xs
xsm
sm
md
lg

สงครามบนซองบุหรี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในยุคนี้คงไม่มีใครที่ไม่รู้ว่าบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ อาจจะรู้มากหรือรู้น้อยต่างกันไป ดังนั้น เพื่อให้แน่ใจว่าข้อเท็จจริงเรื่องอันตรายจากบุหรี่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง รัฐบาลของทุกประเทศ ทั่วโลก จึงกำหนดให้มีคำเตือนบนซองบุหรี่ ใหญ่เล็กแตกต่างกันไป สุดแต่ว่ารัฐบาลของประเทศนั้นสู้กับอิทธิพลของบริษัทบุหรี่ได้ หรือไม่

เพราะสำหรับบริษัทบุหรี่แล้ว ซองบุหรี่คือกล่องดวงใจที่สำคัญเลยทีเดียว บริษัทบุหรี่ใช้ซองบุหรี่นี่แหละในการสร้าง ภาพลักษณ์ให้กับยี่ห้อของตัวเอง บวกกับการทุ่มเงินนับพันล้านดอลลาร์ในการโฆษณาทางสื่อต่าง ๆ จนเมื่อหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลเกือบทุกประเทศได้ออกมาตรการห้ามโฆษณาทางสื่อต่าง ๆ บริษัทบุหรี่จึงยิ่งใช้พื้นที่บนซองเป็นแนวรบด่านสุดท้าย ในการโฆษณา

อย่างไรก็ตาม การที่บุหรี่ฆ่าผู้บริโภคของตัวเองถึง 6 ล้านคนต่อปี แม้ผู้บริโภคเหล่านั้นจะใช้สินค้านี้ตามปกติ (ก็คือ สูบนั่นเอง) บุหรี่จึงไม่ใช่สินค้าธรรมดาเหมือนสินค้าอื่นๆ รัฐบาลประเทศต่างๆ จึงอยู่นิ่งเฉยอยู่ไม่ได้ โดยได้กำหนดให้มีการพิมพ์คำเตือนบนซองบุหรี่ เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมาคำเตือนบนซองบุหรี่มีขนาดเล็กมาก เมื่อทั่วโลกตื่นตัวมากขึ้น คำเตือนบนซองบุหรี่ก็ยิ่ง ขยายใหญ่ขึ้น และเปลี่ยนจากข้อความเป็นรูปภาพ ในขณะนี้มีถึง 72 ประเทศแล้วที่กำหนดให้ต้องมีการพิมพ์คำเตือน เป็นรูปภาพบนซองบุหรี่ เพื่อให้สามารถสื่อสารถึงผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
เนื่องจากประสิทธิภาพในการเตือนพิษภัยเพิ่มขึ้นตามขนาดของภาพ เมื่อปีที่แล้วประเทศไทยจึงขยายภาพคำเตือนเป็น 85% มาปีนี้ ปากีสถาน อินเดีย ก็ออกกฎหมายเพิ่มขนาดภาพคำเตือนเป็น 85% เช่นกัน และล่าสุด เนปาลออกกฎหมายภาพคำเตือนเป็น 90% และประเทศอื่นๆ คงจะทยอยทำตาม
 
ในหมู่ประเทศอาเซียนนั้น ต้องขอปรบมือให้ดังๆ เพราะมีถึง 6 ประเทศที่ใช้คำเตือนเป็นรูปภาพ เริ่มจากสิงค์โปร์ ที่เริ่มนโยบายนี้ก่อนใคร ตามด้วยไทย บรูไน มาเลเซีย เวียตนาม และอินโดนีเซีย ส่วนฟิลิปปินส์นั้นกฎหมายผ่านสภาแล้ว และจะมีผลในปีหน้า จะเหลือก็แต่ ลาว กัมพูชา และพม่า ที่กำลังสู้กับอิทธิพลของบริษัทบุหรี่ที่เดินสายล็อบบี้กับกระทรวงต่างๆ เพื่อจะบล็อกมาตรการนี้
แต่ว่าไปแล้ว ประเทศที่ก้าวหน้าที่สุดในเรื่องนี้ ต้องยกให้ออสเตรเลีย ที่กำหนดให้บนซองบุหรี่นอกจากมีภาพคำเตือน แล้ว จะต้องไม่มีเครื่องหมายการค้า ให้มีได้เฉพาะชื่อยี่ห้อ แต่ใช้สีและแบบตัวอักษรเหมือนกันตามที่รัฐบาลกำหนด หรือที่เรียก ง่ายๆ ว่าซองบุหรี่แบบไม่มีโฆษณา โดยกฎหมายนี้เริ่มใช้มากว่า 2 ปีแล้ว
 
บริษัทบุหรี่ออกมาโจมตีและฟ้องรัฐบาลออสเตรเลีย ว่าละเมิดเครื่องหมายการค้า แต่ท้ายที่สุด ศาลสูงของออสเตรเลีย ตัดสินให้รัฐบาลชนะ สามารถอกกกฎหมายนี้ได้ บริษัทบุหรี่ยังได้ออกข่าวอย่างต่อเนื่องว่า ซองบุหรี่แบบนี้ไม่ได้ทำให้คนสูบบุหรี่ลดลง แต่ทำให้บุหรี่เถื่อนมากขึ้น
 
