คุณภาพชีวิต ผูกติดอดีตชาติ ดร.ทายาท ศรีปลั่ง เผยผ่านงานวิจัย คนสามารถยกระดับชีวิตให้ดีขึ้นได้ ด้วยหลัก “อดีตชาติบำบัด” เพียงรู้กรรมในชาติก่อนและแก้ไขในชาตินี้
การพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นการสร้างรากฐานของการดำรงชีวิตของคนให้ดีขึ้น การพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นทั้งการพัฒนาทัศนคติ แรงจูงใจ พฤติกรรมและคุณธรรมประจำใจ โดยอาศัยกระบวนการค้นหาตนเอง รวมถึงความสามารถในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปตาม สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป การพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นการพัฒนาที่จิตใจของตนเอง แล้วพัฒนาไปสู่ความสำเร็จในชีวิต ทำให้มีคุณภาพชีวิต มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ดร.ทายาท ศรีปลั่ง พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และกรรมการผู้จัดการ บริษัทเดอะไนล์ จำกัด ผู้เปิดเผยงานวิจัยเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตจากการย้อนรอยอดีตชาติบำบัดตามแนวจิตวิทยาบูรณาการ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน วิทยาการด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยใช้กระบวนการของจิตใต้สำนึกได้รุดหน้าไปมากเพราะนักจิตวิทยาหลายกลุ่มมีความเชื่อว่าจิตใต้สำนึกมีพลังมากกว่าจิตสำนึกและพลังเหล่านี้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต
“อย่างไรก็ตาม นักจิตวิทยาอีกกลุ่มเชื่อว่าการเติมพลังงานบวกให้จิตใต้สำนึกจะเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ได้ผลในขณะที่บางกลุ่มกลับมีความเชื่อว่าการลดพลังลบในจิตใต้สำนึกจะเป็นการเสริมคุณภาพชีวิตที่ได้ผลมากกว่า เนื่องจากมีผลการบำบัดที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพลังงานลบในจิตใต้สำนึกสามารถส่งผลบั่นทอนสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจ นอกจากนี้ก็มีงานวิจัยในระยะหลังนี้บ่งชี้ ให้เห็นว่าพลังงานลบในจิตใต้สำนึกมีผลต่อการทำให้คุณภาพชีวิตตกต่ำลง”
ดร.ทายาท กล่าวว่างานวิจัยชิ้นดังกล่าว เป็นการวิจัยแบบกึ่งการทดลองที่มีกลุ่มควบคุม (Quasi-experimental with Control Group Design) ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักสามประการ ประกอบด้วย
๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับการย้อนรอยอดีตชาติบำบัด (PLRT) ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต
๒) เพื่อพัฒนากระบวนการจิตวิทยาบูรณาการที่เพิ่มประสิทธิผลของ PLRT
๓) เพื่อศึกษาผลการใช้ PLRT ตามแนวจิตวิทยาบูรณาการต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต
ผู้วิจัยได้ผสมผสานหลักพรมวิหารธรรมและบุญยกิริยาวัตถุเพื่อเพิ่มประสิทธิผลของ PLRT โดยใช้กรณีศึกษาที่เป็นอาสาสมัครจำนวน ๔๐ คน (N=๔๐) จากบริษัท ICC International มหาชน จำกัด อายุระหว่าง ๒๕ ถึง ๖๐ แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง (E) และกลุ่มควบคุม (C) จำนวนกลุ่มละ ๒๐ คน
