xs
xsm
sm
md
lg

วิธี “ลับคมสมอง” ให้ทุกคนปราดเปรื่อง-คิดไว-จำแม่น / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ขยายความจากคอลัมน์ Learn & Share โดย ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล
(suwatmgr@gmail.com)
เซกชั่น Good Health & Well Being ของ ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค.2559)
__________________________________________________________

อย่าเพิ่งเชื่อถ้ามีคนบอกว่า “ยิ่งอายุมาก สมองยิ่งเสื่อม” หรือถึงขนาดกลัวเป็นโรคความจำเสื่อม โทะชิโนะริ คะโตะ นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองชาวญี่ปุ่นยืนยันผ่านหนังสือเล่มดัง “66 วิธีลับคมสมอง” ว่าแม้คนที่มีอายุมากขึ้น เซลล์สมองจะลดลง แต่ถ้ายังได้สารอาหารเพิ่ม เซลล์สมองก็จะเจริญเติบโตไปเรื่อยๆ
คนอายุ 20-49 ปีซึ่งถือเป็นช่วงวัยที่มีพัฒนาการไปสู่การมีลักษณะเด่นเฉพาะมากที่สุด และถ้าได้รับการ “ลับคมสมอง” อย่างถูกต้อง สมองจะมีการแข็งแกร่งและยืดหยุ่นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แม้อายุเกิน 30 ปีแล้ว ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะฝึกฝน

กล่าวได้ว่า เซลล์สมองจะเจริญเติบโตไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะเสียชีวิต แต่สมองจะเติบโตได้ดีเพียงใด ก็ขึ้นกับจิตสำนึกเป้าหมายของคนนั้น

บางคนรู้สึกว่าชักหลงๆ ลืมๆ บ่อยขึ้น แล้วพยายามเพิ่มความสามารถในด้านการจดจำ ด้วยการท่องจำ ก็ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง

คุณหมอคะโตะ บอกว่าวิธีที่ได้ผลก็คือ การเพิ่ม “ความสามารถด้านความคิด” เพื่อให้ฮิบโปแคมปัสกลับมาทำงานและจะฟื้นฟู “ความสามารถในการจดจำ” จึงควรเสริมสร้างความคิดให้แข็งแกร่งด้วยการพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่น

ยืนยันด้วยแนวคิดที่เรียกว่า “รหัสสมอง” จากเซลล์ประสาทของสมองมากกว่า 100,000 ล้านเซลล์ที่ทำหน้าที่เป็นกลุ่มๆ

“รหัสสมอง” เป็นการมองสมองคล้ายเป็นแผนที่แผ่นหนึ่งที่กำหนดให้แต่ละจุดของสมองให้มี “บ้านเลขที่” หรือรหัสไปรษณีย์ จำแนกชัดและจากรหัสสมองที่มี 120 ตัว ก็แบ่งได้เป็น 8 กลุ่ม ที่ครอบคลุมทั้งสมองซีกขวาและสมองซีกซ้าย



การทำงานของสมองเกิดจากการทำงานร่วมกันของรหัสสมองด้านที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน

และรหัสสมองกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อรหัสสมองด้านอื่นๆ มากที่สุด ก็คือรหัสสมองด้านความคิดและด้านอารมณ์

ตัวอย่างเช่น ขณะกำลังฟังคู่สนทนาพร้อมกับคิดอะไรไปด้วย ขณะนั้น “รหัสสมองด้านการได้ยิน” ที่เกี่ยวข้องกับการฟังก็ทำงานเชื่อมต่อกับ“รหัสสมองด้านความคิด”

ขณะที่อ่านหนังสือและใช้ความคิดไปด้วย“รหัสสมองด้านการมองเห็น” ก็จะทำงานเชื่อมต่อกับ “รหัสสมองด้านความคิด” ด้วย

ถ้ามีการฟังเพลงแล้วมีความสุข ก็เป็นการทำงานเชื่อมต่อกันระหว่าง “รหัสสมองด้านการได้ยิน” กับ “รหัสสมองด้านอารมณ์” หากมีการร้องเพลงคลอไปด้วย การขยับปากก็เป็นการทำงานเชื่อมต่อกับ “รหัสสมองด้านการเคลื่อนไหว” อีกด้วย

ดังนั้น คนที่มีรูปแบบการใช้ชีวิตและวิธีคิดต่างกันก็จะใช้รหัสสมองด้านที่ต่างกัน คุณหมอคะโตะเชื่อมั่นว่าสมองของคนเรามีศักยภาพไที่เจริญเติบโตได้จึงต้องรู้จักฝึกฝน 3 ประการสำคัญในการกระตุ้นสมอง

1.ปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน
ให้เปลี่ยนความเคยชินที่ทำจน “ติดนิสัย” เพื่อส่งแรงกระเพื่อมไปกระตุ้นรหัสสมอง โดยสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ เช่น รูปแบบการจัดการอาหารการกิน การจัดการงานยุ่งยาก หรืองานหนัก ที่ใช้รหัสสมองเดิมๆ ซ้ำ ๆ จนสมองล้า ด้วยการหาคนแบ่งเบางานหรือขอลาหยุดเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ

