xs
xsm
sm
md
lg

วัยทำงานป่วย “ลมพิษ” มากสุด คาดเครียด ไม่ดูแลสุขภาพ ระวังอาการเฉียบพลันรุนแรงถึงตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หมอศิริราชเผย “ลมพิษ” พบในวัยทำงานมากสุด คาดเครียด - ไม่มีเวลาดูแลสุขภาพ เตือนลมพิษชนิดเฉียบพลันต้องระวังอาการรุนแรง “แน่นหน้าอก - หอบหืด” อันตรายถึงชีวิต ส่วนชนิดเรื้อรังเสี่ยงเครียดสูง หากไม่พบสาเหตุ

ศ.พญ.กนกวลัย กุลทนันทน์ หัวหน้าภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โรคลมพิษเป็นโรคที่ผิวหนัง มีลักษณะเป็นผื่นหรือปื้นนูนแดง มีขนาดได้ตั้งแต่ 0.5 - 10 เซนติเมตร มีอาการคัน แต่ละผื่นมักจะคงอยู่ไม่นาน โดยมากมักไม่เกิน 24 ชั่วโมง ผื่นก็จะราบไปโดยไม่มีร่องรอย แต่ก็อาจมีผื่นใหม่ขึ้นที่อื่น ๆ ได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีริมฝีปากบวม ตาบวม สาเหตุมีทั้งการติดเชื้อ ยา อาหาร แมลงกัดต่อยระบบฮอร์โมน ขณะที่บางรายก็ไม่ทราบสาเหตุ หรือสิ่งกระตุ้น ทั้งนี้ โรคลมพิษแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. ชนิดเฉียบพลัน คือ เป็นมาไม่เกิน 6 สัปดาห์ ชนิดนี้มักจะหายภายใน 2 - 3 สัปดาห์ แต่พบว่าลมพิษเฉียบพลันประมาณ 10 - 20% ผื่นอาจขึ้นต่อเนื่องจนเป็นลมพิษเรื้อรัง

ที่น่ากังวลคือ ลมพิษเฉียบพลันที่มีอาการรุนแรง คือ มีอาการแสดงที่อวัยวะอื่น เช่น ปวดท้อง แน่นจมูก คอ หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก หอบหืด หรืออาจเป็นลมจากความดันโลหิตต่ำ แต่จะพบได้น้อย ซึ่งหากเกิดขึ้นควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว เพราะอาจอันตรายถึงชีวิตได้” ศ.พญ.กนกวลัย กล่าวและว่า 2. ชนิดเรื้อรัง จะมีอาการต่อเนื่องนานเกิน 6 สัปดาห์ ในต่างประเทศพบประมาณร้อยละ 0.5 - 1 ของประชากร แต่ประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน แต่จากสถิติผู้ป่วยนอก แผนกผิวหนัง รพ.ศิริราช พบผู้ป่วยโรคลมพิษประมาณร้อยละ 2 - 3 ของผู้ป่วยที่มารับการรักษาโรคผิวหนัง พบได้ในทุกกลุ่มอายุ อุบัติการณ์สูงสุด คือ วัยทำงาน อายุระหว่าง 20 - 40 ปี อาจเพราะมักมีอาการเครียดสะสมและอาจละเลยต่อการดูแลสุขภาพ จึงทำให้เกิดโรคดังกล่าวได้มากขึ้น

ศ.พญ. กนกวลัย กล่าวว่า ลมพิษเรื้อรังมีผลกระทบอย่างมากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การนอนหลับ และความเครียด เนื่องจากจะเป็น ๆ หาย ๆ โดยเฉพาะรายที่ไม่ทราบสาเหตุ อาจมีภาวะความเครียดสูง เพราะไม่ทราบว่าจะมีอาการเกิดขึ้นเมื่อไร และไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากปัจจัยกระตุ้นได้ ซึ่งการรักษาแพทย์จำเป็นต้องให้ยาตั้งแต่ 1 ชนิดขึ้นไปเพื่อควบคุมอาการผื่นลมพิษ และเมื่อควบคุมอาการได้แล้วจึงค่อย ๆ ลดยาลง จงถึงพยายามหยุดยาเพื่อควบคุมโรคในระยะยาว ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเรื้อรังนานเป็นปี โดยปัจจุบันมีทางเลือกในการรักษามากขึ้น ทั้งยากินและยาฉีด

ศ.พญ.กนกวลัย กล่าวว่า ผู้ป่วยผื่นลมพิษสามารถปฏิบัติตัวเพื่อบรรเทาอาการได้ ดังนี้ 1. งดสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดลมพิษ 2. นำยาต้านฮีสตามีนติดตัวไว้เสมอ 3. ทำจิตใจให้สบายไม่เครียด 4. ไม่แกะเกาผิวหนัง เนื่องจากอาจทำให้เกิดผิวหนังอักเสบ 5. รับประทานยาตามแพทย์สั่ง หากยาทำให้เกิดอาการง่วงซึม จนรบกวนการทำงานหรือขับขี่ยานพาหนะ ควรแจ้งแพทย์เพื่อพิจารณาการรักษาให้เหมาะสม และ 6. อาจใช้คาลามายโลชั่นทาบริเวณผื่นลมพิษเพื่อลดอาการคัน แต่ไม่ได้ทำให้ผื่นหาย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น