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มทดลองมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่า กลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .๐๕ นั่นแสดงว่า การบำบัดด้วยวิธีการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยกระบวนการ PLRT ที่ใช้จิตวิทยาบูรณาการร่วมกับหลักพรหมวิหารธรรมและบุญกิริยาวัตถุ มีอิทธิพลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต อย่างไรก็ตามผลการทดสอบที (paired-sample t-test) ของกลุ่มทดลองพบว่าการบำบัดด้วยวิธี PLRT ที่ใช้จิตวิทยาบูรณาการร่วมกับหลักพรหมวิหารธรรมและบุญยกิริยาวัตถุมีอิทธิพลต่อการพัฒนาสุขภาวะจิต สภาวะภวังค์ และคุณภาพชีวิตอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับความเชื่อมั่นระดับความเชื่อมั่นที่ .๐๕
ผู้วิจัยใช้ภาษาที่สื่อสารกับจิตใต้สำนึกเพื่อน้อมนำกรณีศึกษาให้ย้อนจิตกลับไปในจิตใต้สำนึกของตนเองเพื่อหาต้นเหตุของปัญหา สิ่งที่พบก็คือ เมื่อกรณีศึกษาได้กลับไปมีประสบการณ์ซ้ำ (Re-experiencing or Re-living) ในต้นเหตุของปัญหาและได้รับการบำบัดในระดับจิตใต้สำนึกที่ถูกต้องแล้วอาการเจ็บป่วยไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางใจหรือความสัมพันธ์ที่กำลังปรากฏในปัจจุบันจะลดลงไป
ผลการวิจัยที่น่าสนใจพบว่า กรณีศึกษามีการพัฒนาการจิตสำนึกในเรื่องคุณธรรมสูงขึ้นอย่างชัดเจน โดยการวิเคราะห์พบว่า “จิตวิญญาณในพระศาสนา” ที่ปรากฏในระหว่างการบำบัดมีคะแนนดีขึ้น และพบว่ากรณีศึกษามีพัฒนาการ “การพัฒนาของสภาวะคุณธรรม (Inner Growth)” ดีขึ้นเช่นกัน
เผย...ความเชื่อเรื่องกรรม เหนี่ยวนำสู่ชีวิตที่ดี
ความเชื่อเรื่องกรรม หมายถึงความเชื่อที่ว่า กรรมมีจริง และกรรมที่บุคคลทำ ไม่ว่าดีหรือชั่ว ย่อมให้ผลเสมอ นอกจากนี้เชื่อว่าผลที่เราได้รับ เป็นผลแห่งการกระทำของเราเอง ซึ่งอาจจะเป็นกรรมที่ทำในปัจจุบันชาติหรืออดีตชาติ
ผู้วิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลผลการทดลองและจัดสรุปผลการวิเคราะห์เป็นประเภทของปัญหาจากกรณีศึกษาทั้ง ๒๐ คนที่เข้ามารับการบำบัดนั้นเป็นสุขภาวะทางจิต สุขภาพกายและสัมพันธภาพ โดยจำแนกเป็นความถี่ จากการกรอกแบบสอบถามและการเข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งสุดท้าย กรณีศึกษาทั้ง ๒๐ คนมีความเชื่อว่าผลของกรรมในอดีตที่ตนเห็นในจิตใต้สำนึกมีความสอดคล้องกับประเภทของทุกข์ที่ตนกำลังได้รับอยู่
ผลการทดลองพบว่ากรณีศึกษาทั้ง ๒๐ คน ระบุอดีตกรรมเกี่ยวกับการฆ่าจะมีปัญหาในปัจุบันทั้งสุขภาวะทางจิต สุขภาพกายและความสัมพันธ์ในขณะที่อดีตกรรมเกี่ยวกับการกามจะมีปัญหาในปัจุบันทั้งสุขภาวะทางจิตและความสัมพันธ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวตนเองหรือเป็นคนไม่มีคู่ ส่วนอดีตกรรมทางวาจาจะส่งผลในปัจจุบันด้านสุขภาวะทางจิตและความสัมพันธ์ทั้งในครอบครัวและที่ทำงาน อดีตกรรมจากมิจฉาทิฐิจะส่งผลในปัจจุบันเกี่ยวกับปัญหาสุขภาวะทางจิต และความสัมพันธ์ส่วนอดีตกรรมที่เป็นกรรมเล็กกรรมน้อย จะส่งผลทั้งทางด้านสุขภาวะทางจิต สุขภาพกายและความสัมพันธ์ในระดับเพียงทำให้ตนต้องหงุดหงิด
ความเชื่อเรื่องกรรมที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับผลค่าเฉลี่ยของคะแนน “สำนึกในคุณธรรม” จากกรณีศึกษาในกลุ่มทดลองทั้ง ๒๐ คนโดยที่โครงสร้างของแบบประเมิน “สำนึกในคุณธรรม” พบว่ากรณีศึกษาทั้ง ๒๐ คน
