xs
xsm
sm
md
lg

9 เหตุผลดีๆ ที่ควรใช้ของออร์แกนิก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาหารออร์แกนิก คืออะไร?

อาหารออร์แกนิก ได้แก่ ผักสด ผลไม้สด ไข่ไก่ เนื้อสัตว์ ขนม นม ข้าว ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาจากธัญพืช เครื่องปรุงต่างๆ เช่น น้ำตาล แป้งสาลี ฯลฯ

ปัจจุบันนี้ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกไม่เพียงมีแต่อาหารเพียงเท่านั้น เพราะนอกจากนี้แล้วยังมีผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่าง เครื่องสำอาง อาทิ โฟมล้างหน้า สบู่ ครีมบำรุงผิว รองพื้น ลิปสติก ฯลฯ รวมไปถึงสินค้าสำหรับทำความสะอาดบ้าน เช่น น้ำยาถูพื้น น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาซักผ้า น้ำยาซักชุดชั้นใน น้ำยาล้างจาน ฯลฯ อีกด้วย ซึ่งล้วนแล้วแต่จะต้องมีส่วนประกอบทุกอย่างล้วนมากจากธรรมชาติ ไม่มีการใช้สารสังเคราะห์ใดๆ ไม่ใช้สารเคมี เช่น ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี สารกระตุ้น หรือสารเร่งการเจริญเติบโต หรืออาจจะมีบ้างที่ใช้สารเคมีเพียงเล็กน้อยเท่าที่จำเป็น แต่ส่วนนี้จะถูกจัดอยู่ใน ออร์แกนิก 95 % ซึ่งอาจมากกว่าหรือน้อยกว่านั้น แต่ถ้าต่ำกว่า 70% จะไม่ถือว่าเป็นออร์แกนิก

ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบที่เป็นออร์แกนิกเพียง 70-95% จะไม่สามารถติดฉลากว่า เป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกได้ แต่สามารถระบุปริมาณส่วนประกอบออร์แกนิกบนฉลากได้ ซึ่งออร์แกนิกจะต้องติดป้ายระบุรายละเอียดของส่วนผสมและวิธีการผลิตในแบบออร์แกนิกบนผลิตภัณฑ์อย่างละเอียด โดยมีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสากลควบคู่ไปด้วย และเพื่อให้มั่นใจได้ถึงคุณภาพผู้บริโภคควรพิจารณาถึงรายละเอียดของส่วนผสมและวิธีการผลิตที่ระบุบนผลิตภัณฑ์ในแบบออร์แกนิก โดยมองหาสัญลักษณ์การรับรองที่ทั่วโลกรับรองเป็นสำคัญ ซึ่งตรารับรองการเกษตรอินทรีย์ที่ใช้มากที่สุด นั่นก็คือตรารับรองของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ซึ่งนอกจากนี้แล้วก็ยังมีตรารับรองอื่นๆ อีกมากมาย

สำหรับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ - มกอช. (National Bureau of Agricultural Commodity and Food Standards - ACFS) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้จัดทำขึ้น ฉบับที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ มาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ. 9000 เล่ม 1-2552) เกษตรอินทรีย์ เล่ม 1 : การผลิต แปรรูป แสดงฉลาก และจำหน่ายผลิตผลและผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์เกษตรอินทรีย์ ซึ่งปรับปรุงจากฉบับปี พ.ศ. 2546 โดยคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรได้มีมติเห็นชอบ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้อนุมัติให้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์เป็นมาตรฐานทั่วไป (ไม่ใช่มาตรฐานบังคับ) รวมทั้งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2552 โดยมีตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ประเทศไทย หรือ Organic Thailand เป็นตรารับรองนั่นเอง (ข้อมูลจาก www.nawachione.org)

จะว่าไปแล้วนั้นอาหารออร์แกนิกนั้นมีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย อาทิ ช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้ เพราะไม่มีสารพิษต่าง ๆ ที่เป็นสารก่อมะเร็ง, ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดในสมอง, ทำให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยง่าย

สามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ


1.ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก 100% ต้องใช้วัตถุดิบและผ่านกระบวนการผลิตในแบบออร์แกนิค 100%
2.ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกไม่น้อยกว่า 95%

