ปลัดสำนักนายกฯ เปิดประชุมป้องกันภัยตึกถล่ม เผย หน.คสช.ห่วง จึงให้เชิญหน่วยเกี่ยวข้องถก ไม่อยากให้วัวหายล้อมคอก ชี้พบปัญหามีแรงงานหญิงท้อง เด็ก พร้อมเอาผิดไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง เยียวยามีระเบียบอยู่แล้ว เย็นนี้นำข้อสรุปรายงาน หน.คสช. รับไม่รู้มาก่อนถูกตั้งเป็น กก.สรรหา สปช. หวังออกมาเป็นมืออาชีพ เปรียบเป็นสถาปนิกของชาติ ปัดถูกทาบนั่ง รมต.
วันนี้ (14 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 13.00 น. ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือการป้องกันและแก้ไขปัญหาการอุบัติภัยจากอาคารถล่มและการดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตัวแทนจังหวัดปทุมธานี กระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย(ปภ.) กรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้แทนกระทรวงแรงงาน สมาคมประกันวินาศภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดย ม.ล.ปนัดดากล่าวก่อนการประชุมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีความห่วงใยเรื่องดังกล่าวจึงมอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นหน่วยงานกลาง ให้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมเพื่อรับทราบข้องปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด ทั้งเรื่องมาตรการต่างๆ ที่มีปัญหาติดขัดอย่างไร และเป็นการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นอุทาหรณ์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่อยากให้เป็นวัวหายแล้วล้อมคอก ขณะเดียวกัน ปัญหาที่พบคือ ปัญหาแรงงาน ที่มีทั้งแรงงานหญิงตั้งครรภ์ ที่ตามหลักแล้วไม่สมควรอนุญาตให้มาทำงานในลักษณะดังกล่าว หรือแม้กระทั่งเด็กเล็ก รวมถึงแรงงานต่างชาติที่ผิดกฎหมายและเกิดการสูญเสียในครั้งนี้
ม.ล.ปนัดดากล่าวอีกว่า การประชุมวันนี้จะเป็นการพูดคุยมาตรการและการช่วยเหลือให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งเรื่องของการอนุมัติรูปแบบผังเมืองต่างๆ จากนี้ไปต้องเข้มงวดกวดขัน โดยท้องถิ่นจังหวัด และภูมิภาคต้องทำงานร่วมกัน และรวมถึงการหารือในมาตรการต่างๆ ให้ครอบคลุมการซื้อขายอาคารสูง คอนโดมิเนียม เพื่อให้ประชาชนสามารถเลือกใช้บริการบริษัทรับเหมาก่อสร้างได้อย่างมั่นใจมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะสามารถลงโทษกับผู้ที่กระทำผิดได้โดยตรงหรือไม่ ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะรายงานต่อที่ประชุม ซึ่งอะไรที่เป็นความผิดและไม่ถูกต้อง จะไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง ซึ่งความรับผิดชอบนี้จะต้องดูแลร่วมกัน สำหรับแนวทางการเยียวยานั้นจะใช้ระเบียบที่ ปภ.มีอยู่แล้ว โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนวยการบริหารจัดการ อย่างไรก็ตาม เย็นวันนี้จะนำข้อรายงานผลสรุปการประชุมเสนอให้หัวหน้า คสช. เพื่อให้ได้รับทราบว่าการแก้ไขปัญหาสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที หรือมีข้อขัดข้องอย่างไร เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้นในอนาคตเพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ
