xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวปลอม! แอป Air4thai ของกรมควบคุมมลพิษ ตั้งค่าเฉลี่ยตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 ต่ำกว่ามาตรฐาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากที่แชร์ข้อมูลแอป Air4thai ตั้งค่าเฉลี่ยตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 ต่ำกว่ามาตรฐาน ทางกรมควบคุมมลพิษ ชี้แจงว่าแอปพลิเคชัน Air4thai ของกรมควบคุมมลพิษ ไม่ได้ตั้งค่าเฉลี่ยตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 ต่ำกว่ามาตรฐาน อีกทั้งได้ใช้เครื่องมือในการตรวจวัด ที่เป็นไปตามค่ามาตรฐาน ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนด และสอดคล้องกับการรายงานสถานการณ์มลพิษทางอากาศแต่ละชนิดตามมาตรฐานสากลที่ใช้กันทั่วโลก

วันนี้ (13 พ.ย.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีข้อมูลแนะนำ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง แอป Air4thai ของกรมควบคุมมลพิษ ตั้งค่าเฉลี่ยตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 ต่ำกว่ามาตรฐาน ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

จากที่มีผู้แชร์ข้อความว่า ในขณะที่สภาพอากาศแย่ แอปพลิเคชัน Air4thai ของกรมควบคุมมลพิษ กลับแสดงสีเขียว แตกต่างจากแอปของเอกชนที่แสดงสีแดง จึงมีการตั้งข้อสงสัยว่าแอป Air4thai ของภาครัฐมีการตั้งค่าเฉลี่ยตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน และเมื่อกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ตรวจสอบแล้ว ชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง วิธีการรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศประจำวันของประเทศไทย ในแอปพลิเคชัน Air4Thai ที่สามารถเลือกดูข้อมูลผลการตรวจวัดได้ทั้งค่ารายชั่วโมง และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงนั้น ใช้เครื่องมือในการตรวจวัด ที่เป็นไปตามค่ามาตรฐาน ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนด

โดยวิธีการตรวจวัดและวิธีเก็บตัวอย่างต้องเป็นไปตาม Federal Equivalent Method (FEM) ที่องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (United States Environmental Protection Agency: US EPA) กำหนด และสอดคล้องกับการรายงานสถานการณ์มลพิษทางอากาศแต่ละชนิดตามมาตรฐานสากลที่ใช้กันทั่วโลก

ทั้งนี้ การรายงานสถานการณ์มลพิษทางอากาศโดยใช้ค่าเฉลี่ยต่อเนื่องนั้น เป็นการรายงานเพื่อประเมินระดับความเป็นพิษของมลพิษทางอากาศที่มนุษย์ได้รับสัมผัสและได้รับสะสม โดยมลพิษแต่ละชนิดจะมีผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์แตกต่างกันหากได้รับมลสารต่าง ๆ เข้าไปในร่างกายตามระยะเวลาที่ได้รับการสัมผัสและสะสม ซึ่งเป็นหลักในการรายงานที่ใช้กันในระดับสากล เช่น การใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงต่อเนื่อง ในการรายงานค่าปริมาณ PM2.5 และ PM 10 ส่วนการรายงานค่าปริมาณมลพิษทางอากาศตัวอื่นๆ โดยใช้ค่าเฉลี่ยตามช่วงเวลาที่แต่ละพารามิเตอร์กำหนดเอาไว้ เช่น ปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์(CO) จะใช้ค่าเฉลี่ย 8 ชั่วโมงต่อเนื่องในการรายงานค่า เป็นต้น ส่วนแถบสีที่ใช้แสดงระดับปริมาณสารมลพิษทางอากาศ และค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) นั้น จะมีความแตกต่างกันตามที่แต่ละประเทศได้กำหนดเอาไว้ โดยมี วัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและแยกแยะระดับมลพิษทางอากาศจากแถบสีที่ชัดเจน เช่น แถบสีที่ประเทศแคนาดา กำหนดใช้ในประเทศจะมีทั้งหมด 11 เฉดสี ฮ่องกงใช้ 5 เฉดสี สาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้และอินดียใช้ 6เฉดสี สหราชอาณาจักรใช้4 เฉดสี10ระดับ และประเทศไทย 5 เฉดสี 5 ระดับ เป็นต้น

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมควบคุมมลพิษ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.pcd.go.th หรือโทร. 02 2982000

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : แอปพลิเคชัน Air4thai ของกรมควบคุมมลพิษ ไม่ได้ตั้งค่าเฉลี่ยตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 ต่ำกว่ามาตรฐาน อีกทั้งได้ใช้เครื่องมือในการตรวจวัด ที่เป็นไปตามค่ามาตรฐาน ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนด และสอดคล้องกับการรายงานสถานการณ์มลพิษทางอากาศแต่ละชนิดตามมาตรฐานสากลที่ใช้กันทั่วโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น