xs
xsm
sm
md
lg

แรงบันดาลใจทำดี มีสุข สานต่อวิถี “ป๋วย อึ๊งภากรณ์” / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขยายความจากคอลัมน์ Learn & Share โดย ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล
(suwatmgr@gmail.com)
เซกชั่น Good Health & Well Being ของ ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19-20 มีนาคม 2559)
__________________________________________________________
ในวันที่ 9 มีนาคม 2559 เป็นวันที่ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีชาตกาลครบ 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งท่านเคยเป็นอธิการบดี และธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งท่านเคยเป็นผู้ว่าการ ได้จัดงานเชิงวิชาการ เป็นการรำลึกเชิดชูเกียรติ พร้อมกับเป็นการฉลองในโอกาสที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาต หรือ UNESCO ได้ยกย่องให้เป็น “บุคคลสำคัญของโลก”

ในงานเชิดชูเกียรติและรำลึกถึงคุณูปการที่อาจารย์ป๋วยมีต่อการพัฒนาด้านต่างๆ ของประเทศไทย ทั้งที่ธรรมศาสตร์และธนาคารชาติ ผมเชื่อว่าผู้ที่ไปร่วมงานได้ชมนิทรรศการและรับฟังการเสวนาจากผู้ที่ได้รับประสบการณ์ร่วมทำงาน หรือเป็นลูกศิษย์ท่านเล่าถึงปณิธานและวิถีปฏิบัติที่มีเมตตา มีคุณธรรมก็จะได้รับพลังความดี มีความคิดสร้างสรรค์เพื่อสังคมเพิ่มขึ้น

ดร.ป๋วย แม้เป็นนักเศรษฐศาสตร์โดยพื้นฐาน แต่ก็มีความสนใจเรื่องการศึกษา และการพัฒนาชนบท ด้วยจุดยืนที่ต้องการเห็นสังคมไทย มีการพัฒนา และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่มีความเหลื่อมล้ำ คือมีเสรีภาพและความเป็นธรรม

ข้อความสดุดีที่คณะกรรมการบริหารสรุปเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ของ UNESCO จึงระบุว่า

“ดร.ป๋วยได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นบิดาแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกทั้งเป็นนักการศึกษาและข้าราชการที่โดดเด่นและมีจริยธรรมดีอย่างหาที่ติมิได้ จนเป็นที่ยอมรับว่ามีอิทธิพลอย่างมากในการพัฒนาประเทศชาติ ท่านเป็นแกนกลางในการวางรูปแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย และในการปรับปรุงระบบการศึกษาขั้นสูงของประเทศ ใช้ความรู้ ความสามารถของท่านในการทำงานทุกชิ้นให้เสร็จได้อย่างถูกทำนองคลองธรรม เป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชมเป็นพิเศษ

ลักษณะการทำงานเช่นนี้ ส่งผลต่อพฤติกรรมของอนุชนรุ่นหลังให้เลิกยึดถือแบบอย่างของผู้ที่ได้ความสำเร็จมาจากการโกงกิน ที่ทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของตนเองและให้กล้ายึดถือความถูกต้องโดยไม่ยอมจำนนต่ออำนาจ

วัตรปฏิบัติของดร.ป๋วย เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางออกไปในระดับภูมิภาค อันเห็นได้จากการที่ท่านได้รับรางวัลแมกไซไซ ในสาขาการบริหารภาครัฐ รางวัลที่เป็นเสมือนรางวัลโนเบลของเอเชีย ความมุ่งมั่นในการปฏิบัติงานของดร.ป๋วย เป็นเครื่องยืนยันว่า บุคคลเพียงผู้เดียวเท่านั้น ก็สามารถนำความเจริญก้าวหน้ามาสู่ประเทศของตนได้อย่างใหญ่หลวง”

คุณธรรม 3 ประการ

เมื่อศึกษาข้อมูลจาก บันทึกปาฐกถาและงานเขียนของท่านเกี่ยวกับอุดมคติ ประจำใจยืนยันว่า คนเรา จะเป็นคนที่สมบูรณ์ได้ ต้องระลึกเสมอถึงคุณธรรม 3 ข้อคือ
ความจริง ความงาม และความดี

ความจริง หมายถึงสัจธรรม และหลักวิชา ที่มีคุณประโยชน์
ความงาม หมายถึงสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีวัฒนธรรม คือมีความสุนทรียะ ทั้งวรรณศิลป์ ศิลปกรรม นาฏศิลป์ และการดนตรี รวมถึงการกีฬาต่างๆ
ความดี หมายถึง มีความซื่อสัตย์สุจริต การไม่เบียดเบียนประทุษร้ายต่อกัน

ด้วยคุณลักษณะอันโดดเด่นเหล่านี้ ในปัจจุบันก็คือ หลักธรรมาภิบาล หรือ Good Governance ซึ่งผมเห็นว่าเป็นจุดยืนสำคัญในการดำเนินชีวิต และการทำงานของท่านที่มีความซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นความถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ รวมทั้งต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

มนุษยธรรมและความถูกต้อง

จากข้อมูลประวัติของ ดร.ป๋วย ท่านน่าจะได้รับ อิทธิพลทางความคิด จากคุณแม่ ที่สอน ให้มีความซื่อสัตย์สุจริต รักความถูกต้อง ไม่ให้เอาเปรียบใคร แม่สอนให้ลูกมีความเมตตากรุณา โดยปฏิบัติให้เห็นเป็นตัวอย่าง ทำให้ท่านมีความคิดและการปฏิบัติ ที่ยึดหลักมนุษยธรรมและความเป็นธรรม เป็นที่ตั้ง ดร.ป๋วยมีความเห็นว่า “คนรวยควรเสียภาษีในอัตราสูงกว่าคนจนจึงจะยุติธรรม คนจนจริงๆ นอกจากจะไม่ควรเสียภาษีแล้ว รัฐบาลควรจะจ่ายเงินอุดหนุนให้ด้วย เพราะมนุษยธรรมเป็นพี่น้องฝาแฝดกับความยุติธรรม”
ภาพบนเวทีสัมมนา ณ ห้องประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (บุคคลจากซ้ายไปขวา) ดร.สกนธ์  วรัญญวัฒน คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ., ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี, นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์, ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี
__________________

ศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ได้เคยแสดงปาฐกถา ป๋วย อึ๋งภากรณ์ ครั้งที่ 10 เมื่อพ.ศ. 2550 เรื่อง “จารีตรัฐธรรมนูญไทยกับสันติประชาธรรม”

“สันติประชาธรรม” เป็นระบอบการเมืองการปกครอง ที่อาจารย์ป่วยต้องการเห็นในสังคมไทย จึงจงใจ ใช้คำว่า “ประชาธรรม” แทน “ประชาธิปไตย” เพราะระบอบประชาธิปไตยที่ขาดหลักธรรม ย่อมยากที่จะอำนวยให้เกิดสันติสุขในสังคมได้

ท่านจึงเห็นความสำคัญ ในการสร้างสันติทำให้เกิดขึ้น อย่างยั่งยืนในสังคมไทย และยังต้องส่งเสริมให้มีธรรมาภิบาล (Good Governance) ในสังคมทุกระดับ

ศาสตราจารย์รังสรรค์ ระบุว่า ฝรั่งเริ่มนำหลักธรรมาภิบาล เข้าสู่นโยบายของฉันทมติ วอชิงตัน หลังทศวรรษ 2520 แต่อาจารย์ป๋วยกล่าวถึงธรรมาภิบาล ตั้งแต่เริ่มรับราชการในทศวรรษ 2490 และปฏิบัติเป็นเยี่ยงอย่างแก่ข้าราชการตลอดมา

หลักธรรมาภิบาล 3 ประการแรกก็คือ ความโปร่งใส (Transparency) การมีส่วนร่วม (Participation) และ ความรับผิดชอบ (Accountability)

อีก 2 ประการ คือ ความซื่อสัตย์ สุจริต (Honesty) และการไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflicts of Interest)

ดร.ป๋วยเรียกร้องให้ข้าราชการและ ผู้กำหนดนโยบายหลีกเลี่ยงปัญหานี้ โดยกล่าวว่า

...เจ้าหน้าที่ที่มีผลประโยชน์ส่วนตัว ในหน้าที่การงานของตนขัดกับประโยชน์ส่วนรวม ถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติผิดหลักธรรมะในด้านเศรษฐกิจ อาทิ ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล บุคคลนั้นจะต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนในขอบเขตแห่งนโยบายรัฐ ถ้าในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ผู้นั้นไปมีตำแหน่ง หน้าที่และรับผิดชอบส่วนงานของเอกชน ไม่ว่าจะเป็นแห่งเดียวหรือหลายแห่งก็ตาม อาจเป็นประธานกรรมการ กรรมการผู้จัดการ ผู้ถือหุ้น ไม่ว่าจะโดยตรง หรือโดยอ้อม แม้จะสุจริตเพียงใด บุคคลภายนอกย่อมจะระแวงสงสัย และตั้งข้อรังเกียจ

ฉะนั้น ทางที่สมควรคือ เจ้าหน้าที่ผู้นั้นควรจะต้องลาออก จากหน้าที่หรือตำแหน่งต่างๆเสีย ทำงานแต่เพียงประเภทเดียว โดยไม่ขัดกับประโยชน์ส่วนรวม ถ้าเป็นไปได้ ถือว่าบุคคลนั้น ได้ทำถูกหลักธรรมะทางเศรษฐกิจ...”

แบบอย่างความซื่อสัตย์

ดร.ป๋วย ได้สร้างแบบอย่างอันดีงามไว้แก่สังคมไทยคืออุดมการณ์รับใช้ประเทศชาติ และทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดหลักความเป็นธรรมเป็นสำคัญ

ท่านไม่เพียงแต่การพูด การเขียน แต่ด้วยการกระทำอย่างเคร่งครัดตลอดชีวิ โดยฉพาะอย่างยิ่ง

ความมีจริยธรรมในฐานะผู้บริหารธนาคารกลาง ที่ซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา ยึดกฎกติกาโดยไม่เลือกปฏิบัติจึงได้สั่งสมเกียรติภูมิความน่าเชื่อถือแก่ธนาคารแห่งประเทศไทย จนเป็นมาตรฐานที่อ้างอิงตลอดมา

เมื่อครั้ง ดร.ป๋วยตอบรับไปเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะที่ยังเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย ตามระเบียบสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ระบุว่า หากทำงาน 2 แห่ง จะได้รับเงินเดือนอีกแห่งหนึ่ง เพียงครึ่งเดียว ปรากฏว่า ดร.ป๋วยเลือกที่จะรับเงินเดือนคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์เต็มอัตรา (8,000 บาท) และรับเงินเดือนผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยครึ่งอัตรา (25,000 บาท) แทนที่จะเลือกเงินเดือนธนาคารแห่งประเทศไทยเต็มอัตรา (50,000 บาท) แบบที่คนทั่วไปคิด ด้วยเหตุผลว่าท่านให้เวลาและสมองที่ธรรมศาสตร์มากกว่า

ห่วงใยชาวชนบท

ด้วยแนวคิดว่า การพัฒนาชนบท และการพัฒนาคุณภาพคน เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ ดร.ป๋วยจึงชวนผู้มีความปรารถนาดีต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชนบท เช่น นักวิชาการ นักการศึกษา นักธุรกิจ และ เชื้อพระวงศ์บางท่าน ร่วมกันก่อตั้ง มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งนับเป็นมรดกทางปัญญาชิ้นสำคัญของ ดร.ป๋วย

ข้อเขียนของดร. ป๋วย ที่ชื่อว่า “คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ได้สะท้อนให้เห็นความคิดเรื่องอาทรต่อประชาชน ตั้งแต่ระดับพื้นฐานที่เป็นชาวไร่ชาวนาและกรรมกร โดยลำดับความต้องการของร่างกาย ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของแม่ จนเจริญวัยเริ่มเข้าโรงเรียน และเติบโตถึงขั้นทำงานการประกอบอาชีพได้ จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

หน้าที่ของรัฐที่มีความรับผิดชอบ

แนวคิดของดร.ป๋วย ในบทความดังกล่าวย้ำเตือนให้เห็นหน้าที่ของรัฐที่สมควรพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน ให้ทุกคนมีระดับคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานที่ดีพอ

“เมื่อจะตาย ก็ขอให้อย่าตายอย่างโง่ ยังบ้าๆ คือตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามกลางเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ”

สิ่งที่ ดร.ป๋วยห่วงใยข้างต้นเป็นเรื่องที่ทุกรัฐบาล ควรมีนโยบายและเป้าหมายสร้างคุณภาพชีวิตแก่ประชาชนทุกระดับชั้น ทุกวันนี้เราก็ยังมีปัญหาทั้งสิ่งแวดล้อเป็นพิษ และการเมืองเป็นพิษ

คุณค่าที่เป็นแบบอย่าง

บทบาทของดร.ป๋วย ที่ได้สร้างคุณประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติมีมากมาย วิถีปฏิบัติของท่านก็เป็นแบบอย่างของนักบริหารที่ดี ดังที่อาจารย์รังสรรค์ได้สรุปไว้ว่า
ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์
•บุคคลที่ซื่อสัตย์ พอที่จะเรียกร้องให้ผู้อื่นซื่อสัตย์ตามได้
•ข้าราชการ ตัวอย่างที่กล้าคิดและกล้ายืนหยัดเพื่อความถูกต้อง
•ผู้ใหญ่ที่โอบอ้อมอารีแก่ผู้น้อยและผู้ยากไร้
•นักวิชาการที่เป็นมิ่งขวัญของนักวิชาการทุกคน
•นักเศรษฐศาสตร์ที่ต้องการให้สังคมเป็นธรรมมากขึ้น
•ผู้เลื่อมใสใน ระบบประชาธิปไตย ด้วยวิญญาณและการกระทำ
•ผู้ใฝ่สันติที่สอนให้คนต่อสู้เพื่อเสรีภาพ และสังคมที่เป็นธรรมด้วยสันติวิธี
•คนไทยที่รักเมืองไทย และอุทิศตัวเพื่อรับใช้ชาติตลอดชีวิต ผู้เสียสละ ที่ทำงานเพื่อส่วนรวม โดยไม่คิดถึงตนเอง
•คนดีที่ทำดีไว้มากมายจนเป็นที่ศรัทธาของทุกวงการ
•มนุษย์ซึ่งปราศจากโลภะ โมหะ และไม่เคยแสดงออกซึ่งโทสะ

มายกย่องด้วย “ปฏิบัติบูชา”

น่าจะดีมากๆ ต่อสังคมไทย หากทุกภาคส่วนร่วมกันสานต่อปณิธานและอุดมการณ์ของท่านให้เกิดผลลัพธ์ ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยหลักธรรมาภิบาล ตามที่อาจารย์ป๋วยได้ริเริ่ม และทำจริงเป็นตัวอย่างไว้มากมายให้พัฒนาต่อไป ก็เท่ากับว่าวิถีคุณธรรม ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จะยั่งยืนเป็นคุณลักษณะที่ปฏิรูปอย่างแท้จริง









“มองไปข้างหน้า แม้สังคมไทยอาจจะหาปูชนียบุคคลที่มีมาตรฐานด้านคุณธรรมและจริยธรรม ความสามารถและความมุ่งมั่นที่จะทำให้เศรษฐกิจและสังคมไทยดีขึ้นแบบอาจารย์ป๋วยได้ยากขึ้น แต่ผมเชื่อมั่นว่า ถ้าคนไทยรุ่นหลังได้มีโอกาสเรียนรู้และนำเอาหลักคิด หลักการใช้ชีวิตของอาจารย์ป๋วยมาถือปฏิบัติแล้ว เราจะเกิดแรงบันดาลใจและห็นแนวทางที่จะช่วยกันทำให้สังคมไทยก้าวไปสู่สังคมอันพึงปรารถนาได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน”
ดร.วิรไท สันติประภพ
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
จากปัจฉิมกถาหัวข้อ “อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในสายตาคนรุ่นหลัง
ในโอกาสครบรอบ 100 ปีชาตกาลศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์


กำลังโหลดความคิดเห็น