xs
xsm
sm
md
lg

"น้ำแข็ง" ปนเปื้อนพิษ สังเกตสักนิด ชีวิตปลอดโรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หน้าร้อนๆ อย่างนี้เป็นใครก็พึ่ง "น้ำแข็ง" เพื่อช่วยบรรเทาคลายร้อน บางคนวันละหลายถุง หรืออาจจะในทุกครั้งที่ดื่มน้ำ เป็นต้องมีให้ชุ่มชื่นหัวใจ แต่ทว่ารู้หรือไม่ เบื้องหลังความเย็นเหล่านั้นกับแฝงซ่อนด้วยอันตรายปนเปื้อนอย่างไรบ้าง
ภาพประกอบ www.bgfons.com
โดยเฉพาะกับน้ำแข็งป่น น้ำแข็งเกล็ด ที่เรานิยมใช้กันส่วนมาก ซึ่งจากข้อมูลสถิติการสุ่มตรวจการปนเปื้อนในอาหารของสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีน้ำแข็งบริโภคปนเปื้อนจุลินทรีย์มากกว่าสูงเกินกว่าครึ่งถึง 64.5 % ซึ่งในปี 2555 พบว่า มีผู้ป่วยทั้งหมด 1,164,902 ราย เสียชีวิต 38 ราย เป็นโรคที่พบมากอันดับ 1 กว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยทั้งหมด ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน จำนวน 1 ล้านกว่าราย เสียชีวิต 37 ราย รองลงมา คือ โรคอาหารเป็นพิษ พบผู้ป่วยประมาณ 98,000 ราย เสียชีวิต 1 ราย และโรคบิด จำนวน 5,645 ราย เนื่องจากเชื้อโรคหรือจุลินทรีย์ที่พบนี้ก่อให้เกิดโรคอย่าง อีโคไล ท้องร่วง ท้องเสีย และโรคอาหารเป็นพิษอีกด้วย ชนิดไม่รู้เนื้อรู้ตัวว่าสาเหตุนั้นมาจาก...น้ำแข็ง

ดังนั้น ในเมื่อเราหลีกเลี่ยงความร้อน ทนความกระหายไม่ไหว หรืออาจจะต้องมีบ้างที่รับประทาน "น้ำแข็ง" เราจะได้เลือกซื้อที่ปลอดภัยปราศจากสารปนเปื้อน เชื้อโรค เพราะอย่าลืมว่า เรากินอะไรก็ได้อย่างนั้น
ภาพประกอบ www.blog.gameready.com และ www.thaieditorial.com
สังเกตสิ่งเจือปน
 
เริ่มต้นโดยมองด้วยตาเปล่าเพราะ "น้ำแข็ง" ที่สะอาดจะมีความใส ไม่ขุ่นมัว เป็นคราบ ที่เรารู้สึกได้ว่ามีสิ่งเจือปน และหลังจากที่ตักน้ำแข็งใส่แก้วและเทน้ำ ให้สังเกตว่าหลังจากน้ำแข็งละลายมีตะกอนดำๆ หรือเศษสิ่งสกปรกเจือปนอยู่ที่ก้นแก้วหรือไม่ เนื่องจากน้ำแข็งที่ให้บริการในร้านค้าและร้านอาหารทั่วไปอาจปะปนอยู่กับการแช่ของ แช่อาหาร ขวดน้ำอัดลม ฯลฯ ดังนั้น เราจึงควรใจเย็นๆ สักนิดก่อนที่จะรับประทาน

ไม่มีสี กลิ่น รส ผิดปกติ

นอกจากทั้ง "น้ำ" และ "น้ำแข็ง" เมื่ออยู่ในแก้วเดียวกันต้องใส ไม่มีตะกอนหรือเศษสิ่งอื่นๆ เจือปนแล้ว ขั้นตอนต่อมาที่จะทำให้เรารู้ว่า "น้ำแข็ง" นั้นมีสิ่งเจือปนอยู่อีกหรือไม่ คือจะต้องไม่มีกลิ่น มีสี หรือมีรสผิดปกติ

เลือกซื้อน้ำแข็ง "หลอด" ที่ผลิตโดยเครื่องอัตโนมัติ หรือ น้ำแข็งอนามัยที่ผ่านการรับรองคุณภาพตามระบบ GMP
 
เนื่องจากเราไม่สามารถรู้เลย "น้ำแข็ง" ที่เรารับประทานนั้นมีการผลิตที่ผ่านกรรมวิธีอะไรมาบ้าง การเลือกน้ำแข็งที่ผลิตจากเครื่องอัตโนมัติก็เท่ากับลดความเสี่ยงการเจือปนของการผลิต อาทิ ถุงบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สะอาด การตัดน้ำแข็งให้มีขนาดเล็กจากอุปกรณ์ที่ไม่สะอาดขึ้นสนิม หรือการนำน้ำแข็งไปใช้ปนร่วมกับอย่างอื่น ซึ่งรายละเอียดบนฉลากที่เราต้องคำนึงถึงเป็นอย่างยิ่งคือ
 
ข้อความว่า “น้ำแข็งใช้รับประทานได้” ด้วยตัวอักษรสีน้ำเงิน
เลข สารบบอาหาร 13 หลัก ในเครื่องหมาย อย.
ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต
และน้ำหนักสุทธิเป็นระบบเมตริก เป็นต้น

ล้างก่อนรับประทาน
 
วิธีเหมาะกับน้ำแข็งก้อนใหญ่ๆ หรือที่เรียกกันว่า "น้ำแข็งซอง" เนื่องจากขนาดและมวลน้ำแข็งมีความหนาเพียงพอที่เราจะสามารถล้างทำความสะอาดเบื้องต้นก่อนจะบดหรือทุบให้ได้ขนาดเพื่อรับประทาน เป็นการช่วยลดการปนเปื้อนพวกคราบเจือปน เศษฝุ่นละลอง และสิ่งสกปรกเชื้อโรคที่แฝงมาจากการขนส่งและผลิต

ทั้งนี้ทั้งนั้นนอกจากข้างต้นที่กล่าวมา เราก็ควรสังเกตสถานที่เก็บรักษาภาชนะบรรจุภัณฑ์ที่ใส่ด้วยว่าไม่มีการปนเปื้อนทุกครั้งที่จะรับประทานน้ำแข็ง รวมไปถึงที่เราต้องใส่ใจในการเลือกรับประทานอย่างระมัดระวัง ก็คือ แก้ว ชาม ภาชนะที่จะใส่รับประทานนั้นต้องสะอาดด้วยเช่นเดียวกัน
ข้อมูลบางส่วนจาก : หน่วยระบาดวิทยาโรคติดต่อ งานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น
กำลังโหลดความคิดเห็น