ผู้เขียน : ผศ.พญ.ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล |
ความรู้สึกผิด คือความรู้สึกแย่กับตัวเอง การยอมรับการกระทำของตัวเองไม่ได้ มองว่าตัวเองได้ทำบางสิ่งที่ไม่สมควรออกไป ที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายทางจิตใจ หรือทางร่างกาย กับคนอื่น หรือตัวเอง
ความรู้สึกผิด เป็นความรู้สึกหนึ่งที่ทรมานใจอย่างมาก
และทำให้หลายคนไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้
หลายคนจมจ่อมกับความรู้สึกผิดและเฝ้าโทษตัวเองซ้ำๆ
ยิ่งหวนนึกถึงเหตุการณ์นั้นบ่อยๆ ก็ยิ่งรู้สึกแย่กับตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ
ความรู้สึกผิด เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ในทางจิตวิทยา ไม่ใช่ทุกคนจะมีความรู้สึกผิดได้
บุคคลที่จะมีความรู้สึกผิดได้ต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานดังนี้
1. คนที่มีคุณธรรม (moral)
คนที่มีคุณธรรมเท่านั้นถึงจะมีความรู้สึกผิด ในทางตรงข้าม คนที่ไม่มีคุณธรรม ไม่ว่าทำอะไรลงไป เดือดร้อนคนอื่นแค่ไหน ไม่มีทางที่เขาจะรู้สึก รู้สึกผิดได้เลย เนื่องการพัฒนาทางจิตใจมาตั้งแต่วัยเด็กทำให้เกิดความบกพร่องที่จุดนี้ จึงไม่สามารถรู้สึกผิดบาป หรือละอายใจกับการกระทำผิดของตนได้
เพราะความรู้สึกผิดจะแปรผันตามกับเรื่องการมีคุณธรรมประจำใจ ถ้ายิ่งมีคุณธรรมประจำใจมาก ความรู้สึกผิดก็ยิ่งมีปริมาณมาก
2. เป็นคนที่มีความรับผิดชอบ (responsibilty) ต่อพฤติกรรมของตน รวมถึงมีจิตสำนึกในผลจากการกระทำของตนต่อส่วนรวม (accountability)
3. เป็นคนที่รู้สึกว่าต้องช่วยคนอื่น (altruism)
ตามปกติทุกคน พัฒนาการทางจิตใจวัยเด็กแรกเกิดของชีวิต จะมีลักษณะนึกถึงตนเอง ยึดตนเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง (self-center) แต่เมื่อเด็กๆ ได้เติบโตมีการเลี้ยงดูที่ดี จะมีพัฒนาการที่ดีและเหมาะสมมากขึ้น ความรู้สึกนึกถึงตนเองจะลดลงและพัฒนาเป็นความรู้สึกนึกถึงคนอื่นได้มากขึ้น จึงทำให้เกิดอยากช่วยคนอื่นและอยากเสียสละเพื่อผู้อื่น
4. เป็นคนที่สามารถเห็นอกเห็นใจคนอื่นได้ (empathy) คนที่สามารถรับรู้และเข้าใจความทุกข์ ความเจ็บปวด ของผู้อื่นได้ เมื่อเห็นคนที่มีความลำบาก จะกระตุ้นความอยากช่วยเหลือของเขา
ความรู้สึกผิดไม่ใช่เรื่องไม่ดี
คนที่รู้สึกผิดเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของคนที่จิตใจดี
และความรู้สึกผิดทำให้เราอยากปรับปรุงตัว ทำอะไรที่ดีๆ มากขึ้น
ลักษณะของคนที่มีความรู้สึกผิดมากเกินไป
คนที่จะมีความรู้สึกผิดมากเกินไป จะกลายเป็นโทษ มีลักษณะดังนี้
1. เกิดจากบุคลิกที่ชอบตำหนิตัวเอง (self- criticism)