ปัจจุบันไม่ดี เพราะมีเหตุจากอดีตชาติ
กระบวนการ PLRT ตามแนวจิตวิทยาบูรณาการมีผลต่อพัฒนาการของคุณภาพชีวิตรวมถึงพัฒนาการความเข้าใจผลของกรรมได้หรือไม่อย่างไร สามารถอธิบายได้ด้วยบท ความสัมพันธ์ของทุกข์และประเภทของกรรมได้แก่ ๑.กรรมการฆ่า ๒. กรรมทางกาม ๓.กรรมวาจา ๔.กรรมมิจฉาทิฐิ และ ๕.พาหุกรรม (กรรมเล็กกรรมน้อยเกิดพร้อมๆ กันแยกไม่ได้) ทั้งหมดนั้น พบว่า กรณีศึกษาในกลุ่มทดลองเชื่อว่าความเจ็บป่วยปัจจุบัน เกิดจากอดีตกรรมในชาติที่แล้วซึ่งสอดคล้องกับหลักส่วนใหญ่ใน จูฬกัมมวิภังคสูตรซึ่งส่งผลมายังคุณภาพชีวิตในปัจจุบันและในขอบเขตการวิจัยนี้
คุณภาพชีวิตประกอบด้วย สุขภาพกาย สุขภาวะทางจิตและสัมพันธภาพซึ่งความการเจ็บป่วยทางกายและทางใจในจิตใต้สำนึกนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะมากจากภาวะเก็บกด (Repression) ที่ฝังแน่นในจิตใต้สำนึก ซึ่งภาวะการเก็บกดนี้เป็นหนึ่งในกลไกการปกป้องตนเอง (defense mechanism) ตามแนวคิดของ Sigmund Freud และความเจ็บป่วยนี้ก็ถูกสะสมข้ามภพชาติที่สอดคล้องกับทฤษฏีบุคลิคภาพของ จุง (คาร์ล จุง นักจิตวิทยา)
ชี้...หลักปฏิบัติตน เพื่อผลดีต่อชีวิตปัจจุบัน
การปฏิบัติตนตามแนวบุญกริยาภายในเวลา ๓๕ วัน โดยมีการติดตามการพัฒนาการทุกๆ ๗ วันจนครบ ๒๑ วันและมีการวัดผลก่อนการเริ่มพัฒนาตนตามแนวบุญกริยาวัตถุและหลังการพัฒนาตนวันที่ ๓๕ หรือเท่ากับการเข้าสภาวะจิตส่งผ่าน (Trance) บำบัด ๖ ชั่วโมงคือ ๒ ชั่วโมง ๓ ครั้งและการเข้าสมาธิ ๒๑ ชั่วโมงคือ ๑ ชั่วโมงเป็นเวลา ๒๑ วันหรือเข้าสภาวะจิตส่งผ่าน (Trance) บำบัด ๖ ชั่วโมงและการเข้าสมาธิ ๓๕ ชั่วโมงในระยะเวลา ๓๕ วัน พบว่ากรณีศึกษาทุกคนมีความพึงพอใจและการระบุในแบบสอบถามเป็นค่าคะแนนความพึงพอใจในระดับดี
อย่างไรก็ตาม สมการทางสถิติบ่งชี้ว่าการปฏิบัติตนแบบบุญกริยาวัตถุอย่างเดียวประกอบการการติดตามผลทุกๆ ๗ วันตลอดเวลา ๒๑ วันและติดตามผลอีกครั้ง
ในวันที่ ๓๕ ของการปฏิบัติไม่มีผลที่เป็นนัยสำคัญทั้งในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม “กำหนดสติ ๑๕ นาที ก่อนนอนและหลังตื่นนอน” และ “ทบทวนเหตุการณ์ในสภาวะจิตส่งผ่าน (Trance) และผลในปัจจุบัน“ รวมถึง “แผ่เมตตาหลังอาหารแบบเจาะจงคนและเหตุการณ์” มีความสอดคล้องกับกำลังสมาธิซึ่งมีแนวการปฏิบัติบางส่วนคาบเกี่ยวกับกับการทำกรรมฐานเพื่อลดทอนผลของกรรมของสายพระนักปฏิบัติ เช่น พระครูปลัดวีระนนท์ วีรนนฺโท เจ้าอาวาสวัดป่าเจริญราช กล่าวว่า การปฏิบัติกรรมฐานนั้นก็สนับสนุนว่าสามารถรู้กรรมตัวเองได้
“การระลึกชาติได้ คือระลึกอดีตว่า ตนเองได้เคยทำอะไรไว้บ้าง ทำในสิ่งที่ดีสิ่งไม่ดีกับใคร นั้นคือระลึกชาติเล็กๆน้อย ระลึกข้ามวัน ข้ามเดือน ข้ามปี หรือระลึกข้ามชาติ ด้วยการเจริญสติ การเจริญ สติปัฎฐาน 4 เป็นแต่สิ่งที่เตือนใจว่า ไม่กระทำนั้นแหละคือไม่ติดกรรมตัวนั้น เมื่อเราไม่ติดกรรมตัวนั้นเราก็จะสร้างกุศลกรรมด้วยดีขึ้นสืบต่อไป กรรมตัวนั้นจะไม่เป็นอันตราย หรือเราก็ไม่ไปติดบ่วงของกรรม เมื่อเห็นแล้วเราก็ละกรรมเหล่านั้นเสีย มากระทำกรรมดีให้หลุดพ้นไป นั้นก็เป็นผลดีเช่นเดียวกัน”.