การนอนหลับอย่างเพียงพอทั้งระยะเวลาและคุณภาพจะเป็นปัจจัยส่งเสริมสุขภาพที่ดี การนอนหลับจะเกิดขึ้นได้ดีเมื่อร่างกายและจิตใจอยู่ในสภาพผ่อนคลายดังนั้น เพื่อการนอนหลับอย่างมีคุณภาพของ ส.ว. หรือ "ผู้สูงวัย"ควรปฏิบัติ ดังนี้
1.การจัดการด้านร่างกาย
• ผู้สูงอายุควรนอนหลับและตื่นให้ตรงเวลา หลีกเลี่ยงการงีบหลับในช่วงเวลากลางวัน หรือช่วงเวลาใกล้นอน
• ผู้สูงอายุควรรับประทานยาเพื่อระงับหรือบรรเทาอาการ เช่น อาการปวด อาการหายใจลำบาก ไอ เป็นต้น ซึ่งการรับประทานยาแก้ปวดก่อนนอนประมาณ 30 นาที จะทำให้ผู้ที่มีอาการปวดนอนหลับได้
• ผู้สูงอายุสามารถนวดตามร่างกาย เพื่อลดอาการปวด และจะทำให้เกิดการผ่อนคลายนอนหลับได้
• ผู้สูงอายุควรถ่ายปัสสาวะก่อนเข้านอน หรือจัดที่นอนให้อยู่ใกล้ห้องน้ำหรือเตรียมกระโถน สำหรับปัสสาวะไว้ในห้องนอน
• ผู้สูงอายุควรนอนในท่าที่เหมาะสม มีการเปลี่ยนท่านอนในท่าที่สุขสบายขึ้น เช่น เพิ่มหมอดหนุนศีรษะเพื่อให้หายใจสะดวกขึ้น
• ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน ตอนเย็นและก่อนนอน
• ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ก่อนนอน
• ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารจำนวนมาก หรืออาหารมื้อใหญ่ก่อนนอน
• ผู้สูงอายุควรดื่มนมอุ่นๆ ก่อนเข้านอน เพราะนมมีกรดอะมิโนซึ่งเป็นยานอนหลับทางธรรมชาติ
2.การจัดการด้านจิตใจและอารมณ์
• ผู้สูงอายุควรมีกิจกรรมผ่อนคลายโดย การนวดตามร่างกาย เพราะพบว่าการนวดไทยประยุกต์สามารถลดอาการปวดศีรษะจากความเครียดได้
• ผู้สูงอายุควรสวดมนต์ ทำสมาธิ อ่านหนังสือเพื่อผ่อนคลายความเครียดก่อนนอน
• ผู้สูงอายุควรฟังเพลงหรือเทปธรรมะก่อนนอน
• ผู้สูงอายุควรใช้เทคนิคการผ่อนคลาย เช่น การฝึกคลายกล้ามเนื้อ การใช้จิตนาการ การฝึกการหายใจ
• ผู้สูงอายุควรใช้ยาเพื่อช่วยในการนอนหลับตามแผนการรักษาของแพทย์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ยามีผลต่อการคงสภาวะอารมณ์ที่เป็นปกติ
3.การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม
• ผู้สูงอายุควรจัดห้องนอนและเครื่องนอนให้สะอาด อากาศถ่ายเทได้สะดวก ปรับอุณหภูมิห้องไม่ให้ร้อนหรือหนาวจนเกินไป
• ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงจากเสียงรบกวนต่างๆ หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ควรใช้ วัสดุอุดหูเพื่อลดเสียง
• ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงจากแสงสว่างที่มีระดับความเข้มของแสงมากเกินไป โดยการปิดไฟ ปิดม่าน
หากเกิดปัญหาการนอนหลับยังรบกวนและสร้างผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง ผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยจากการแพทย์ เพื่อค้นหาโรคต่างๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของการนอนไม่หลับ หากค้นพบเร็วสามารถรักษาได้เร้ว ไม่ควรปล่อยปละละเลย จนอาการรุนแรงขึ้น เพราะจะทำให้รักษายากขึ้นตามลำดับ
__________________________________
ข้อมูลจากหนังสือ : เคล็ดลับอายุยืน 100 ปี ชีวีมีสุข