xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งข้อสังเกตผลแล็บชุ่ยติด “เอชไอวี” แล็บบอกผลผิด-แพทย์แปลผิด-ภาวะบวกเทียม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รองเลขาธิการแพทยสภาโพสต์เฟซบุ๊ก ชี้เคสผลแล็บ “เอชไอวี” ผิด ต้องพิจารณารอบด้าน ตั้งข้อสังเกตแพทย์แปลผลผิด ห้องแล็บบอกผลผิด หรือภาวะบวกเทียมทางแล็บ ระบุต้องมีผู้รับผิดชอบ แต่หากผลบวกจริงแล้วเป็นลบ ถือเป็นความหวังของผู้ป่วยเอดส์ แพทย์เผยโอกาสตรวจเลือดเป็นบวกแล้วเป็นลบมี แต่น้อยราย แต่ยันร่างกายกำจัดเชื้อเองไม่ได้

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงกรณี นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เปิดเผยเรื่องมีผู้ป่วยฟ้องร้อง รพ.เอกชนชื่อดัง หลังผู้ป่วยรายนั้นไปตรวจการติดเชื้อเอชไอวีแล้วพบผลเป็นบวก คือ ติดเชื้อ และทำการรักษาด้วยยาต้านไวรัสนานกว่า 4 ปี สุดท้ายกลับไม่ได้ติดเชื้อ ว่า ข้อเท็จจริงที่น่ารู้ก่อนฟ้อง คือ การตรวจเลือดและรายงาน เป็นงานของนักเทคนิคการแพทย์ในห้องแล็บ ซึ่งแพทย์ต้องรักษาตามผลแล็บที่รายงานมา รายนี้จึงต้องตรวจสอบว่าผลบวกครั้งแรกเป็นการรายงานออกจากแล็บ หรือการแปลผลบวกผิดพลาดจากแพทย์ ซึ่งการร้องเรียนเพื่อตรวจสอบแพทย์นั้นสามารถทำได้

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตคือ 1. ถ้าห้องแล็บบอกว่าผลเป็นลบ แล้วแพทย์แปลผลผิดพลาดว่าเป็นบวก และรักษา ซึ่งผิดมาตรฐาน แพทย์จะต้องรับผิดชอบ 2. ถ้าห้องแล็บบอกว่าผลเป็นบวก แพทย์แปลผลตามเป็นบวก และรักษา ถือว่าแพทย์รักษาตามมาตรฐาน 3. ถ้าห้องแล็บบอกว่าผลเป็นบวก แต่จริง ๆ ผลเป็นลบในครั้งแรก และอีก 4 ปีต่อมาผลเป็นลบนั้น อาจเกิดได้จากการรายงาน “ผิด” ด้วยเหตุต่าง ๆ ทางเทคนิคที่ต้องสืบค้นข้อมูลว่าความผิดพลาดอยู่ที่ใด และ 4. ถ้าห้องแล็บบอกว่าเป็นบวก และพิสูจน์พบว่าผลก็เป็นบวกจริงตามมาตรฐานในครั้งแรก และอีก 4 ปีต่อมาผลเป็นลบนั้น อาจเกิดจากการรายงาน “ถูกต้อง” แต่เป็นภาวะบวกเทียมทางแล็บ หรือเป็นภาวะบวกจริง ๆ จากสภาวะผู้ป่วยเอง เพราะเวลานานอาจมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงหลายปี อาจได้รับยาและรักษาอะไรมาบ้างหรือไม่ ซึ่งต้องใช้หลักฐานประกอบอื่นๆ เช่น ผลเลือดตรวจจำนวนไวรัสอื่น ๆ ก่อนตัดสินข้อเท็จจริง

