ฮอร์โมนหิวมีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า เกรลิน (Ghrelin Hormone)
เกรลินถูกหลั่งออกมาจากเซลล์กระเพาะอาหารเพื่อส่งสัญญาณบอกสมองให้สั่งสองมือไปหาอาหารเข้าปาก ก่อนมื้ออาหารจะเป็นช่วงเวลาที่ระดับของเกรลินขึ้นสูง เมื่อรับประทานอาหาร ระดับของเกรลินก็จะลดลงประมาณ 3 ชั่วโมงโดยเฉลี่ย วิธีการที่จะจัดการกับความหิวคือ พยายามควบคุมเกรลินให้ไม่สูงเกินไปและไม่ถูกหลั่งออกมาเร็วเกินไป ซึ่งทำได้ง่ายๆ ตามทิปต่อไปนี้
1.เพิ่มโปรตีนในมื้ออาหาร การรับประทานอาหารที่มีโปรตีนดีสูง เช่น ไข่ขาว ปลา ถั่ว จะช่วยยับยั้งการหลั่งของเกรลินได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมื้อเช้า มีงานวิจัยพบว่า การรับประทานไข่ในมื้อเช้าช่วยยับยั้งความหิวและลดแคลอรี่ที่รับประทานในระหว่างวันลงได้
2.เลี่ยงอาหารไขมันสูง มื้ออาหารที่มีไขมันสูงส่งผลยับยั้งฮอร์โมนหิวได้ไม่ดีเท่าอาหารไขมันต่ำ นั่นหมายความว่า ยิ่งรับประทานอาหารมันๆ ก็จะยิ่งหิวได้ง่ายขึ้น
3.อย่านอนดึก การนอนไม่พอส่งผลกระตุ้นการผลิตของเกรลิน
4.รับประทานมื้อเล็ก แต่บ่อยขึ้น การแบ่งอาหารเป็นมื้อที่เล็กลงแต่บ่อยขึ้นเป็นทุก 3-4 ชั่วโมง จะช่วยกระตุ้นเปปไทด์ YY3-36 ซึ่งจะไปยับยั้งการหลั่งของฮอร์โมนหิวหรือเกรลินอีกต่อหนึ่ง
5.หาทางจัดการกับความเครียด เช่น ออกกำลังกาย นวด นั่งสมาธิ ฟังเพลง ในเวลาที่เรามีความเครียดหรือวิตกกังวล เกรลินจะถูกผลิตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เราหิวง่ายขึ้น
ข้อมูลจากหนังสือ เลิกลด แล้วจะผอม เขียนโดย แพทย์หญิงธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (สำนักพิมพ์อมรินทร์สุขภาพ)