มหาสารคาม - แพทย์ชี้สภาพสังคมบีบคั้น ชีวิตต้องดิ้นรนแข่งขัน ส่งผลเกิดความเครียดได้ง่าย บางรายเป็นโรคซึมเศร้ารุนแรงถึงขึ้นคิดฆ่าตัวตาย แนะพูดคุยกันมากขึ้น พร้อมสังเกตอาการผิดปกติคนใกล้ตัว แล้วรีบพาปรึกษาแพทย์
วันนี้ (11 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลการฆ่าตัวตายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มจังหวัดเครือข่าย “ร้อยแก่นสารสินธุ์” อันประกอบด้วย ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ โดยการควบคุมดูแลของเขตบริการสุขภาพที่ 7 กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดย จ.กาฬสินธุ์ มีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นถึง 6.61 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งสูงกว่าอัตราการฆ่าตัวตายของประเทศ รองลงมา คือ มหาสารคาม 2.30 ต่อประชากรแสนคน ส่วนใหญ่ผู้ที่ฆ่าตัวตายจะอยู่ในกลุ่มวัยผู้ใหญ่ 40-44 ปี ส่วนวิธีพบว่า ผูกคอตายมากที่สุด รองลงมา กินยาฆ่าแมลง
นายแพทย์สุรกิจ ยศพล รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลมหาสารคาม กล่าวว่า จากสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่มีการแข่งขันสูง ประชาชนต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ และครอบครัว ทำให้การผ่อนคลายร่างกาย และจิตใจมีน้อย การพูดคุยกับสมาชิกในครอบครัวลดน้อยลง อาจเกิดความเครียดสะสม ไม่สามารถจัดการกับความเครียดในตนเองได้ และพัฒนาเป็นภาวะซึมเศร้า
“หากไม่สามารถหันหน้าไปปรึกษาใครได้ ไม่มีใครเข้าใจและรับฟัง มองไม่เห็นทางออกของปัญหา อาจส่งผลให้เกิดความรู้สึกสิ้นหวัง ไร้คุณค่าในตนเอง มีความคิดฆ่าตัวตายได้ จำเป็นที่คนในครอบครัว และคนรอบข้างต้องช่วยกันดูแล”
ทั้งนี้ การสังเกตพฤติกรรมเสี่ยงฆ่าตัวตาย บางรายอาจแสดงออก หรือบอกกล่าวให้คนใกล้ชิดรู้ว่ากำลังมีปัญหา ขณะที่บางรายมีพฤติกรรมนิ่งเงียบ เซื่องซึม หรือปิดกั้นตัวเองไม่พูดคุย มีพฤติกรรมแปลกไปจากเดิม ถือเป็นสัญญาณอันตรายที่คนใกล้ชิดควรจะต้องรีบเข้าไปดูแล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสีย ดังนั้น หากสังเกตว่าคนใกล้ตัวมีพฤติกรรมดังกล่าว ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรดูแล พูดให้กำลังใจเพื่อให้คลายความกังวล คลายความเศร้า หรือพาไปออกกำลังกายเพื่อคลายความเครียด
นายแพทย์สุรกิจ กล่าวว่า หากประชาชนประสบปัญหาความเครียด หรือสุขภาพจิต กังวลใจจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุข ขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่จะคอยพูดคุยหรือให้คำแนะนำได้ เพื่อให้ละความพยายามในการฆ่าตัวตาย และสร้างกำลังใจเพื่อมีชีวิตใหม่ที่ดีขึ้นต่อไป ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลมหาสารคาม บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตแก่ประชาชนทั่วไป ณ คลินิกลีลาวดี ทุกวันจันทร์-ศุกร์ และคลินิกนอกเวลา วันเสาร์ เวลา 08.30-12.00 น.
โดยประชาชนจะได้รับบริการตรวจคัดกรองสุขภาพจิต ด้วยแบบสอบถาม และการให้คำปรึกษาจากจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังได้มีนโยบายเชิงรุกให้บริการเพื่อค้นหาผู้มีภาวะเสี่ยงทางด้านสุขภาพจิต และการฆ่าตัวตายในชุมชน ตลอดจนในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ถ้าพบว่าความผิดปกติจะได้รับการส่งตัวไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป