ถ้าพูดถึง "รองเท้านินจา" หลายคนก็คงนึกถึงภาพยนตร์ แต่คุณเชื่อหรือไม่ว่าวันนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทย สามารถสร้างแบรนด์รองเท้านินจา จนเป็นที่รู้จักได้รับการตอบรับไปทั่วอาเซียน ภายใต้แบรนด์ "CS Shoe"
รองเท้านินจา cs shoe เกิดขึ้นมาจาก เธอคนนี้ "รัตตินันท์ สวัสดิวรนันท์" ได้บุกเบิกสร้างแบรนด์รองเท้านินจา ขึ้นมา เพียงเพื่อให้เกษตรกรได้มีทางเลือกในการใช้รองเท้าคุณภาพ ในราคาที่ไม่สูงมากนัก ซึ่งหมายถึงความปลอดภัยของเกษตรกรด้วย เนื่องจากรองเท้า ถือเป็นสิ่งสำคัญที่เกษตรกรจำเป็นจะต้องใช้ในการออกไปทำงาน ถ้ารองเท้าไม่ดี ไม่ได้แค่ต้องเสียเงินเพิ่มซื้อใหม่ แต่อาจจะทำให้เขาได้รับอันตรายบาดเจ็บได้
ดังนั้น "รัตตินันท์" ได้มีโอกาสคลุกคลีกับเกษตรกรเป็นอย่างดี เพราะอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรม อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ได้ตัดสินใจ ทุ่มเทเวลาในการศึกษา เรื่องราวของรองเท้านินจา และผลิตออกมาจำหน่าย
ในช่วงเริ่มต้น “รัตตินันท์” บอกว่า อาศัยถามเกษตรกรที่สวมใส่รองเท้าลักษณะนี้ ว่าเจอปัญหาอะไรบ้าง ในการสวมรองเท้านินจาที่ขายตามท้องตลาด และเราก็นำสิ่งเหล่านั้นมาปรับปรุง ถึงทุกวันนี้ เธอก็ยังไม่หยุดที่จะพัฒนารองเท้านินจาของเธอให้ได้ออกมาดีที่สุด เพราะทุกครั้งที่เห็นเกษตกรมีความสุขในการสวมรองเท้า cs shoe เธอบอกว่า มีความสุขแล้ว
สำหรับรูปแบบของรองเท้านินจา cs shoe ใช้การตัดเย็บด้วยมือ เป็นลักษณะของงานแฮนด์เมด มีเครื่องไม้เครื่องมือ เครื่องจักรมาช่วยบ้าง เพื่อความรวดเร็ว แต่ก็ไม่ได้เหมือนโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ทีมีเครื่องจักรในการผลิต ดังนั้น ทุกคู่จะต้องผ่านมือของช่างในการประกอบรองเท้า และทดลองสวมใส่ เช่นเดียวกับการตัดเย็บรองเท้าแบรนด์เนมดังๆ ปัจจุบัน ใช้การตัดเย็บด้วยมือในลักษณะนี้ เพื่อให้ผู้สวมใส่ได้สบายที่สุด
ทั้งนี้ ที่แตกต่าง อย่างเห็นได้ชัดเจน การเลือกใช้วัตถุดิบ ใช้ผ้าหนังไก่ ซึ่งมีคุณสมบัติเนื้อผ้าเหนียวทน ไม่ขาดหยุ่ยง่าย รวมถึงแผ่นรองเท้า เลือกใช้ยางพาราที่มีความยืดหยุ่น และมีคงทนเช่นกัน รวมถึงการออกแบบดีไซน์ การออกแบบเชือกรัด ที่ช่วยยึดรองเท้า กับตัวบูทผ้าให้ไม่รูดหลุดออกจากกัน และทั้งหมดที่กล่าวมา คุณรัตตินันท์ใช้เวลาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์นานถึง 8 ปี
“รัตตินันท์” เล่าถึงการทำตลาด ว่า เริ่มจากเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดราชบุรี และจังหวัดใกล้เคียง โดยการนำไปฝากร้านที่ขายรองเท้าลักษณะนี้ อยู่แล้ว ซึ่งเกษตรกรเขาต้องใช้อยู่แล้ว พอมีแบบใหม่มา และราคาไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่คุณภาพดีกว่า เขาก็ทดลองไปซื้อใช้ หลังจากนั้น เกิดการบอกแบบปากต่อปาก เกษตรกรที่เคยส่วนใหญ่ชื่นชอบ และกลับมาซื้ออีก โดยที่เราเองก็ไม่ได้มีการทำประชาสัมพันธ์อะไร ทุกอย่างเกิดจากคุณภาพของสินค้าขายตัวมันเอง
สำหรับกลุ่มลูกค้า ปัจจุบันขยายไปเรื่อย เพราะได้มีโอกาสนำสินค้ามาแนะนำให้คนเมืองหลวงที่ไม่ใช่เกษตรกรได้รู้จัก ทำให้เราได้กลุ่มลูกค้าที่ต้องเดินทางไปท่องเที่ยว ลุยป่า รวมถึงกลุ่มลูกค้าที่ต้องปลูกป่าไม้โกงกาง ได้รับการตอบรับดีมากจากกลุ่มนี้ เพราะรองเท้านินจา cs เมื่อลงโคลนจะไม่ดูด เหมือนรองเท้าบูทที่เป็นพลาสติก ในอนาคตอันใกล้นี้ มีแผนที่จะทำรองเท้าแฟชั่น ที่ทำให้ลูกค้าสามารถสวมใส่ท่องเทียวได้ ในลักษณะของบูทผ้า ปัจจุบันมีผู้ที่ทำรองเท้าบูทผ้าออกมาไม่กี่ราย เราเชื่อว่า น่าจะได้รับการตอบรับจากลูกค้าได้ไม่ยาก
“รัตตินันท์” เล่าถึงความสำเร็จในครั้งนี้ ว่า อยู่ในระดับที่ประสบความสำเร็จเกินคาด เพราะปัจจุบันนอกจากตลาดในประเทศ กลุ่มเกษตรกร และยังได้รับการตอบรับจากกลุ่มคนทั่วไป หลังจากประสบความสำเร็จในประเทศ ยังได้มีโอกาสนำสินค้าไปเสนอประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน และไม่ผิดหวัง เพราะเกษตรกร พม่า กัมพูชา ลาว ต่างให้การตอบรับเป็นอย่างดี เพราะที่บ้านเขายังไม่มีผู้ผลิตรองเท้าแบบนี้ออกมาจำหน่านอกจากนี้ ประเทศภูฏาน ซึ่งประชาชนของเขาสวมใส่รองเท้าลักษณะนี้ กันทั้งประเทศ ให้ความสนใจ และชื่นชอบรองเท้าของเรา เพราะสวมใส่สบาย และเป็นอีกประเทศหนึ่ง ที่กำลังจะเข้าไปทำตลาดอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ ใครได้รู้จัก cs shoe จะรู้ว่า เขาเริ่มต้นมาจากสินค้าโอทอป รัตตินันท์ และสามีเคยทำงานประจำ และในช่วงแรก ทั้งสองทำรองเท้าควบคู่ไปกับงานประจำ โดยช่วยกันออกแบบ และสามีทำหน้าที่ตัดเย็บเอง และแจกจ่ายงานให้กับชาวบ้านในชุมชน
"ที่เราเป็นสินค้าโอทอป เพราะเราดึงภูมิปัญญาของท้องถิ่น ขึ้นมาปรับปรุง เพื่อให้ดีขึ้น จนปัจจุบันนี้ ได้ขยับขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างเต็มตัว"
เธอและสามีได้ลาออกจากงานประจำ ตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มทำ เพราะยอดขายเป็นที่พอใจ สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ และจากผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขยับมาเป็นผู้ประกอบการขนาดกลาง ในวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจาก ใส่ใจคุณภาพให้ความสำคัญกับลูกค้า และศึกษา พัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง
นี่คือ ตัวอย่างความสำเร็จของโอทอปสู่เอสเอ็มอี ในการที่จะก้าวเข้าไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในอนาคตอันใกล้นี้
โทร. 08-0427-8513
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *