xs
xsm
sm
md
lg

สู่ 100 ปี ชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



วันที่ 9 มีนาคม 2559 เป็นวันคล้ายวันเกิดปีที่ 100 ของ อาจารย์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ปลายปีที่แล้ว องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ประกาศยกย่องบุคคลสำคัญของไทย 2 ราย ให้เป็น “บุคคลสำคัญของโลก” คือ

1.ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านการศึกษา สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ในโอกาสฉลองครบรอบ 100 ปี ชาตกาล ในวันที่ 9 มีนาคม 2559

2. เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านการศึกษา สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ครบรอบ 100 ปี การอสัญกรรม ในปี 2560

การจัดงานเพื่อรำลึกถึง และเผยแพร่ผลงาน แนวคิดของ อาจารย์ป๋วย ในวาระ 100 ปีชาตกาล ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว มีทั้งการปาฐกถา สัมมนา ทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัด การแสดงละครเพลง การจัดทำสารคดี การออกแสตมป์คนดีศรีแผ่นดิน ฯลฯ

งาน "สู่ 100 ปี ชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์” ในวันพุธที่ 9 มีนาคม 2559 นี้ ที่มหาวิทยาลัยธรรมสาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นกิจกรรมปิดท้าย ในวันเกิดครบรอบ 100 ปี และเป็นการเฉลิมฉลอง ที่ อาจารย์ป๋ว ยได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ซึ่งจะมีพิธีเปิดอนุสาวรีย์ อาจารย์ป๋วย ที่คณะเศรษฐศาสตร์ ในตอนเช้า และหลังจากนั้นจะมีการปาฐกถา เสวนา อภิปราย ตลอดทั้งวันที่หอประชุมศรีบูรพา

ตอนหนึ่งของบทความเรื่อง “ อาจารย์ป๋วย กับความหมายในยุคของเรา”เขียนโดย พระไพศาล วิสาโล ในหนังสือ “ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประสบการณ์ชีวิต และข้อคิดสำหรับคนหนุ่มสาว” จัดพิมพ์ โดยมูลนิธิ โกมล คีมทอง เมื่อ พ.ศ.2538 กล่าวถึงอาจารย์ป๋วยว่า

ยุคโลกานุวัตรเช่นปัจจุบัน บุคคลอย่างอาจารย์ป๋วยมีความหมายอย่างไรบ้างสำหรับเรา ?

เห็นได้ชัดเจนว่ายุคสมัยของอาจารย์ป๋วยนั้นต่างจากยุคสมัยของเรา อาจารย์ป๋วยเกิดและเติบโตมาในยุคที่ทุ่งนาและป่าเขามีอยู่เต็มประเทศ รายได้ของประเทศมาจากการขายข้าว และตัดไม้ส่งนอก จัดได้ว่าเป็นประเทศ “ล้าหลัง” เศรษฐกิจไม่มีระบบระเบียบ และปราศจากเสถียรภาพจนวางแผนได้ยาก ส่วนระบอบการเมืองก็ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของทหาร ประชาธิปไตยเป็นไปอย่างลุ่ม ๆ ดอน ๆ

ในยุคเช่นนี้อุดมคติของคนทั่วไปคือการเป็นข้าราชการ อาจารย์ป๋วยเป็นผู้หนึ่งที่ทุ่มเทชีวิตให้แก่ระบบราชการด้วยเชื่อมั่นว่าเป็นการรับใช้ประเทศชาติที่ดีที่สุด

ปัจจุบันเมืองไทยกำลังมุ่งหน้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม ระบบเศรษฐกิจทั้งระบบเปรียบประดุจเครื่องจักรอันทรงพลังที่กำลังขับเคลื่อนประเทศไปอย่างรวดเร็ว ไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ผู้ประกอบการและนักธุรกิจกลายเป็นกลุ่มคนสำคัญของประเทศที่เข้ามาแทนที่ข้าราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางการเมือง คนที่มีสติปัญญาความสามารถพากันมุ่งหน้าสู่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ทิ้งระบบราชการไว้เบื้องหลัง

อาจารย์ป๋วยเป็นตัวแทนของข้าราชการที่ซื่อสัตย์และทรงความสามารถอย่างยิ่งยวด หากท่านมีคุณสมบัติเพียงเท่านี้ ชีวิตของท่านอาจมีความหมายต่อเยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่มากนัก ยกเว้นพวกที่ต้องการรับราชการ และดำรงตนเป็นเทคโนแครต แต่แก่นแท้ของอาจารย์ป๋วยมีมากไปกว่านั้น

