xs
xsm
sm
md
lg

คลี่ปม “วัยรุ่น” ยกพวกตี อยากได้การยอมรับ หนุนใช้ กม.เอาผิดหัวโจก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมสุขภาพจิตเปิดปม “วัยรุ่น” ยกพวกตี ใช้ความรุนแรง เหตุเรียกร้องความสนใจ ต้องการการยอมรับ พ่วงสภาพร่างกายเปลี่ยน สื่อและสังคมมีแต่ความรุนแรงจนเป็นเรื่องปกติ หนุนใช้ กม. เอาผิดพวกหัวโจก ส่วนเด็กกลุ่มเสี่ยง - ปกติต้องป้องกัน แนะเปิดพื้นที่ทำกิจกรรมช่วยขับความรุนแรงในตัว พร้อมฝึกสติ

จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ออกคำสั่งมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียน นักศึกษา โดยให้อำนาจเจ้าหน้าที่กักขังไม่เกิน 6 ชั่วโมง หากทำให้เสียชีวิตจำคุก 1 ปี

วันนี้ (23 มิ.ย.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ธรรมชาติของเด็กและวัยรุ่น คือ อยากลองสิ่งแปลกใหม่และทำในสิ่งที่ท้าทาย รู้สึกว่าตนเองแน่ เก่ง ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน ไม่คำนึงถึงผลที่จะเกิดตามมา สาเหตุมาจาก 1. ปัจจัยภายใน คือ การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย ฮอร์โมน จิตใจ วุฒิภาวะทางอารมณ์ และไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง และ 2. ปัจจัยแวดล้อมภายนอก ได้แก่ ครอบครัว ระบบการศึกษา เพื่อนและสังคม ที่สร้างความกดดัน เช่น การบังคับ ลงโทษ กวดขันอย่างเข้มงวด ปิดกั้นไม่ให้อิสระ เป็นต้น ซึ่งยิ่งหากถูกดูแคลนว่าด้อยความสามารถ ก็จะแสดงออกเพื่อเรียกร้องความสนใจ ซึ่งการทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย ยกพวกตีกัน เป็นวิธีที่คิดและทำได้ง่ายเพื่อให้รู้สึกตัวเองเด่นดัง เพื่อนเห็นความสามารถและยอมรับ นอกจากนี้ การประคบประหงมจากครอบครัวจนเกินเหตุ และความรุนแรงที่เห็นได้ชาชินในสังคมและสื่อก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กก้าวร้าวรุนแรง และใช้กำลังในการแก้ปัญหา

นพ.เจษฎา กล่าวว่า เด็กที่มีแนวโน้มเป็นคนก้าวร้าวใช้ความรุนแรง สังเกตได้จากเด็กที่ชอบก่อกวน โหดร้ายทารุณสัตว์ ชกต่อย ทำร้ายร่างกายตนเองและผู้อื่น ทำลายข้าวของ ขู่คุกคาม ไม่เคารพกฎระเบียบต่าง ๆ รวมถึงเด็กที่เก็บตัว เก็บกด ไม่เคยได้ระบายความรู้สึกออกมาอย่างเหมาะสม การแก้ไขปัญหาต้องแบ่งเด็กเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่เป็นปัญหามาก เป็นหัวโจก อาจต้องใช้กระบวนการทางกฎหมาย เพื่อให้เด็กเกิดการยอมรับว่าเขาทำผิด ก็ต้องได้รับผลจากการกระทำความผิด ซึ่งในระบบกฎหมายจะมีเรื่องการฟื้นฟูจิตใจ ทั้งการปรับพฤติกรรมและอารมณ์ เพื่อให้ผู้กระทำผิดออกมาเป็นคนดีของสังคม ซึ่งครอบครัว ชุมชน และสังคมต้องไม่ตีตรา ตอกย้ำ และ 2. เด็กกลุ่มปกติหรือมีความเสี่ยง ควรมีการส่งเสริม ป้องกัน โดยมีพื้นที่ให้ทำกิจกรรมเสริมสร้างคุณค่าให้ตัวเอง ใช้พลังขับด้านความรุนแรงที่มีอยู่ในตัวทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์และมีประโยชน์ให้มากที่สุด ที่สำคัญ ควร ฝึกสติ เพื่อช่วยให้ รู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง สามารถยับยั้งชั่งใจ ควบคุมอารมณ์ และพฤติกรรมได้

ด้าน พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า แนวทางป้องกันการใช้ความรุนแรงในเด็กและวัยรุ่น คือ 1. ระดับครอบครัว พ่อแม่ต้องรักลูกให้ถูกทาง แสดงความรักอย่างถูกต้องเหมาะสม เปิดใจ คุยปัญหาได้ทุกเรื่อง อบรมให้ลูกแยกแยะผิดถูกชั่วดีได้ สอดส่องพฤติกรรมและดูแลลูกอย่างใกล้ชิดให้มากขึ้น 2. ระดับสถานศึกษา ครูอาจารย์ ต้องเป็นเหมือนพ่อแม่อุปถัมภ์ เปิดใจคุยปัญหาได้ทุกเรื่อง ติดตามเยี่ยมบ้านอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังเด็กที่เริ่มมีผลการเรียนตกต่ำ หรือใช้สารเสพติด ปลูกฝังความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สนับสนุนให้เกิดระบบเพื่อนช่วยเพื่อน เตือนกันเมื่อเพื่อนจะทำผิด ชักจูงให้เปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ส่งเสริมให้ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ที่เกิดจากความต้องการของเด็กเอง เพื่อให้พวกเขารู้สึกถึงความมีคุณค่าในตนเอง เกิดการยอมรับในกลุ่มเพื่อน ได้ระบายออกถึงแรงขับความรุนแรงที่มีอยู่ภายใน

“ที่สำคัญคือ การจัดกิจกรรมปรับพฤติกรรม เสริมทักษะชีวิต พัฒนา EQ โดยเฉพาะ การฝึกสติ ให้กับพวกเขา ซึ่งสถานศึกษาในต่างประเทศหลายแห่งได้มีการนำสติไปใช้ พบว่า การฝึกสติ มีความสำคัญและจำเป็นต่อกระบวนการเรียนรู้ของเด็กและวัยรุ่นในโรงเรียน ส่งผลให้เส้นใยสมองของเด็กหนาตัวขึ้น มีการเชื่อมโยงและส่งต่อภายในระบบโครงสร้างสมองมากขึ้น ตลอดจนเด็กมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน พฤติกรรมและพัฒนาการทางด้านต่างๆ ดีขึ้นในทุกด้านอีกด้วย วิธีง่าย ๆ ให้เด็ก ๆ ได้ลองฝึก คือ อยู่กับลมหายใจหรืออารมณ์ที่มีอยู่ รับรู้ว่าตอนนี้มีอารมณ์แบบใด ถ้าเป็นอารมณ์ด้านลบ ก็ให้พยายามขจัดมันออกไป ซึ่งการรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง จะช่วยทำให้อารมณ์ขุ่นมัวที่มีน้อยลงไปด้วย” พญ.มธุรดา กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น