กรณี 3 และ 4 จะอยู่ในความรับผิดชอบของห้องแล็บ และนักเทคนิคการแพทย์ สามารถตรวจสอบมาตรฐานของแล็บได้ โดย สธ. และสภาเทคนิคการแพทย์ ไม่ใช่แพทยสภา ตามข่าวรายนี้คาดว่าผลแล็บออกมาว่าบวก คือ “เป็นเอชไอวี” ปกติแพทย์ต้องรักษาให้ยาตามมาตรฐาน ถ้าพบแพทย์รายนี้ข้อมูลไม่ชัดว่าได้รับการรักษาอย่างไรหรือไม่ จน 4 ปี มาตรวจซ้ำผลแล็บว่าลบ คือ “ไม่เจอ” ซึ่งน่าจะถือเป็นโชคดีของคนไข้ ถ้าเป็นจริง น่าสนใจบทสรุปว่า 1. ผลเลือดบวกนี้เป็นความพลาด (Medical Error) ทางเทคนิค ที่ต้องมีผู้รับผิดชอบ หรือเป็นเรื่องจริงทางการแพทย์ที่คนไข้เคยบวก แล้วกลับลบได้ ซึ่งเป็นความหวังของคนไข้เอดส์ทุกคน 2. สุดท้ายจะเป็นความรับผิดชอบของใคร 3. คดีเรียกร้องค่าเสียหายทุกข์ใจจะจบลงอย่างไร

ด้าน พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ หัวหน้าหน่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า การตรวจเชื้อเอชไอวีมีอยู่ 2 วิธี คือ 1. การตรวจหาภูมิต้านทานเชื้อเอชไอวี ซึ่งจะมีหลายรุ่น แต่จะใช้เวลาหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 2 - 3 สัปดาห์ และ 2.การตรวจหาเชื้อเอชไอวีโดยตรงด้วยวิธีแนต (Nucleic Acid Amplification Testing : NAT) จะตรวจได้เร็วหลังรับเชื้อประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ ซึ่งการตรวจทั้ง 2 ประเภทจะมีแม่นยำอยู่แล้ว ทั้งนี้ โดยปกติแล้วหากตรวจครั้งแรกให้ผลเลือดเป็นบวก จะต้องมีการตรวจซ้ำอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน จึงจะสามารถยืนยันผลได้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการผิดพลาดนั้นเป็นไปได้ เช่น การตรวจเลือด 3 ครั้ง ให้ผลยืนยันเป็นบวกทั้งหมด แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปกลับไม่พบว่าผู้ป่วยป่วยจริง ๆ ซึ่งเรื่องแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ แต่โอกาสเกิดขึ้นมีน้อย 1 ในหมื่นหรือแสนคน

“กรณีตรวจพบ แล้วภายหลังตรวจไม่พบ ปัญหาไม่ได้มาจากชุดตรวจ แต่เป็นเรื่องของตัวคนเป็นหลัก เช่น เลือดของผู้ป่วยสลับกัน การอ่านค่าผิด หรือตรวจเพียง 1 - 2 ครั้ง พอให้ผลเลือดเป็นบวกแล้วก็แจ้งคนไข้เลย ไม่ได้มีการตรวจซ้ำก่อน” พญ.นิตยา กล่าวและว่า สำหรับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีจริง ๆ หากไม่ได้รับยาต้านไวรัสเลย บางรายจะเริ่มมีอาการป่วยในระยะ 5 - 6 ปี โดยเฉลี่ย อาการที่พบคือมีผื่น มีตุ่มขึ้นตามตัว เชื้อราในช่องปาก งูสวัด อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ป่วยร้อยละ 5 ที่ไม่แสดงอาการใด ๆ เลย แต่ขณะเดียวกัน ก็มีผู้ป่วยร้อยละ 5 - 10 แสดงอาการแบบเต็มรูปแบบได้อย่างรวดเร็ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ร่างกายของผู้ป่วยสามารถกำจัดเชื้อเอชไอวีออกไปได้เอง พญ.นิตยา กล่าวว่า สมัยก่อนเราไม่เชื่อเรื่องนี้ แต่ที่ผ่านมามีการศึกษาวิจัยพบว่า กรณีผู้ที่เพิ่งได้รับเชื้อเอชไอวีมาใหม่ ๆ ยังไม่ถึงเดือน แล้วให้รับประทานยาต้านไวรัสติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน พอมาตรวจเลือดซ้ำหลังจากนี้ก็พบเชื้อลดลงมาก แทบไม่เจอ แต่พอให้หยุดรับประทานยาต้านไวรัส แล้วมาตรวจซ้ำอีกครั้งก็พบว่าเชื้อยังอยู่ในร่างกายเหมือนเดิม ดังนั้น ข้อมูลทุกวันนี้จึงยังไม่พบว่าร่างกายคนเราสามารถกำจัดเชื้อเอชไอวีออกไปได้เอง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น