แนว สยองขวัญ
ระบบ PC, PS4, Xbox One, Switch
เรตเกม PEGI: 18 เหมาะสำหรับผู้เล่นที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
ความพยายามของซีรีส์เกมสยองขวัญอินดี้สัญชาติอิตาลี ที่หวังเอาใจคอเกมแถบเอเชียรวมถึงไทยเรา ถึงแม้ภาพรวมพวกเขาอาจต้องกลับไปแก้ไขปรับปรุงพยายามให้หนักมากขึ้นกว่านี้
สำหรับเกม Remothered: Broken Porcelain หลายคนอาจยังไม่รู้ว่านี่เป็นเกมภาคที่สองแล้ว และยังคงถูกพัฒนาโดย Stormind Games ทีมงานแดนมักกะโรนีเจ้าเก่าที่ต้องการสืบสานความสำเร็จ และสานต่อเรื่องราวอันค้างคาของภาคแรกที่ถูกทิ้งไว้ให้ผู้เล่นคาใจ ซึ่งตรงจุดนี้หากใครอยากรู้เรื่องราวประวัติความเป็นมาทั้งหมดตั้งแต่ต้น ก็ไม่ต้องเสียตังค์ซื้อภาคก่อนมานั่งเล่น เพราะตัวเกมได้มีการจัดทำคลิปวิดีโอสรุปเนื้อหาสปอยสั้นๆแบบรวบรัดมาให้เราได้รับชมเกริ่นนำทำความเข้าใจก่อนเริ่มเกม โดยจะเลือกดูหรือไม่ดูก็ได้แล้วแต่เราเลย
เหตุการณ์ในเกมภาคต่อนี้ จะเป็นเรื่องราวของ Jennifer สาวน้อยวัย 15 ปีผู้ชอบก่อปัญหามาตั้งแต่สมัยที่เธอยังประจำอยู่ในสถาบันหญิงล้วนเฟลมมิงตัน จนปัจจุบันมาทำงานเป็นเมดอยู่ในโรงแรม Ashmann Inn เธอก็ยังสร้างความวุ่นวายปั่นป่วนไม่ขาดสาย เนื่องด้วยความช่างสงสัยบวกกับความสอดรู้สอดเห็นที่ทำให้เธอพบเจอสิ่งผิดปกติที่ซุกซ่อนอยู่ในโรงแรมแห่งนี้ ทั้งการทดลองลึกลับและยาลบล้างความทรงจำ Phenoxyl ที่หวนกลับมาหลอกหลอนผู้เล่นอีกครั้ง ส่วนทางฝั่งตัวละครเอกสาวจอมสืบจากภาคแรกอย่าง Rosemary Reed ตัวเธอนั้นก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในผลงานเกมภาคต่อนี้ จากภารกิจตามหาคนหาย Celeste Felton ของเธอที่กำลังจะได้ข้อสรุปคลี่คลายกันเสียที
รูปแบบการเล่นยังคงเน้นหนักในเรื่องเซอร์ไววอลหรือการเอาตัวรอดเป็นหลัก โดยเราต้องคอยบังคับตัวละครวิ่งหนี แอบย่อง และหลบซ่อนจากการตรวจตราของศัตรู เพราะหากโดนจับได้เราอาจถูกทำโทษหรือถูกทำร้ายถึงขั้นเสียชีวิตทันที ซึ่งตามฉากจะมีไอเทมเบี่ยงเบนความสนใจไว้หลอกล่อศัตรู วัตถุดิบสำหรับคราฟต์ของ และจุดซ่อนตัวอำพรางกายต่างๆมากมายให้เราได้ใช้ประโยชน์ ส่วนอาวุธประเภทมีด-ปืน ถึงแม้ในเกมจะมีให้เลือกใช้ แต่เราจะไม่ค่อยได้ใช้งานมันสักเท่าไหร่ เนื่องด้วยระบบของเกมที่ไม่ได้ถูกดีไซน์ออกแบบมาเพื่อรองรับแอ็คชั่นการต่อสู้ งานถนัดที่ตัวละครของเราพอทำได้ก็มีเพียงแค่การหนีและหนีเวียนวนอยู่อย่างนั้นเสียเป็นส่วนใหญ่