ความเป็นผู้รักสัจจะในทุกแง่มุมของคำ ๆ นี้ต่างหากที่ทำให้บุคคลอย่างอาจารย์ป๋วยมีคุณค่าที่เป็นสากล อันคนทุกยุคทุกสมัยสามารถเรียนรู้ และซึมซับรับเอาแรงบันดาลใจมาหล่อเลี้ยงชีวิตได้อย่างไม่มีวันเหือดแห้งไม่ว่าเราจะเป็นนักเรียนนักศึกษา นักธุรกิจ ข้าราชการ นักการเมือง หรือแม้แต่ศิลปิน ชีวิตของเราล้วนใฝ่หาความจริง และต้องการเข้าถึงความจริงที่พาเราเข้าถึงความงามและความดีที่แท้ได้ด้วย เพราะนั่นคือบ่อเกิดแห่งความสุขอันประณีตที่ทุกชีวิตปรารถนา

ในยุคที่กระแสเงินตราแพร่สะพัด วัฒนธรรมวัตถุนิยมครอบงำจนชีวิตจิตใจไขว่คว้าโหยหาแต่ทรัพย์สมบัติและความสนุกสนานเพลิดเพลิน มนุษย์ถูกลดค่าเป็นเพียงก้อนวัตถุที่แส่ส่ายหาสิ่งบำรุงบำเรอชั่วครู่ชั่วยาม ในยุคเช่นนี้แหละที่ความรักสัจจะและใฝ่แสวงหาความจริงยิ่งกลายเป็นสิ่งจำเป็น เพราะสามารถฟื้นฟูจิตวิญญาณและความเป็นมนุษย์ให้กลับมีความหมายขึ้นใหม่ในตัวเรา

ชีวิตต้องการความหมาย ชีวิตและงานของอาจารย์ป๋วยสามารถให้ความหมายแก่เราได้ เพราะเป็นประจักษ์พยานแห่งการใฝ่ความจริงที่มีความสุขทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นเป็นรางวัล

ถ้อยคำของราล์ฟ วัลโด เอเมอสัน ปรัชญาเมธีชาวอเมริกัน ซึ่งอาจารย์ป๋วยได้แปลไว้อย่างไพเราะต่อไปนี้ ไม่เพียงแต่จะน้อมใจให้รำลึกถึงอุดมคติของอาจารย์ป๋วยเท่านั้น หากยังสะท้อนถึงความหมายของชีวิตได้อย่างงดงามและเป็นสากล แม้จะล่วงเลยมากว่าหนึ่งศตวรรษแล้วก็ตาม

“เมื่อเราได้เห็นอยู่ตำตาแล้วว่า กาลสมัยของเรานี้มีบาปอยู่หนาแน่น และบ้านเมืองของเรานี้มีความเท็จ ความชั่วดาษดื่นอยู่ ก็ขอให้เราทั้งหลายจงเข้าสู่ความร่มเย็นแห่งวิชาและแสวงหาความรู้ซึ่งใคร ๆ เขาได้ละเลยเสียแล้ว ถึงแสงแห่งวิชานั้นจะริบหรี่ ก็จงพอใจเถิด เพราะแม้จะเป็นสิ่งเล็กน้อย ก็ยังเป็นของ ๆ เราจริง ๆ จงมุ่งหน้าค้นแล้วค้นอีกต่อไป อย่าได้ท้อถอย อย่าได้ทะนงจนถึงกับวางมือจากการค้นคว้าหาความรู้ อย่าเชื่อถือในความคิดของท่านจนงมงาย และก็อย่าหลงลืมผู้อื่นโดยไม่พิจารณาถึงเหตุผล ท่านมีสิทธิที่จะเดินทางข้ามทะเลทรายไปสู่วิชา ถึงจะเป็นทะเลทรายทุรกันดาร ก็มีดวงดาราส่องแสงอยู่แพรวพราว และเหตุไฉนเล่า ท่านจึงจะสละสิทธิข้อนี้ของท่านเสีย ไปชิงสุกก่อนห่าม โดยเห็นแก่ความสำราญ ที่ดินสัก ๑ แปลง บ้านสัก ๑ หลัง และยุ้งข้าวสัก ๑ ยุ้ง วิชาเองก็มีหลังคา มีฟูก ที่นอน มีอาหารไว้ต้อนรับท่าน

จงบำเพ็ญตนให้เป็นผู้จำเป็นแก่โลก มนุษยชาติก็จะนำอาหารมาสู่ท่านเอง แม้จะให้ไม่ถึงยุ้งถึงฉาง แต่ก็เป็นบำเหน็จชนิดที่ไม่ลบล้างบุญคุณของท่านที่ทำไว้แก่มนุษยชาติ ไม่ลบล้างความรักใคร่นิยมของคนทั้งหลาย และไม่ลบล้างสิทธิของท่านที่มีอยู่ต่อศิลปะ ต่อธรรมชาติ และต่อความหวังของมนุษย์” *

* จากหนังสือ อุดมคติ ๒๕๑๗


กำลังโหลดความคิดเห็น