xs
xsm
sm
md
lg

พอร์ตเกมลง "Xbox One" ไมได้ราคาถูกอย่างที่คิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"เจมี่ ไฟร์สตรอม" เจ้าของสตูดิโอ "Happion Laboratories" ใช้เงินถึง 5,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 165,000 บาท เพื่อพอร์ตเกม "Sixty Second Shooter" จากพีซีไปลงเครื่อง Xbox One ผ่านโครงการ "ID@Xbox program" พร้อมยอมรับว่าเป็นราคาที่สูงแต่มันก็คุ้มกับจำนวนยอดผู้เล่นจำนวนมาก

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2013 "ไมโครซอฟต์" ได้เปิดตัวโครงการ "ID@Xbox program" ขึ้นเพื่อให้ทีมพัฒนาเกมอิสระมีโอกาสทำเกมแล้วส่งมาให้เล่นบนเครื่อง "Xbox One" โดยทีมพัฒนาที่เข้าร่วมโครงการจะได้ชุดพัฒนาเกมไปใช้สร้างเกมจำนวน 2 ชุดฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งก็มีทีมพัฒนาเกมเข้าร่วมโครงการนี้มากกว่า 200 สตูดิโอ

ล่าสุด "เจมี่ ไฟร์สตรอม" เจ้าของสตูดิโอ "Happion Laboratories" ได้เปิดเผยข้อมูลด้านค่าใช้จ่ายเพื่อพอร์ตเกม "Sixty Second Shooter" จากพีซี มาลงเครื่อง Xbox One ผ่านโครงการ "ID@Xbox program"

เจมี่ เปิดเผยว่าตั้งแต่ที่ไมโครซอฟต์เริ่มเปิดตัวโครงการออกมา พร้อมประกาศว่าจะให้ชุดพัฒนาเกมไปใช้ฟรีนั้น ทำให้ทีมพัฒนาเกมขนาดเล็กที่ไม่มีทุนมากนัก ไม่มีออฟฟิศ เกิดความหวังว่าจะสามารถนำเกมไปลงเครื่อง Xbox One ด้วยราคาที่ถูกแสนถูก แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่

เกม Sixty Second Shooter Prime ของเจมี่ได้เปิดตัวลงเครื่อง Xbox One เมื่อเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเจมี่ก็ได้เปิดเผยรายละเอียดค่าใช้จ่ายทั้งหมดกว่าจะได้เปิดให้เล่นบนเครื่องคอนโซลรุ่นใหม่ของไมโครซอฟต์

รายละเอียดค่าใช้จ่าย
-การครอบครองดูแล URL ของเกม Sixty Second Shooter = 19 เหรียญสหรัฐ
-ค่าใช้จ่ายการส่งชุดพัฒนาเกม = 63 เหรียญสหรัฐ
-ฮาร์ดแวร์ที่ประกอบไปด้วยอุปกรณ์ต่างๆ = 72 เหรียญสหรัฐ
-อุปกรณ์แคปเจอร์วิดีโอสำหรับทำเทรลเลอร์ตัวอย่างเกม = 181 เหรียญสหรัฐ
-ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการแปลภาษาเกม (ฝรั่งเศส , สแปนิช , อิตาเลี่ยน และโปรตุกิส) = 729 เหรียญสหรัฐ
-การประกันที่ครอบคลุมถึงเรื่องลิขสิทธิ์เกม = 2,037 เหรียญสหรัฐ
-การจัดเรตติ้งเกม(PEGI, USK) = 2,042 เหรียญสหรัฐ
-รวม = 5,143 เหรียญสหรัฐ

เจมี่ระบุว่าค่าใช้จ่ายระดับ 5,000 เหรียญสหรัฐเพื่อพอร์ตเกมลงเครื่อง Xbox One ถือเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งเจมี่ได้เปิดเผยในรายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่่ค่อนข้างสูง อย่าง ค่าประกัน Error and Omission Insurance จำนวน 2,037 เหรียญสหรัฐที่ไมโครซอฟต์บังคับ ในส่วนนี้เมื่อทำแล้วจะครอบคลุมถึงการป้องกันลิขสิทธิ์เกมด้วย การทำประกันแบบนี้สามารถหาแบบราคาถูกๆได้ทางออนไลน์แต่มันจะไม่เหมาะสมเท่าไร โดยเขาเลือกใช้โบรกเกอร์ประกันภัยแทนและพยายามหาโบรกเกอร์ประกันภัยที่ราคาถูกที่สุดและมีความเหมาะสม

ค่าใช้จ่ายของการจัดเรตติ้งเกมก็ค่อนข้างสูงอยู่ที่ 2,042 เหรียญสหรัฐ ซึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดเรตติ้งเกมของ PEGI และ USK ที่ดูแลการจัดเรตติ้งเกมในยุโรป หากจะจำหน่ายในพื้นที่อื่นก็ต้องติดต่อกับหน่วยงานจัดเรตติ้งในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งบางพื้นที่ค่าจัดเรตติ้งเกมอาจจะแพงกว่าค่าใช้จ่ายในการแปลภาษาเกมเสียอีก เจมี่มีแผนจะนำเกมไปวางจำหน่ายที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ แต่ค่าใช้จ่ายในการจัดเรตติ้งทั้ง 2 ประเทศ คิดประเทศละประมาณ 2,000 เหรียญสหรัฐ เจมี่จึงพับแผนขยายเกมไปใน 2 ประเทศดังกล่าวไว้ก่อน รอให้เกมมีรายได้เข้ามาก่อน

ด้านค่าใช้จ่ายในการแปลภาษาจำนวน 729 เหรียญสหรัฐนั้น ทีมพัฒนาสามารถเลือกได้ หากไม่ต้องการแปลเป็นหลายภาษามากนัก และไม่ต้องการไปวางจำหน่ายเกมในหลายพื้นที่ ก็จะประหยัดในส่วนของค่าแปลภาษาและค่าจัดเรตติ้งเกมไปได้ ซึ่งอาจจะทำให้ค่าใช้จ่ายทั้งหมดต่ำกว่า 3,000 เหรียญสหรัฐ

แม้ค่าใช้จ่ายรวมจะสูงสำหรับทีมพัฒนาอิสระ แต่เจมี่มองว่าการจ่ายไปนั้นคุ้มค่า ทั้งที่ตอนนี้เจมี่เองก็ยังไม่ได้รับรายงานจากไมโครซอฟต์เรื่องยอดขายเกม Sixty Second Shooter แต่เจมี่เองก็เข้าไปเห็นในกระดานอันดับคะแนนของเกมมีคนเข้ามาเล่นเกมของเขามากกว่า 1 หมื่นคน ซึ่งจากยอดผู้เล่นขนาดนี้ก็น่าจะมีรายได้กลับมาคุ้มทุนและเลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทีมพัฒนาอิสระน้อยทีมนักที่จะได้สัมผัส สุดท้ายเจมี่ก็ยอมรับว่าเขาดีใจที่ได้เข้าร่วมกับโครงการ ID@Xbox ของไมโครซอฟต์

ข้อมูลและภาพประกอบจาก
gamespot.com
ign.com



*ทีมงานผู้จัดการเกม เรียนเชิญผู้อ่านทุกท่านร่วมเป็นแฟนเพจ ManagerGame ทางเฟซบุ๊กเพื่อเพิ่มช่องทางการรับรู้ข่าวสารวงการเกมครับ*


กำลังโหลดความคิดเห็น