ปริศนาภายในเกม ก็มีปรากฏสอดแทรกให้เราได้คอยแก้อยู่เรื่อยๆไม่มีว่างเว้น ซึ่งส่วนมากจะเป็นพัซเซิลธรรมดาเบสิคพื้นๆที่เราอาจเคยผ่านตาจากเกมอื่นๆกันมาบ้างแล้ว เน้นใช้คอมมอนเซนส์ทั่วไปในการแก้ มองปราดเดียวก็รู้ได้เลยว่าต้องเอาอันนี้ไปใส่ตัวนั้น เก็บสิ่งนี้ไว้ใช้กับตรงนั้น เรียกได้ว่าใส่มาแค่ให้สมองได้คิดนิดๆหน่อยๆพอเป็นพิธีเท่านั้น ไม่ได้ยากเย็นถึงขั้นปวดหัวมึนตึ้บต้องไปตั้งกระทู้ถามหรือเสิร์ชหาวิธีผ่านเอาจากกูเกิล
เนื่องด้วยความที่มันเป็นเกมอินดี้ ไม่ใช่เกมทุนสร้างสูงระดับ AAA กราฟิกในเกมจึงอาจดูแล้วไม่รู้สึกว้าว ไม่ได้รู้สึกงามตาเท่าไหร่นักเมื่อเทียบกับเกมอื่นๆในท้องตลาด แต่ถือว่ามันก็อยู่ในเกณฑ์ที่พอรับได้ ไม่ได้เลวร้ายมากมาย คุณภาพเท่าเดิมเหมือนกับภาคแรกไม่ได้มีอะไรสวยขึ้นหรือแย่ลง และมีปัญหาติดขัดกวนใจอยู่บ้างตามประสาเกมอินดี้ เช่นบางทีตัวละครก็โผล่เข้ามาในฉากแบบผิดคิว หรือบางจังหวะโหลดนานจนนึกว่าเกมค้างก็มี พูดได้ว่าคนที่จะเล่นเกมนี้ได้ต้องมีความอดทนอดกลั้นสูงในระดับหนึ่งเลยทีเดียว
เรื่องเสียงประกอบ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างบรรยากาศให้กับเกมแนวสยองขวัญ ซึ่งเกมนี้ก็พร้อมจัดมาให้คุณ ถึงแม้ฟังดูจะเป็นเสียงเอฟเฟกต์ง่ายๆง่อยๆไปหน่อยก็ตาม อย่างเช่นดนตรีชวนหลอนที่จะบรรเลงขึ้นมาตอนตัวเราเข้าใกล้จุดน่าสนใจเท่านั้น พอขยับถอยห่างเพียงก้าวเดียวก็เงียบหายไป หรือว่าจะเป็นการพยายามจำลองเสียงรอบทิศทางให้เรารู้ตำแหน่งของศัตรูที่ไม่ค่อยสมจริงสมจังสักเท่าไหร่ เวลาศัตรูเดินอยู่นอกห้องเรากลับได้ยินเสียงเท้าของเขาชัดเจนจนหลงคิดว่ายืนอยู่ข้างๆ อีกทั้งทางทีมงานก็ชอบจังไอ้ฉากจัมป์สแกร์เนี่ย เน้นเร่งเสียงดังๆให้ผู้เล่นสะดุ้งโหยงตกใจทั้งๆที่สิ่งที่อยู่ตรงหน้ามันไม่ได้น่ากลัวอะไรเลย จะหัวใจวายก็เพราะซาวด์เอฟเฟกต์แสบแก้วหูของพวกเอ็งนี่แหละ หากใครไม่อยากหัวเสียแบบเราก็แนะนำให้ถอดหูฟังเล่นผ่านลำโพงทีวีธรรมดาไปจะดีกว่า
แน่นอนว่า จุดขายดึงดูดหลักของเกมที่ทุกคนสนใจย่อมอยู่ที่เรื่องของ ซับไตเติ้ลภาษาไทย ที่ทางค่ายผู้จัดจำหน่ายโหมโปรโมทกันอย่างหนักหน่วง และก็ไม่ทำให้พวกเราต้องผิดหวังด้วยคุณภาพการแปลที่เน้นอ่านรู้เรื่องเข้าใจง่ายสื่อความหมายได้ตรงประเด็น ทำให้เนื้อหาเรื่องราวที่ค่อนข้างซับซ้อนซ่อนเงื่อนของเกมกลายเป็นสิ่งที่ใครๆก็สามารถเข้าถึงคล้อยตามได้ แม้จะไม่เคยสัมผัสภาคแรกมาก่อน