสูงให้ลูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คุณพ่อคุณแม่หลายท่านมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องความสูงของลูก กลัวว่าลูกจะเตี้ย โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่มีความสูงไม่มาก ลูกก็มีโอกาสจะตัวเตี้ย หรือใครที่มีลูกสาวก็มักจะมีความกังวลเป็นพิเศษเรื่องลูกจะเป็นสาวก่อนวัยทำให้ไม่สูง จึงรีบพาไปปรึกษาคุณหมอแต่เนิ่นๆ และมักจะสรรหาของดีมีประโยชน์มาช่วยเพิ่มความสูงให้กับลูก ทั้งวิตามินเสริม แคลเซียม ให้ดื่มนมมากๆ ออกกำลังกายเยอะๆ เพื่อหวังให้ลูกสูง

นพ. กิจจา ฤดีขจร จาก ศูนย์การแพทย์นวบุตรสตรีและเด็ก ชั้น 2 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า ความสูงของลูกขึ้นกับปัจจัยทางพันธุกรรมเป็นหลัก นั่นคือความสูงของพ่อกับแม่ ปัจจัยกระตุ้นจากภายนอก เช่น อาหาร หรือการออกกำลังกาย มีผลน้อยกว่า ดังนั้นความสูงของลูกจึงมีแนวโน้มจะใกล้เคียงกับพ่อ-แม่ แต่โภชนาการที่ดีขึ้นและการออกกำลังกาย ทำให้เด็กรุ่นปัจจุบัน มีแนวโน้มจะสูงกว่ารุ่นพ่อ-แม่

อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็มักกังวลเรื่องความสูงของลูกเมื่อลูกเข้าโรงเรียน และมีการเปรียบ เทียบกับเด็กอื่น เด็กในวัยเรียน อายุ 3-8 ปี ส่วนใหญ่มีอัตราการเติบโตคงที่ คือ สูงขึ้นปีละ 6-7 ซม. ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนๆในห้องเรียนเดียวกัน ลูกจึงดูราวกับว่าไม่สูงขึ้น ไม่สูงเกินกว่าคนอื่น เพราะเด็กทุกขึ้นต่างสูงขึ้นพร้อมๆกันในอัตราเดียวกัน จึงแทบไม่มีใครแซงกันได้ ดังนั้นลูกของเรามีแนวโน้มจะสูงหรือเตี้ยเพียงใด ประเด็นนี้ควรปรึกษากับกุมารแพทย์ เพราะจำเป็นต้องพิจารณาเป็นรายบุคคล โดยอาศัยข้อมูลส่วนสูง น้ำหนัก ที่มีบันทึกอย่างต่อเนื่องในสมุดวัคซีนประจำตัวเด็ก

การเติบโตของเด็กตามเกณฑ์ปกติ ถูกกำหนดจากปัจจัยด้านพันธุกรรมเป็นหลัก อาหารเป็นเพียงวัตถุดิบ ควรเน้นให้ลูกกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ อย่าให้ขาดอาหารที่มี โปรทีน-แคลเซียม เช่น นม ไข่ เนื้อสัตว์ แต่การเน้นกินอาหารกลุ่มนี้มากขึ้น หรือกินยาเม็ดแคลเซียม ไม่สามารถกระตุ้นให้ความสูงเพิ่มขึ้นมากกว่าอัตราปกติ และปัจจุบันยังไม่มียากิน วิตามิน หรืออาหารเสริมชนิดใด ที่สามารถเพิ่มความสูงอย่างได้ผล

ความสูงของลูกจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น คืออายุ 9-14 ปีในเด็กหญิง และ 12-15 ปี ในเด็กผู้ชาย ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงที่เหมาะสมต่อการกระตุ้นความสูง ด้วยการปฏิบัติดังนี้ คือ

1.ให้นอนแต่หัวค่ำ อย่านอนดึกเกิน 22.00 น เพื่อมิให้รบกวนการหลั่งฮอร์โมนการเติบโต

2.กินอาหารที่มีแคลเซียม-โปรทีน ให้เพียงพอ เช่น ดื่มนมวันละ 600-800 CC.

3.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายที่ช่วยกระตุ้นความสูงได้ดี คือการออกกำลังกายที่เพิ่มแรงกดต่อกระดูกปานกลาง เช่น วิ่ง ฟุตบอล เทนนิส แบดมินตัน กระโดดเชือก เป็นการออกกำลังกายที่ต่อเนื่อง 40-60 นาที และทำเป็นประจำอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์

ส่วนเรื่องการเป็นสาวก่อนวัยของเด็กหญิง เด็กรุ่นปัจจุบันจะเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุเฉลี่ย 11 ปี หรือในช่วงอายุ 9-13 ปี รายที่ประจำเดือนมาก่อนอายุ 9 ปี ถือว่ามาเร็วเกินควร ควรปรึกษากุมารแพทย์ เพราะการมีประจำเดือนจะส่งผลด้านลบต่อความสูง

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นตรวจเช็คการเจริญเติบโตของลูก ว่ามีปัจจัยใดที่จะทำให้ลูกเรามีแนวโน้มเตี้ยหรือไม่ เพื่อรับคำปรึกษาจากคุณหมอและดูแลลูกได้อย่างถูกวิ

กำลังโหลดความคิดเห็น