xs
xsm
sm
md
lg

วิธีดูแล "แผลเบาหวาน" อย่างถูกต้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เชื่อว่าหลายต่อหลายคนคงรู้ถึงพิษสง "โรคเบาหวาน" โรคเรื้อรังที่จัดว่ารุนแรง ยากต่อการรักษาให้หายขาด และนอกจากจะส่งผลข้างเคียงที่อาจก่อให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจ โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง ฯลฯ ซึ่งสาเหตุเกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื้อต่างๆ ภายในร่างกายแล้ว อันตรายของโรคเบาหวานจากภายนอกที่น่ากลัวไม่แพ้กัน

อันตรายที่ว่านั้นก็คือ เมื่อเกิด "แผล" แผลของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจะหายช้ากว่า ซึ่งถ้าดูแลไม่ดีจะทำให้เพิ่มโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนเป็นเหตุให้ "แผลติดเชื้อ" เนื่องจากเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเกิดกรณี "แผลกดทับ" ได้ง่ายจนต้องตัดส่วนเนื้อตัดอวัยวะที่ถูกลุกลามทิ้ง นอกจากนี้ยังมี "แผลที่เกิดจากเนื้อเยื้อขาดเลือดไปเลี้ยง" ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือด สามารักษาได้โดยไม่ต้องตัดเนื้อที่เสียทิ้ง โดยรักษาด้วยการใช้ ออกซิเจนความดันบรรยากาศสูง (Hyperbaric Oxygen Therapy) ที่จะช่วยให้ออกซิเจนเข้าถึงเนื้อเยื่อในส่วนที่เป็นแผลได้ดีขึ้น ซึ่งทำให้แผลหายไว หรือการผ่าตัดหลอดเลือดเพื่อให้มีเลือดไปหล่อเลี้ยงบริเวณแผลได้ดีขึ้นเร็วขึ้น ของแพทย์แผนปัจจุบันที่ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ดังนั้น การดูแลรักษา "แผล" เบื้องต้นของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจึงต้องแยกแยะ ประเภทของแผล ซึ่งวิธีการรักษาแผลหลักใหญ่ใจความสำคัญคือ "ความสะอาด"

เพราะเบาหวานทำให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคในร่างกายลดต่ำลง จึงควรล้างแผลด้วยสบู่ น้ำอุ่นหรือน้ำเกลือ ไม่ควรล้างด้วยแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ทำลายโปรตีนในเนื้อเยื้อ โดยล้างให้เบาที่สุดรอบๆ เฉพาะรอบบริเวณผิวหนังที่เป็นแผลเท่านั้น

หลีกเลี่ยงการขัดถู จากนั้นเช็ดให้แห้งพร้อมกับใส่ยาฆ่าเชื้อที่ต้องไม่มีพิษต่อเซลล์ เพราะจะทำลายเซลล์ที่จำเป็นในการซ่อมแซม ทำให้แผลหายช้า และปิดแผลด้วยผ้าปิดแผลที่แห้งและผ่านการฆ่าเชื้อ และควรทำแผล 2-4 ครั้งต่อวัน นอกจากนี้ยังต้องรักษาแผลให้มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ แต่ไม่ควรทาด้วยโลชั่นที่มีส่วนผสมของ "น้ำมัน" เพราะน้ำมันต่างๆ อาจจะก่อให้เกิดการติดเชื้อขึ้นได้ และถ้าหากแผลมีอาการบวมแดงหรือมีน้ำเหลือง แม้ไม่มีอาการเจ็บปวดร่วมก็ควรรีบไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน

ส่วนในกรณี แผลกดทับ ผู้ที่ป่วยด้วยแผลชนิดนี้จึงจำเป็นต้องใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะแผลที่กดทับจะมีการตายของเนื้อเยื่อรวมถึงติดเชื้อ เราจึงควรหลีกเลี่ยงไม่ให้แผลนั้นถูกทับนานจนเกิน 2 ชั่วโมง และควรบริหารร่างกายอยู่สม่ำเสมอเพื่อให้ กล้ามเนื้อ ผิวหนังแข็งแรง และหลอดเลือด มีการไหลเวียนของโลหิตดี

ซึ่งวิธีการดูแลรักษาแผลที่มีการตายของเนื้อเยื่อและแผลติดเชื้อ สามารถทำได้ด้วยการขจัดเศษเนื้อที่ตายและแบคทีเรียออกไปด้วยการฉีดล้างแผลความดันสูงหรือขัดถู เพื่อให้เซลล์ใหม่งอกเกิด เนื่องจากเศษเนื้อที่ตายเป็นแหล่งสะสมให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี และควรใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ หรือน้ำเกลือชนิด นอร์มัลซาไลน์ (Normal saline solution/NSS) ก่อนจะปิดแผลด้วยผ้าปิดแผลที่ผ่านการฆ่าเชื้อ ไม่ควรใช้พลาสเตอร์ปิดบาดแผลโดยตรง และหากแผลเกิดหนองควรระบายหนองออกก่อน เสร็จแล้วล้างแผลแบบเดียวกับข้างต้น แล้วจึงปิดแผลด้วยผ้าปิดแผลที่ชุบน้ำเกลือหรือน้ำเกลือผสมน้ำยาฆ่าเชื้อ

นอกจากนี้หากบาดแผลมีช่องหรือโพรงที่อยู่ภายใต้ผิวหนัง รวมไปถึงแผลมีน้ำหนองหรือสารคัดหลั่งร่วมด้วย ให้เราควรทำการอุดด้วยผ้าก๊อซเพื่อดูดสิ่งเหล่านั้นจากแผลออกมาจะได้ไม่เกิดการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย และป้องกันการติดเชื้อลุกลามของบาดแผล
ข้อมูลบางส่วนจาก ผศ.พญ.สุภาพร โอภาสานนท์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สาขาวิชาศัลยศาสตร์อุบัติเหตุ ภาควิชาศัลยศาสตร์ และ www.memoryfoamthai.com

กำลังโหลดความคิดเห็น