2.รู้จัก “นิสัยของสมอง”
นิสัยของสมองของทุกคนมี 4 อย่างได้แก่ (1) รู้สึกดีใจเมื่อได้รับคำชม (2) เมื่อระบุตัวเลขทำให้เข้าใจง่าย (3) มีกำหนดเส้นตายเวลาเสร็จเมื่อผ่านพ้นกำหนดได้สมองก็ผ่อนคลาย (4) การพักผ่อน ไม่ฝืนทำงานขณะเหนื่อยล้าหรือง่วง ถ้าได้งีบหลับแม้เวลาสั้นๆ ก็ช่วยให้สมองปลอดโปร่ง

นิสัยเฉพาะตัว ที่หมายถึงรูปแบบการคิดเรื่องความชอบและความเกลียด ซึ่งเป็นรสนิยมส่วนตัวก็มีอิทธิพลต่อสมองมาก

3.คนส่วนใหญ่มักปล่อยให้ “สิ่งที่ควรทำ” (Should) กลายเป็นสิ่งที่ต้องการจะทำ (Want) แต่ไม่ได้ทำค้างอยู่มากมาย ส่วนสิ่งที่ทำก็มักคิดว่า “จำเป็นต้องทำ ไม่ทำไม่ได้” จึงรู้สึกว่า “กำลังถูกบังคับ ให้ทำ”

ดังนั้น การลับคมสมองก็คือ การเปลี่ยนจากชุดความคิดว่า “ถูกบังคับ” ให้เป็นความคิด “ต้องการทำ” ด้วยการรับและจัดการข้อมูลที่สร้างความรู้สึก และเข้าใจ โดยไม่ถูกครอบงำ

การฝึกฝนรหัสสมองด้านความคิด

1) สร้างเป้าหมายใน 1 วัน ด้วยคำไม่เกิน 10 คำ

2) มองหาข้อดี (เห็นคุณค่า) ของคนรอบข้าง (คนในบ้านหรือที่ทำงาน) ให้ได้ 3 ข้อ

3) สร้างวันที่จะไม่ทำงานล่วงเวลา เพื่อสร้างเงื่อนไขในการสะสางงานให้เสร็จ

4) หาข้อโต้แย้งกับความคิดตนเอง ทำให้เห็นมุมต่างเกิดพลังโน้มน้าวใจ วิสัยทัศน์กว้างขึ้น

5) ทบทวนเหตุการณ์ต่างๆ 3 อย่างก่อนนอน เช่นในวันนั้น....ที่สนุกที่สุด ยากที่สุด ทำแล้วไม่สำเร็จ ระบุสาเหตุและทางแก้หรือทางออก

การฝึกฝนรหัสสมองด้านอารมณ์

(1)บอกตัวเองก่อนออกจากบ้านว่า “ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็จะไม่โกรธ”
(2) นึกถึง “10 เรื่องดีๆ สนุกๆ ในอดีต”
(3) งดสิ่งที่เสพติดให้ได้ใน 10 วัน

การฝึกรหัสสมองด้านการสื่อสาร

(1) ลองคิดและทำอาหารเมนูใหม่ๆ
(2) ร่วมแข่งขันกีฬาประเภททีม
(3) ฟังเขาพูดและเว้นระยะเวลาไว้ 3 วินาที
(4) เขียนเป้าหมายของตัวเองส่งให้พ่อแม่อ่าน

การฝึกฝนรหัสสมองด้านความเข้าใจ

(1) อ่านหนังสือที่เคยอ่าน 10 ปีก่อนอีกครั้ง
(2) จัดระเบียบห้องเสียใหม่
(3) จัดกระเป๋าให้เสร็จภายใน 10 นาที

การฝึกรหัสสมองด้านการเคลื่อนไหว

(1)แปรงฟันด้วยมือไม่ถนัด
(2)ร้องคาราโอเกะไป ออกท่าทางไป
(3)ทำอาหารไป ร้องเพลงไป
(4)ขึ้นลงบันไดแบบเว้น 1 ขั้น

การฝึกรหัสสมองด้านการได้ยิน

(1)สังเกตและตั้งใจฟังเสียงธรรมชาติ
(2)ฟังการสนทนาของโต๊ะที่อยู่ไกลออกไป
(3)ฟังเสียงใดเสียงหนึ่งขณะฟังเพลง

การฝึกรหัสสมองด้านการมองเห็น

(1) มองหาป้ายที่มีเลข 5 ตามข้างทาง
(2)วาดภาพใบหน้าตัวเอง

การฝึกรหัสสมองด้านการจดจำ

(1) พยายามหา “จุดร่วม” ของคนรู้จักซึ่งทั้งคู่ไม่เกี่ยวข้องกัน
(2)ลองคิดศัพท์ใหม่
(3)ฟังเพลงภาษาอังกฤษแล้วลองร้องตาม
(4)จดจำ สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวานให้ได้ 3 เรื่อง

นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่เลือกมาจาก 66 วิธีในหนังสือนี้ ซึ่งสามารถทำได้ทันที ไม่ต้องรอให้สมองเสื่อม โดยการสร้างเสริมให้ยั่งยืนได้
** ข้อมูลจากหนังสือ “วิธีลับคมสมอง” โดย Toshimori Kato จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ อินสปายส์ ในเครือนามมีบุ๊คส์**


ข้อคิด-คำคม



“สิ่งที่ถูกต้องคือถูกต้อง

แม้ไม่มีใครทำสิ่งนั้น
สิ่งที่ผิดคือผิด
แม้ทุกคนทำสิ่งนั้น”

ศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย
ปรมาจารย์การศึกษาบริหารเชิงกลยุทธ์
ผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการพัฒนาตลาดทุนไทย

กำลังโหลดความคิดเห็น