ในคนที่มีบุคลิกชอบตำหนิตัวเอง มักมีแนวโน้ม เพ่งโทษตัวเอง เห็นข้อลบของตนเองอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น มักหันเข้ามาคาดโทษ และตำหนิตนเองไว้ก่อน
2. คนที่ให้อภัยตนเองได้ยาก
เกิดจากมีระดับการมีคุณธรรมที่รุนแรงมากเกินไป จนไม่เหมาะสม จึงไม่สามารถให้อภัยตนเองได้เลย
3. เป็นคนขาดความยืดหยุ่น
เช่น ถ้าดีก็ต้องดีทั้งหมด ไม่ควรมีอะไรผิดเลย ถ้ามีผิดไปนิดนึง จะแปลว่าเลวร้ายไปทั้งหมด คือมีลักษณะมองอะไร เป็นขาวหรือดำเท่านั้น ไม่สามารถมองอะไรเป็นสีเทาๆได้
4. เป็นคนคาดหวังกับตัวเองสูง (high expectations)
มีลักษณะบุคลิกภาพแบบ "คนสมบูรณ์แบบ" (perfectionist) จึงคาดหวัง ให้ตนเองทำสิ่งที่ถูกต้องตลอดเวลา ดังนั้น ถ้าทำผิดพลาดแม้เพียงน้อยนิด จะยอมรับตัวเองได้ยาก
5. เป็นคนไม่ค่อยเห็นคุณค่าในตนเอง (low self-esteem)
เมื่อทำผิดพลาดไปแม้เพียงเล็กน้อย จะรู้สึกแย่กับตัวเองได้มาก มองตนเองไม่มีค่า เพราะไม่ค่อยเห็นข้อดีของตนเอง
ผลจากความรู้สึกผิดที่มีปริมาณมากเกินไป ทำให้เกิดโทษได้อย่างมาก
1. อาจกลายเป็นโรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวลได้
2. ไม่อนุญาตให้ตนเองมีความสุข เพราะต้องการลงโทษตัวเอง บางคนจะมีความสุขก็รู้สึกละอายใจ จึงต้องทำให้ตนเองรู้สึกทุกข์ใจตลอด หรือทำให้ชีวิตตนเองตกต่ำอยู่ตลอด ไม่อยากให้เห็นตนเองดีขึ้น หรือก้าวหน้า เพราะยังรู้สึกผิดอยู่ ใช้ชีวิตไปอย่างไม่ใยดีตนเอง เพื่อชดเชยความผิด
3. พยายามฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเอง เพื่อชดเชยความผิดนั้น
การดูแลรักษา
การดูแลตัวเอง
1. เข้าใจและยอมรับ ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
O ความผิดพลาด ล้วนเกิดขึ้นได้ (เป็นธรรมดา) เพราะในโลกนี้ไม่มีใครที่ไม่เคยผิดพลาด ความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ ผู้ที่ไม่ผิดพลาดคือผู้ที่ไม่เคยทำอะไรเลย
O ยอมรับ ทุกความรู้สึก ที่เกิดขึ้น ทั้งความเศร้า เสียใจ ความโกรธ ความกลัว และ ความรู้สึกผิด เพราะทุกความรู้สึกที่เกิดขึ้น เป็นปฏิกิริยาปกติทางจิตใจ (normal reaction) ความรู้สึกต่างๆ จึงเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา จึงไม่ต้องไปรู้สึกแย่กับความรู้สึกใดๆที่เกิดขึ้น
2. เรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น
ความผิดพลาด เป็นโอกาสของการเรียนรู้ชั้นดี
จำไว้เสมอว่า ความผิดพลาด คือครู
3. ให้เวลา "ใจ" ที่จะรู้สึกเศร้าเสียใจ
ไม่ควรปฏิเสธความรู้สึกเศร้าเสียใจ
แต่ก็อย่าถึงกับคอยบิลด์อารมณ์ และซ้ำเติมตัวเองจนเกินจริง
4. พูดคุยกับผู้อื่น
เพราะการเก็บตัว ไม่พูดคุยใคร จะยิ่งทำให้อาการแย่มากขึ้น