ถึงมันจะไม่ได้เพอร์เฟกต์สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซนต์ มีบางคำที่แปลผิดแปลตรงตัวไปบ้าง เช่น สำนวน Don’t Buy ที่หมายถึงไม่เชื่อ ดันแปลเป็นไม่ซื้อ หรือการเลือกใช้คำสรรพนามว่า “คุณ” แทนทุกคนที่ตัวละครพูดด้วย บางทีมันก็ฟังดูตะหงิดๆเวลาเพื่อนสนิทคุยกัน หากลองเปลี่ยนมาใช้คำว่า “เธอ” คงจะลื่นหูเหมาะสมกับซีรีส์เกมสยองนี้ที่เต็มไปด้วยตัวละครเพศหญิงเสียมากกว่า แต่ยังไงซะภาพรวมการแปลภาษาไทยก็ยังคงอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ
และนั่นก็เป็นเพียงเรื่องเดียวที่เกมนี้ทำได้ดี เพราะอะไรอย่างอื่นนอกเหนือจากนั้นล้วนแล้วต่ำกว่ามาตรฐานแทบทั้งสิ้น ตั้งแต่ Tutorial ที่สอนผู้เล่นแบบผ่านๆลวกๆ เรื่องเบสิคพื้นๆที่เรารู้อยู่แล้วกลับสอน แต่เรื่องระบบใหม่ๆแปลกตากลับไม่ การเล่าเรื่องก็สลับไทม์ไลน์ไปมาปะติดปะต่อลำบากชวนสับสน การดีไซน์ออกแบบเลเวล-ปริศนา-วิธีผ่านก็ไม่ค่อยเมคเซนส์เท่าไหร่ เกจ Stamina ที่เพิ่มมาด้านขวาที่ใช้สำหรับการวิ่งเร็ว พอใช้จนหมดเกจตัวละครก็ยังสามารถวิ่งปร๋อได้ตามปกติไม่มีอะไรเกิดขึ้น เหมือนใส่เกจมาประดับไว้ให้ดูต่างหน้าขำๆ แถมตัวเกมยังอุดมไปด้วยบัคปัญหามากมาย เล่นไปเดี๋ยวก็สะดุดเดี๋ยวก็ติดขัด เรียกได้ว่า Broken สมชื่อเกมจริงๆ
"ต่อให้เกม Remothered: Broken Porcelain นี้จะโดนกระแสด้านลบ โดนเสียงวิพากย์วิจารณ์สับเละสักเพียงใด ยังไงมันก็ต้องมีภาคต่ออย่างน้อยอีกหนึ่งภาคออกมาให้พวกเราได้เล่นกันอีกในอนาคต ตามแผนแม่บท “ไตรภาค” ที่ทางทีมผู้พัฒนาวาดไว้ตั้งแต่ต้น ซึ่งเราคงได้แต่ภาวนาเฝ้าหวังว่า ประวัติศาสตร์มันจะไม่ซ้ำรอยเดิม ย่ำแย่ติดต่อกันเป็นแฮตทริคของพวกเขา"
เกมการเล่น | 5 |
กราฟิก | 6 |
เสียง | 6 |
ความคิดสร้างสรรค์ | 6 |
ภาพรวม | 5.8 |
ข้อดี : ผูกปมเนื้อหาได้น่าสนใจ, มีซับไตเติ้ลภาษาไทย (เฉพาะคอนโซล) และทำเราสะดุ้งตกใจอยู่เป็นระยะ
ข้อเสีย : วิธีนำเสนอ-การดำเนินเรื่องยังต้องปรับปรุงอีกมาก, กราฟิกดูเชยล้าสมัยทั้งที่ใช้ Unreal Engine, เกมเพลย์หลบซ่อนแสนธรรมดาไม่มีอะไรโดดเด่น, บังคับให้ต้องวิ่งหนีจนตัวเกมจืดชืดขาดมิติ, เกจ Stamina ที่มีไว้ประดับหน้าจอเฉยๆ และสารพันปัญหาที่ยังแก้ไม่เสร็จ
Shin
สนับสนุนบทความรีวิวโดยบริษัท Ripples
*ทีมงานผู้จัดการเกม เรียนเชิญผู้อ่านทุกท่านร่วมเป็นแฟนเพจ ManagerGame ทางเฟซบุ๊กเพื่อเพิ่มช่องทางการรับรู้ข่าวสารวงการเกมครับ*