9 เหตุผลที่ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก (ข้อมูลจาก http://www.greennet.or.th)

1. ปลอดภัย (กว่า) จากสารเคมีการเกษตร
อาหารออร์แกนิกผลิตจากกระบวนการผลิตเกษตรอินทรีย์ (ซึ่งอาจมีการรับรองมาตรฐานหรือไม่ก็ได้) ซึ่งปฏิเสธการใช้สารเคมีการเกษตรที่อาจเป็นอันตราย ทั้งยาฆ่าแมลง สารป้องกันเชื้อรา ยาฆ่าหญ้า หรือแม้แต่ปุ๋ยเคมี นอกจากนี้ เกษตรกรยังต้องมีการป้องกันการปนเปื้อนของสารเคมีการเกษตรจากแปลงข้างเคียงด้วย (ซึ่งแม้ว่าอาจจะไม่สามารถป้องกันได้ 100%) ทำให้ผลผลิตเกษตรอินทรีย์มีสารเคมีการเกษตรตกค้างปนเปื้อนต่ำกว่า

2. ปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะและฮอร์โมน
สัตว์ที่เลี้ยงในระบบเกษตรอินทรีย์จะไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะหรือฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต รวมทั้งอาหารที่ใช้ในการเลี้ยงก็ต้องเป็นอาหารสัตว์ออร์แกนิก ที่ผลิตจากกระบวนการเกษตรอินทรีย์ โดยไม่มีการใส่สารปรุงแต่งที่ต้องห้าม เช่น สารกันบูด สีผสมอาหารที่เป็นสังเคราะห์ ทำให้ผลผลิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ นม หรือไข่ ไม่มีสารสังเคราะห์ที่อาจเป็นอันตรายต่อการบริโภค

3. ปลอดภัยจากสารปรุงแต่งอาหาร
ในการผลิตอาหารแปรรูปออร์แกนิก มีข้อกำหนดไม่ให้มีการใช้สารเคมีสังเคราะห์ต่างๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นสารกันบูด สารให้สี สารแต่งกลิ่นและรส รวมทั้งกรรมวิธีแปรรูปจะต้องไม่ใช้วิธีการที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เช่น การฉายรังสี การหมักโดยใช้สารเร่ง การฟอกสีให้ขาว

4. เลี้ยงสัตว์อย่างมีจริยธรรม
ในระบบเกษตรอินทรีย์ การเลี้ยงสัตว์ (ทั้งปศุสัตว์ สัตว์ปีก และสัตว์น้ำ) จะให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพและสวัสดิการของสัตว์ เคารพลักษณะทางธรรมชาติของสัตว์ที่เลี้ยง ไม่มีการกักขังสัตว์ให้อยู่กับอย่างแออัดมาก ไม่กุดอวัยวะหรือทำการทรมานสัตว์ ไม่เร่งการเจริญเติบโตด้วยวิธีการต่างๆ และดูแลสภาพความเป็นอยู่ของสัตว์โดยพิจารณาจากธรรมชาติของสัตว์ ทำให้สัตว์มีสุขภาพอนามัยที่ดี เติบโตอย่างธรรมชาติ และความเป็นอยู่ที่สมควรแก่อัตภาพ

5. มีวิตามินและคุณค่าทางโภชนาการดีกว่า
จากการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ที่เป็นธรรมชาติและเอาใจใส่นี้ ทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพที่ดี มีวิตามินและสารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ทางโภชนาการและต่อสุขภาพสูงกว่า เช่น สารโอมาก้า กรดอะมิโน สารต่อต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น นอกจากนี้ อาหารออร์แกนิกยังมีรสชาติที่ดีกว่า เป็นธรรมชาติมากกว่าอาหารที่ผลิตจากระบบเกษตรทั่วไป ที่มีการใช้สารต่างๆ ในการเร่งการเจริญเติบโต หรือแม้แต่ในการแปรรูป อาหารออร์แกนิกก็จะผ่านการแปรรูปที่น้อยกว่า เพื่อให้คงคุณค่าทางโภชนาการเอาไว้ให้ได้มากที่สุด