ผลการวิจัยล่าสุดของออสเตรเลีย ที่ศึกษาเพื่อประเมินผลของการมีกฏหมายห้ามพิมพ์เครื่องหมายการค้าบนซองบุหรี่ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าผู้สูบบุหรี่สังเกตเห็นภาพคำเตือนเด่นชัดขึ้น และมีความคิดที่จะเลิกบุหรี่มากขึ้น ส่วนเยาวชนมีความ รู้สึกอยากสูบบุหรี่น้อยลง ในขณะที่พบว่า บุหรี่หนีภาษีหรือบุหรี่ปลอมไม่ได้มีมากขึ้น ตามที่บริษัทบุหรี่กล่าวอ้างแต่อย่างใด เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ไอร์แลนด์ เป็นประเทศที่สองที่ประกาศใช้ซองบุหรี่แบบไม่มีเครื่องหมายการค้า ตามติดมาด้วย อังกฤษ ที่กฎหมายนี้ผ่านสภาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

นายแพทย์เจมส์ ไรลีย์ รัฐมนตรีกระทรวงเด็กและเยาวชนไอร์แลนด์ เปิดเผยในที่ประชุมนานาชาติเรื่องบุหรี่และสุขภาพ ที่กรุง อาบูดาบี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า บริษัทบุหรี่ข้ามชาติ ทั้งบริษัทฟิลลิปมอร์ริส บริษัทบีเอที และบริษัทเจทีไอ ได้ร่วมกันว่าจ้าง ล็อบบี้ยิสต์ถึง 161 คนในการวิ่งเต้นกับ สส. ของไอร์แลนด์ รวมถึงหนุนสมาคมชาวไร่ยาสูบ และสมาคมผู้ค้าปลีกยาสูบให้ อกกมาคัดค้านเพื่อล้มกฎหมายนี้ โดยใช้เงินในการล็อบบี้ถึง 1.24 ล้านปอนด์ หรือกว่า 60 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นการวิ่งเต้นล้ม กฎหมายที่รุนแรงที่สุดเท่าที่มีมาในประวัติศาสตร์ของประเทศไอซ์แลนด์ แต่ด้วยความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะปกป้องสุขภาพของประชาชนจากการเสพติดบุหรี่ รัฐบาลไอร์แลนด์สามารถ สู้กับอิทธิพลของบริษัทบุหรี่ได้สำเร็จ และออกกฎหมายนี้ได้เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา
 
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ กล่าวว่า บริษัทบุหรี่ข้ามชาติได้พยายามทุกวิถีทางในการขู่ และคัดค้านประเทศต่าง ๆ ที่จะออกกฎหมายนี้ โดยอ้างว่าขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะพื้นที่บนซองบุหรี่ถือเป็นทำเลทองในการโฆษณาบุหรี่ ซึ่งบริษัทบุหรี่ทุ่มทุนมหาศาลในการใช้พื่นที่ตรงนี้ดึงดูดใจลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน แต่สหภาพยุโรป หรืออียู ได้ประกาศ ว่ากฎหมายซองบุหรี่แบบไม่มีเครื่องหมายการค้า ไม่ขัดต่อกฎหมายการ ค้าระหว่างประเทศ และสมาชิกสหภาพยุโรป 28 ประเทศสามารถที่จะออกกฎหมายนี้ได้ และขณะนี้มีมากกว่า 10 ประเทศ แล้วที่ประกาศว่ากำลังเสนอกฎหมายให้ใช้ซองบุหรี่ แบบไม่มีเครื่องหมายการค้า ได้แก่ ฝรั่งเศส นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ บูร์กินาฟาโซ โตโก นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์

มีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลซึ่งไม่กลัวคำขู่ของบริษัทบุหรี่ จะพากันเดินหน้าออกมาตรการนี้ เพื่อจะช่วยลดการสูบบุหรี่ แต่หากรัฐบาลไหนหลงกลบริษัทบุหรี่ ก็คงต้องเผชิญกับภาระทางเศรษฐกิจจากการดูแลรักษาโรค ที่เกิดจากการสูบบุหรี่ที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
 
บทเรียนในประเทศต่างๆ ล้วนยืนยันว่า หากรัฐบาลออกมาตรการอะไร แล้วบริษัทบุหรี่เฉยๆ แสดงว่ามาตรการนั้น ไม่มีผลต่อการลดการสูบบุหรี่ แต่หากบริษัทบุหรี่ลุกขึ้นมาคัดค้านมาตรการใด แสดงว่ามาตรการนั้นมีผลต่อยอดขายของเขา
 
หากใช้บทเรียนนี้มามองกลับสถานการณ์ในประเทศไทยในขณะนี้ ที่บริษัทบุหรี่สนับสนุนให้สมาคมการค้ายาสูบไทย ออกมาคัดค้านร่างกฎหมายบุหรี่ฉบับใหม่ ก็น่าจะสรุปได้ว่า บริษัทบุหรี่รู้ดีว่ากฎหมายฉบับนี้มีเขี้ยวเล็บ และกลัวว่าไทยจะเป็น ประเทศต่อไปที่จะออกมาตรการซองบุหรี่แบบไม่ให้มีเครื่องหมายการค้า
 
อนาคตของประเทศไทยและคนไทย จึงอยู่ที่ว่ารัฐบาลจะสู้อิทธิพลและการล็อบบี้ของบริษัทบุหรี่ได้หรือไม่

เรื่องโดย : บังอร ฤทธิภักดี มูลนิธิเพื่อสังคมอาเซียนปลอดบุหรี่

กำลังโหลดความคิดเห็น