ทั้งนี้ในที่ประชุม นายวิบูลย์ หัตถกิจโกศล ปลัดจำหวัดปทุมธานี กล่าวในที่ประชุมว่า จากเหตุการณ์มีผู้อยู่ในอาคาร 39 ราย ซึ่งเสียชีวิตแล้ว10 ราย ซึ่งการค้นหายังไม่สิ้นสุด โดยการแก้ไขสถานการณ์หลังเกิดเหตุเป็นที่น่าพอใจแต่ยังไม่ดีมากนัก นอกจากนี้ยังพบปัญหาด้านงบประมาณ เนื่องจากมีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือจำนวนมาก ซึ่งระเบียบกระทรวงการคลังไม่มีรองรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
ด้าน นายเสถียร เจริญเหรียญ ผอ.สำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง เสนอว่า ต้องมีการปรับปรุงกฏหมายเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำขึ้นอีก และขอให้กระทรวงมหาดไทยกำชับเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ทำตามขั้นตอน และควบคุมการทำงานตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด
ขณะที่ ตัวแทน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ระบุว่า ได้มีการระงับการก่อสร้างอาคารใกล้เคียงกับอาคารที่เกิดเหตุ เพื่อให้การดำเนินสะดวกขึ้น ในอนาคตควรจะมีการจัดอบรม ให้ความรู้กับนายช่าง และวิศวกร ที่รับผิดชอบ
นายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า เป็นความรับผิดชอบของนายจ้างที่จะต้องจัดสถานที่ให้มuความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ซึ่งปัญหาในกรณีนี้ยังไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบ โดยเฉพาะประเด็นที่ภรรยาและลูกของผู้รับเหมา ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างแต่เข้าไปอยู่ในพื้นที่ และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฏหมาย ทั้งนี้ในส่วนของแรงงานมีทั้งคนไทย และชาวกัมพูชาที่มีทั้งเข้ามาอย่างถูกต้องและไม่ถูกต้อง โดยในส่วนที่ถูกต้องก็จะมีประกันสังคมเข้ามาดูแล แต่ผู้ที่เข้ามาไม่ถูกต้องตนยืนยันว่าต้องได้รับการดูแลเช่นเดียวกัน เพื่อป้องกันการเป็นประเด็นระหว่างประเทศหากมีการการทวงถามจากประเทศกัมพูชา รวมถึงต้องดำเนินการหาผู้รับผิดชอบไปพร้อมกันเพื่อดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญา
นายสุวิทย์ กล่าวต่อว่า จากเหตุการณ์นี้ตนเสนอว่า ปัญหาจากการลงพื้นที่เข้าช่วยเหลือ คือข้อจำกัดในด้านพื้นที่และมีหลายหน่วยงานระดมเข้าดำเนินพร้อมกันในคราวเดียวจึงทำให้การสั่งการเกิดความสับสน ประกอบกับการมีผู้ไม่เกี่ยวข้องอยู่ในพื้นที่จำนวนมากโดยเฉพาะสื่อมวลชน ซึ่งการเสนอข่าวในเหตุการณ์ลักษณะนี้ควรตั้งศูนย์กลางให้มีการนำเสนอไปในทิศทางเดียวเพื่อลดความสับสนในสังคม รวมถึงควรจะมีแพทย์เฉพาะทางเวชยศาสตร์ฉุกเฉินที่เชี่ยวชาญเพิ่มมากขึ้น ที่ขณะนี้จำนวนที่มีไม่เพียงพอ
นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) กล่าวว่า สคบ.จะดำเนินการตรวจสอบสัญญาการซื้อขายห้องในอาคารนี้ โดยจะประสานผู้ประกออบการและทำหน้าที่เจรจาแทนผู้บริโภค ซึ่งคาดว่าจะขอยกเลิกสัญญาแน่นอน เนื่องจากมีเหตุผลเพียงพอ โดยสคบ.จะเจราจาให้ผู้ประกอบการคืนเงินดาวน์หรือเงินจองห้องให้กับผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในอาคารอื่นในโครงการเดียวกันมาร้องสคบ.เนื่องจากไม่มั่นใจในความปลอดภัย ซึ่งสคบ.จะดำเนินการเจราเพื่อให้เป็นที่พอใจทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม ตนขอฝากไปยังเจ้าหน้าที่ผู้อนุมัติโครงการต่างๆให้มีการเคร่งครัดในการตรวจสอบ ซึ่งเรื่องที่มาร้องสคบ.มากที่สุดก็คือเรื่องของอสังหริมทรัพย์ตนจึงเห็นว่าควรแก้ปญหากันที่ต้นทาง