6. อนุรักษ์ดินและน้ำ
หลักการสำคัญประการหนึ่งของเกษตรอินทรีย์ก็คือ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในเรื่องของดินและน้ำ เกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์จะต้องปรับปรุงบำรุงดินด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การไม่เผาตอซัง การป้องกันการชะล้างหน้าหน้าดิน (ในกรณีที่เป็นพื้นที่ลาดเอียง) การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดินเค็ม (จากการจัดการเพาะปลูกที่ไม่เหมาะสม) ทำให้ทรัพยากรดินได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟู หรือในกรณีของทรัพยากรน้ำก็เช่นกัน เกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์จะต้องใช้น้ำอย่างประหยัด ไม่ใช้น้ำฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น และต้องระมัดระวังไม่ให้น้ำที่อยู่ใต้ดิน หรือบริเวณใกล้เคียงปนเปื้อน หรือเสื่อมโทรมลง

7. หลากหลายทางชีวภาพ
เนื่องจากการไม่ใช้สารเคมีการเกษตร ฟาร์มเกษตรอินทรีย์จึงมีพืชสัตว์ต่างๆ หลากหลายชนิดมากกว่า (ความหลากหลายทางชีวภาพสูง) ไม่ว่าจะเป็นพืชพรรณพื้นบ้าน ที่เป็นทั้งอาหาร ยา และไม้ใช้สอย หรือสัตว์ต่างๆ ทั้งที่อยู่ใต้ดินและบนดิน หรือตามต้นไม้ต่างๆ (เช่น ไส้เดือน นก ปลา แมลง) แม้ว่าส่วนหนึ่งของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้อาจเป็นศัตรูพืช แต่ก็มีสัตว์ที่เป็นประโยชน์ที่คอยควบคุมแมลงศัตรูพืชอยู่อย่างหลากหลายด้วย (เช่น แมงมุม กิ่งก่า กบ) ความหลากหลายทางชีวภาพนี้ทำให้ฟาร์มเกษตรอินทรีย์มีเสถียรภาพจากการรบกวนของโรคและแมลงศัตรูพืช เพราะธรรมชาติควบคุมกันเอง

8. ลดโลกร้อน
การผลิต ขนส่ง และการใช้สารเคมีการเกษตร (โดยเฉพาะอย่างยิ่งปุ๋ยเคมี) ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นสาเหตุของโลกร้อน ระบบเกษตรอินทรีย์ปฏิเสธการ ใช้สารเคมีเหล่านี้ จึงมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่า นอกจากนี้ วิธีการจัดการฟาร์มของเกษตรอินทรีย์ก็ทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงอีกด้วย (เช่น การใช้จุลินทรีย์ที่ใช้อากาศในการย่อยอินทรียวัตถุ หรือการใช้อาหารหยาบในการเลี้ยงสัตว์) และที่สำคัญก็คือ ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ยังช่วยตรึงและเก็บกักคาร์บอน (ในรูปของอินทรียวัตถุใต้ดินและบนดิน รวมทั้งในชีวมวลต่างๆ) ซึ่งทำให้มีก๊าซเรือนกระจกลดลง

9. ดีต่อเกษตรกร เพราะราคายุติธรรม
เกษตรกรที่ผลิตอาหารออร์แกนิกจะได้รับการประกันราคาผลผลิต ซึ่งราคาประกันนี้พิจารณาจากต้นทุนในการผลิตต่างๆ ที่รวมถึงค่าตอบแทนที่เป็นธรรมต่อเกษตรกร ราคาผลผลิตที่ยุติธรรมนี้ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้น ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม เมื่อเปรียบเทียบกับระบบการเกษตรทั่วไป ที่เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาที่ต่ำ เกิดปัญหาหนี้สิน และจมอยู่ในวัฐจักรของความยากจน สำหรับผู้บริโภค อาหารออร์แกนิกมีราคาที่ยุติธรรม เพราะเป็นอาหารที่ปลอดภัย มีคุณภาพสูง ดีต่อสิ่งแวดล้อม และสังคม

กำลังโหลดความคิดเห็น