xs
xsm
sm
md
lg

วัยทำงานฟันผุถึงขั้นถอนฟันทิ้ง 26% แนะวิธีห้ามเลือดหลังถอนฟัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


วัยทำงานฟันผุจนต้องถอนฟันถึง 26% ผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 56% ไปพบหมอฟันเพื่อรักษาแค่ 34% อ้างไม่มีเวลา ไม่มีเงิน กลัวทำฟัน ย้ ำคนมีโรคประจำตัวต้องแจ้งหมอฟัน แนะวิธีห้ามเลือดหลังถอนฟันอย่างถูกวิธี

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่า ประชาชนไทยยังมีปัญหาสุขภาพช่องปากอีกมาก โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานอายุ 35 - 44 ปี และผู้สูงอายุ 60- 74 ปี มีฟันผุที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการอุดฟันกว่าร้อยละ 60 ส่วนการรักษาด้วยการถอนฟันนั้น พบว่า กลุ่มวัยทำงานต้องถอนฟันรักษาร้อยละ 26 และเพิ่มเป็นร้อยละ 54 ในกลุ่มผู้สูงอายุ ขณะเดียวกัน ในรอบปีที่ผ่านมากลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการรักษาเพียงร้อยละ 34 เท่านั้น ประชาชนส่วนหนึ่งยังไม่ไปพบทันตแพทย์แม้จะมีอาการเจ็บปวดฟัน โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ไม่มีเวลา ไม่มีเงิน และ กลัวการทำฟัน ซึ่งการดูแลและรักษาสุขภาพช่องปากนับเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรได้รับการวินิจฉัยหรือตรวจอาการจากแพทย์ก่อนถึงความพร้อมของร่างกายก่อนจะเข้ารับบริการรักษาจากทันตแพทย์

“กลุ่มโรคประจำตัวที่ส่งผลกระทบต่อการรักษาสุขภาพช่องปากและฟัน คือ 1. กลุ่มโรคที่เลือดออกง่าย ได้แก่ โรคเกล็ดเลือดต่ำ หรือ ลูคีเมีย โรคไตและผู้ที่มีประวัติเคยล้างไต เพราะจะได้รับยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ผู้ที่มีประวัติการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ และใช้ยาละลายลิ่มเลือดโรคตับ ทำให้การสร้างโปรตีนที่จำเป็นสำหรับการแข็งตัวของเลือดลดลงทำให้เลือดหยุดยาก แข็งตัวยาก จึงเกิดเลือดออกได้ง่าย 2. กลุ่มโรคที่อาจแสดงอาการในระหว่างการทำฟัน ได้แก่ โรคหัวใจอาจมีอาการเจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย ใจสั่น โรคหอบหืดอาจมีอาการหอบเหนื่อย ต้องมียาพ่นประจำ และการได้รับยาสเตียรอยด์ โรคลมชักและโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งโรคประจำตัวเหล่านี้ หากแจ้งให้ทันตแพทย์ได้รับทราบก่อน จะช่วยให้สามารถเตรียมป้องกันและเตรียมความพร้อมในกรณีที่อาการกำเริบได้และอาจจะต้องปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ก่อนรักษาฟัน ทันตแพทย์จะต้องวินิจฉัยอาการและสาเหตุว่าสมควรต้องถอนฟันซี่นั้นหรือไม่ หากไม่สามารถเก็บรักษาฟันซี่นั้นไว้ จึงจะวางแผนรักษาด้วยการถอนฟัน ซึ่งเมื่อจำเป็นต้องถอนฟัน ทันตแพทย์จะซักประวัติทางการแพทย์อย่างถี่ถ้วน และจะทำการเอกซเรย์ฟันซี่จะถอนด้วยเพื่อตรวจหารอยโรคที่อาจมีซ่อนอยู่ เป็นสาเหตุของการปวดฟันหรืออาการฟันโยกคลอน เช่น เนื้องอก ถุงน้ำ (cyst) บริเวณรากฟันซี่นั้น และแม้จะเตรียมความพร้อมแล้ว บางกรณียังอาจเกิดอาการแทรกซ้อนจากการถอนฟันที่ไม่สามารถทราบได้ล่วงหน้า เช่น มีความผิดปกติของเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำ ซึ่งบังเอิญรอยโรคดังกล่าวอยู่บริเวณปลายรากฟันพอดี เมื่อถอนฟันซี่นั้นออก เลือดจึงไหลไม่หยุดต้องห้ามเลือดอย่างถูกวิธี 

หลังจากถอนฟันเสร็จ ควรปฏิบัติตนดังนี้ 1. กัดผ้าก๊อซแห้งที่ผ่านการฆ่าเชื้ออย่างดีแล้ว นานประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อห้ามเลือด และกลืนน้ำลายตลอดเวลา หากยังมีเลือดซึมให้เปลี่ยนผ้าก๊อซชิ้นใหม่จนกว่าเลือดจะหยุด 2. การประคบเย็นด้วยถุงน้ำแข็งให้ทำภายนอกช่องปากตรงแก้มบริเวณที่ถอนฟัน ห้ามใช้วิธีอมน้ำแข็งไว้ในปาก เพราะน้ำแข็งจะละลายลิ่มเลือดที่แข็งตัวในปาก ทำให้เลือดหยุดช้า 3. ห้ามบ้วนปากหลังถอนฟันอย่างน้อย 12 ชั่วโมง หลังจากนั้น ใช้น้ำยาบ้วนปากได้ หรืออมน้ำเกลืออุ่นแล้วบ้วนทิ้ง 4. หลัง 24 ชั่วโมง แปรงฟันได้ตามปกติแต่ต้องระวังไม่ให้กระทบกระเทือนบริเวณแผลถอนฟัน และ 5. อาการเจ็บแผลถอนฟันควรลดน้อยลงภายใน 3 วันถึง 2 สัปดาห์ ถ้าหากไม่ทุเลาหรือเจ็บมากขึ้น มีอาการบวม มีเลือดออก หรือมีไข้ ให้รีบกลับไปพบทันตแพทย์ทันที ที่สำคัญ หลังจากถอนฟันแล้ว ผู้ป่วยต้องรักษาความสะอาดในบริเวณที่ถอนฟันด้วยตนเอง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น