5. แบ่งปันความรู้สึกกันกับคนใกล้ตัว
เช่น เพื่อน คนในครอบครัว หรือคนที่รู้สึกสนิทใจเป็นต้น
6. หากิจกรรมต่างๆ ทำ เพื่อไม่ให้ว่าง
เพราะเวลาว่าง มักจะคิดมาก คิดฟุ้งซ่าน คิดเลยเถิด เกินจริงไป
7. การกล่าวคำ "ขอโทษ"
ถ้ามีโอกาสที่จะทำได้ แนะนำให้ทำ
เป็นสิ่งที่ช่วยเยียวยา "แผลใจ" ได้มาก
ไม่ว่าอีกฝั่งจะยกโทษให้หรือไม่ก็ตาม
อย่างน้อย เราก็ได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว
8. เปลี่ยนความรู้สึกเป็นด้านบวก
O การทำงานอาสาสมัครต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ช่วยให้ลดความรู้สึกผิดได้ และ กลับมาเห็นคุณค่าในตนเองได้
O มองว่าความผิดนั้นเป็นการเรียนรู้ ซึ่งเป็นบทเรียนที่มีค่าอย่างยิ่ง เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง จะช่วยให้การใช้ชีวิตต่อไปดียิ่งขึ้นทั้งต่อตนเอง ต่อคนครอบครัว และต่อสังคม
O มองถึงสิ่งดีๆ และเจตนาดีต่างๆ ในตนเอง
9. ใคร่ครวญอย่างมีสติ ว่าเรามโนใส่ร้ายตัวเองมากไปหรือเปล่า
บางที สิ่งที่เรามองว่าตนผิด จนเกิดความรู้สึกเจ็บปวดทุกข์ใจอย่างมหาศาล
อาจมีความจริงแค่เล็กน้อย ที่เหลือ เรามโนใส่ร้ายตัวเองมากเกินไปก็เป็นได้
10. ข้อนี้สำคัญที่สุด คือ การให้อภัยตนเอง และเริ่มต้นชีวิตใหม่
มีผู้กล่าวไว้ว่า “การที่ให้อภัยตนเองไม่ได้ คือ การหลงตนเองชนิดหนึ่ง” ซึ่งเป็นความจริง เพราะเราหลงตัวว่าเราจะทำผิดอะไรไม่ได้เลย เราจึงไม่สามารถให้อภัยตัวเองได้
แต่ในความจริง เราทุกคนล้วนทำผิดได้ ความผิดพลาดเป็นเรื่องของมนุษย์
เราเองเป็นคนๆ หนึ่ง เมื่อคนอื่นทำผิดได้ เราก็ผิดได้เช่นกัน และฝึกที่จะให้อภัยตัวเอง และ เริ่มต้นใหม่ ด้วยชีวิตที่ดีขึ้น เพราะเราได้มีบทเรียนดีๆ สอนใจเราแล้ว
การดูแลคนใกล้ตัวที่มีความรู้สึกผิด
1. รับฟัง อย่างเข้าใจ
2. ทำความเข้าใจว่าความรู้สึกผิดนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร มีที่มาอย่างไร
3. อย่าซ้ำเติม
4. ถ้าไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา
ความรู้สึกผิดไม่ใช่สิ่งเลวร้าย เพราะทำให้เกิดการแก้ไขไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
ตรงข้ามกับการที่ไม่มีความรู้สึกผิด จะมีแต่การแก้ตัว กล่าวโทษคนอื่น ทะเลาะกัน เต็มไปด้วยความวุ่นวายและทำร้ายกัน
แต่ความรู้สึกผิดที่มากเกินไป จะกลับมาทำร้ายเราได้
ดังนั้น “ความเมตตาต่อตนเอง” จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
ภาษิตธิเบตกล่าวว่า “ไม่รู้ว่า พรุ่งนี้หรือชาติหน้า อะไรจะมาก่อนกัน”
เมื่อวันนี้ เรามีโอกาสมีชีวิตอยู่ ใช้เวลาที่มีอยู่อย่างรู้คุณค่า
โดยการปล่อยวางเรื่องที่ผิดพลาดไปแล้วในอดีต และทำวันนี้ให้ดีที่สุด