ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นนั้นมีความสลับซับซ้อนเชื่อมโยงกันหลายมิติและมีความแตกต่างกันไปตามคุณลักษณะของวัยรุ่นเองไม่ว่าจะเป็นอายุ สถานภาพสมรส การศึกษา ฐานะทางสังคมเศรษฐกิจตลอดจนปัจจัยที่มาจากครอบครัวและชุมชน
นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายถึงปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในกลุ่มเด็กและเยาวชนว่า สถานการณ์ของปัญหาในปัจจุบันยังคงเดิมและมีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติการณ์เพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ เนื่องจากกลไกการป้องกันไม่ได้บูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้านความผิดพลาด ที่สำคัญคือการที่เราไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ตัวเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง เรามัวแต่ยึดติดกับเป้าหมายทางยุทธศาสตร์กันมากเกินไป ทำให้การแก้ปัญหาขาดประสิทธิภาพเห็นได้จากอัตราการคลอดและยุติการตั้งครรภ์ เพื่อแก้ปัญหาการท้องไม่พร้อมในหญิงวัยรุ่นยังคงอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
เด็กและเยาวชนกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมีสาเหตุมาจากอะไร?
ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว สะท้อนมุมมองว่า สิ่งกระตุ้นยั่วยุในปัจจุบันมีอยู่อย่างมากมาย เช่น สื่อต่างๆ รวมทั้งภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กโทรนิกส์และเครือข่ายการสื่อสารสังคมรูปแบบต่างๆ ขณะเดียวกันพ่อแม่และผู้ปกครองยังขาดทักษะในการบอกสอนลูกเกี่ยวกับเรื่องเพศ ทำให้เด็กอายุน้อยเหล่านี้ตกเป็นเหยื่อถูกล่อลวงได้ง่าย โดยเฉพาะช่องทางของสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งต้องยอมรับว่ากลไกการป้องกันที่มีอยู่ยังไล่ตามสื่อไม่ทัน
ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้ามาแก้ไขอย่างไร?
นายแพทย์สุริยเดว ระบุว่าระบบการดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตนั้น มีอยู่ 3 ระบบ คือ 1.ระบบสุขภาวะ 2.ระบบการศึกษา 3.ระบบพัฒนาสังคม ซึ่งทั้ง 3ระบบในทุกวันนี้ยังทำงานแยกส่วนไม่สอดคล้องกัน เช่น ระบบการศึกษาของเรายังคงใช้ระบบแพ้คัดออก ซึ่งแค่เรื่องนี้เรื่องเดียวก็ถือว่าสอบตกแล้ว ขณะที่ระบบพัฒนาสังคมพอเรามาดูวิถีชีวิตที่ต้องรู้เท่าทันภัยรอบตัว กลับพบว่าเราไม่มีการบอกการสอนในมิตินี้เท่าที่ควร มันจึงไม่เกิดการเหลาทางความคิดให้เด็กได้เกิดวิธีคิดที่จะรู้เท่าทันสิ่งเหล่านี้
การเรียนการสอนไทยควรมีการปรับปรุงหรือไม่?
นายแพทย์สุริยเดว ชี้ให้เห็นว่าการเรียนการสอนของบ้านเรายังเน้นการท่องจำเหมือนนกแก้วนกขุนทอง ซึ่งจะเห็นว่าไม่มีวิชาชีวิตเลย เราเน้นด้านวิชาการมากเกินไป ดังนั้นควรการปรับปรุงการสอนเสียใหม่ เช่น ให้ครึ่งวันเช้าเป็นการเรียนในมุมของวิชาการเต็มที่ ส่วนครึ่งวันบ่ายเป็นการสอนวิชาชีวิต โดยอาจนำกรณีศึกษาจากในสื่อมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยให้เด็กเสนอข้อดีข้อเสียมาว่า เขาจะพัฒนาทักษะรู้เท่าทันไม่ให้ถูกล่อลวงได้อย่างไร หรือถ้าเขาอยู่ในกลุ่มเสี่ยงแน่ๆ เราจะติดอาวุธทางความคิดให้เขาได้อย่างไร
“แม้ว่าเด็กวัยรุ่นจำนวนมากจะได้รับการสอนเพศศึกษาในโรงเรียน แต่เด็กนักเรียนจำนวนมากยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ยังขาดการสื่อสารทางบวกเรื่องเพศทัศนคติ ขณะเดียวกันความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศของครูผู้สอนเอง ก็เป็นสิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนให้เท่าทันกับยุคสมัยเช่นกัน”
เราควรจะสอนเรื่องเพศศึกษากับเด็กตั้งแต่อายุเท่าไหร่?
ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า มิติเรื่องเพศนั้นเราต้องเริ่มเรียนรู้กันตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลและค่อยสอนเรื่อยไปตามวัยของเด็ก ซึ่งในเด็กผู้หญิงอายุ 10-12ขวบ จะเริ่มมีพัฒนาการทางสรีระแล้ว ดังนั้นหมายความว่า เราต้องสอนเขามาตั้งแต่ 7-8ขวบแล้วหรือเด็กในช่วงอายุ 13-14ปี จะต้องรู้ว่ายาคุมกำเนิดและถุงยางคืออะไร วิธีการใช้เป็นอย่างไรและจะหาได้ที่ไหน สิ่งเหล่านี้ต้องเริ่มสอนเขาได้แล้วอย่าปล่อยให้เขาไปหาความรู้เองตามอินเทอร์เน็ตและยิ่งในปัจจุบันพบว่าค่าเฉลี่ยของการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเร็วขึ้นอยู่ที่ช่วงอายุ15-16ปีเท่านั้น แสดงว่าเขาควรถูกสอนเรื่องเพศศึกษาไว้ก่อนแล้วว่าทำอย่างไรไม่ให้ถูกล่อลวง
“การป้องกันปัญหาดีที่สุดคือการไม่มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ปัญหานี้กลายเป็นศูนย์ อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ระหว่างวัยรุ่นกับคนในครอบครัวถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ได้ โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองที่จะต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ต้องสามารถพูดคุยให้คำปรึกษาแนะนำเรื่องเพศกับลูกได้ ที่สำคัญต้องเปิดใจให้โอกาสกับเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาดได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นได้อย่างแท้จริง” นายแพทย์สุริยเดว กล่าวทิ้งท้าย
ที่มาข้อมูล : www.thaihealth.or.th เรื่องโดย นายฉัตร์ชัย นกดี Team Content
เครดิตภาพ : อินเตอร์เน็ต