ด้าน นายสิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการวิศกรรมสถานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการนี้เจ้าของมีการขออนุญาติดำเนินการอย่างถูกต้อง แต่ยังคงเกิดปัญหาเนื่องจากผู้ควบคุมการก่อสร้างไม่ศึกษาแบบให้ชัดเจน ซึ่งตามหลักแล้วผู้ควบคุมงานต้องอยู่ในพื้นที่ติดตามการก่อสร้างอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง แต่ในกรณีวันเกิดเหตุผู้ควบคุมไม่อยู่ในพื้นที่
"คนที่อยู่ในอาคาร1และ2 ที่สามารถเข้าอยู่ได้แล้วและมีโครงสร้างสมประกอบก็ถือว่าไม่มี่ปัญหา แต่อาคารที่ 3 ที่อยู่ใกล้กับอาคารที่เกิดเหตุไม่ควรสร้างต่อ หรือให้มีผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวงสอบและแก้ไขเพื่อเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างเพราะอาจได้รับแรงสั่นสะเทือนจากการถล่มของอาคารที่เกิดเหตุ"
นายสิริวัฒน์ กล่าวต่อว่า สภาวิศวกรควรเข้มงวดกับตัววิศวกรและเพิ่มความรู้ให้ทันกับโครงสร้างอาคารที่มีการพัฒนาอยู่ตลอด และหากมีการเปิดเออีซีต้องมีความรัดกุมในการออกใบประกอบวิชาชีพ เนื่องจากอาจต้องทำงานประเทศเพื่อบ้านจะได้ไม่อายเขา นอกจากนี้การขึ้นทะเบียนของผู้รับเหมาก่อสร้างต่อสภาวิศวกรควรให้มีความเข้มงวด เนื่องจากมีเป็นแค่ระเบียบแต่ไม่มีกฏหมายรองรับ จึงมีผู้รับเหมาจำนวนมากละเลยเรื่องนี้
ด้าน นายกี่เดช อนันศิริประภา ตัวแทนสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า จากการตรวจสอบ พบว่าอาคารที่เกิดเหตุไม่มีการทำประกันภัย ซึ่งตนก็แปลกใจ จึงเสนอว่าให้กำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจนไปเลยว่าหากมีการก่อสร้างจะต้องมีการทำประกันภัย เช่นเดียวกับการออกพ.ร.บ.รถยนต์ เพราะจะช่วยเป็นการตรวจสอบอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะสามารถมีผู้รับผิดชอบเป็นสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียหาย
อย่างไรก็ตาม ม.ล.ปนัดดา ระบุว่า ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาระเบียบของหน่วยงานตัวเองให้มีความชัดเจนและมีสภาพบังคับให้อย่างเป็นรูปธรรม โดยทุกข้อเสนอจากที่ประชุมครั้งนี้ ตนจะนำเสนอคสช.เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนตามคำสั่งต่อไป
ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรียังให้สัมภาษณ์ถึงการได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านอื่นๆ ว่า ได้รับทราบคำสั่งตามที่ประกาศเมื่อคืนวันที่ 13 ส.ค. โดยไม่ได้รับการทาบทามมาก่อน ส่วนการประชุมในคณะที่ตนรับผิดชอบนั้นคาดว่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ขณะเดียวกัน ส่วนตัวอยากให้ สปช.ออกมาในรูปแบบที่เป็นมืออาชีพ เข้ามาช่วยกันคิดถึงข้อปัญหาทุกด้านทุกมุม การเป็นสปช.คือการเข้ามาเป็นสถาปนิกให้แก่ประเทศ วางรูปแบบความต้องการของผู้คนทุกสาขาอาชีพและทุกระดับชั้นโดยจะต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติ ดังนั้นหากเป็นสถาปนิกที่ดีได้จะต้องช่วยกันทำให้ภาพที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยพลเมืองเกิดการยอมรับซึ่งจะเป็นผลดีกับการบริหารประเทศต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการทาบทามให้มานั่งตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีแล้วหรือยัง ม.ล.ปนัดดากล่าวปฏิเสธว่า ยังไม่มีการทาบทามแต่อย่างใด