xs
xsm
sm
md
lg

LINE แชตเงินล้านทะลวง “เอ็มคอมเมิร์ซ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ขอดเกล็ดภาพใหญ่เส้นทางทำเงินต่อยอดธุรกิจ “ไลน์ (LINE)” วันนี้แอปพลิเคชันแชตสุดฮิตกำลังเดินหน้าบุกหนักตลาดเอ็มคอมเมิร์ซ หรือ Mobile Commerce เพื่อให้คนไทยสามารถซื้อสินค้าบน LINE ผ่านอุปกรณ์พกพาได้สะดวก ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ LINE เริ่มปูทางทำเงินทั้งในธุรกิจสติกเกอร์ ธุรกิจโฆษณา และธุรกิจร้านค้าขายปลีกระหว่างผู้บริโภคในหลายประเทศ ทั้งหมดจะทำให้ LINE มีแผนธุรกิจที่มั่นคง และมีภาษีที่ดีสำหรับแผนการพาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต

ปลายปี 2556 ที่ผ่านมา บริษัทวิจัยตลาดเชื่อว่า ปี 2557 จะเป็นปีทองของวงการแอปพลิเคชันรับส่งข้อความสนทนาบนอุปกรณ์พกพา หรือ Mobile Messaging Apps โดยมองว่าผู้ใช้แอปแชตรวมทั่วโลกจะเพิ่มจาก 1 พันล้านคน ในปี 2556 เป็น 2 พันล้านคนในปีนี้ ซึ่งการประเมินดังกล่าว เป็นการรวบรวมตัวเลขจากฐานผู้ใช้โปรแกรมแชตอย่างวอตส์แอป (WhatsApp) ในขณะนั้นที่มีราว 350 ล้านคนต่อเดือน, วีแชต (WeChat) ยอดผู้ใช้ 270 ล้านคนต่อเดือน และ LINE อีก 300 ล้านคนต่อเดือน รวมถึงอีกหลายแอปพลิเคชันที่มีผู้ใช้งานหลายล้านคน

วันนี้ตัวเลขผู้ใช้แอปพลิเคชันแชตเพิ่มก้าวกระโดด เฉพาะ LINE ฐานผู้ใช้ที่ LINE ประกาศในเดือนกรกฎาคม 2557 คือ 490 ล้านคนทั่วโลก ในจำนวนนี้เป็นคนไทยกว่า 29 ล้านคน

ฐานผู้ใช้มหาศาลนี้ คือ ขุมทรัพย์ที่ LINE จะสามารถตักตวง และต่อยอดธุรกิจได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ เพื่อให้บริษัทไม่จำเป็นต้องแบกรับค่าใช้จ่าย จากการดูแลระบบรับส่งข้อความที่มีสถิติทั่วโลกอยู่ที่มากกว่า 1 หมื่นล้านครั้งต่อวัน รวมถึงการส่งสติกเกอร์มากกว่า 1.8 พันล้านครั้งต่อวัน

LINE นั้นดูจะขานรับทุกรูปแบบธุรกิจที่แอปพลิเคชันแชตจะเอื้ออำนวย ทั้งการให้บริการเกม บริการโฆษณา บริการร้านขายสติกเกอร์ รวมถึงล่าสุดคือ ร้านค้าปลีกที่จะเปิดให้ผู้ใช้สามารถเป็นได้ทั้งนักชอป และเจ้าของร้าน ทั้งหมดนี้ทำให้ LINE ไม่ได้เป็นเพียงแอปพลิเคชันรับส่งข้อความอีกต่อไป จากเดิมที่รายได้หลักของ LINE มาจากการที่บริษัทเข้าไปติดต่อทางแบรนด์เพื่อสมัครใช้งานชื่อบัญชีทางการ หรือ Official Account เพื่อใช้เป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างแบรนด์และผู้ใช้งาน รวมกับการจำหน่ายสติกเกอร์ รวมถึงสิทธิพิเศษต่างๆ ภายในเกมบนแพลตฟอร์มของ LINE

***LINE Shop ขายในไทยแห่งแรกในโลก

LINE เปิดตัวแอปพลิเคชันใหม่ “ไลน์ ชอป (LINE Shop)” เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยดึงประเทศไทยเป็นตลาดแรกที่ประเดิมนำร่องโครงการนี้ โดยการันตีว่าเป็นบริการที่ผู้ใช้สามารถสวมบททั้งนักชอป และนักขายได้ง่ายๆ บนระบบไอโอเอส และแอนดรอยด์

“LINE Shop เปิดให้บริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ในการเข้าร่วม และไม่กำหนดจำนวนสูงสุดของสินค้าที่จะขาย โดยสินค้า และผู้ซื้อขายจะต้องอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น นักชอปสามารถสั่งซื้อสินค้า และผู้ขายสามารถตรวจสอบประวัติธุรกรรมได้ง่ายๆ ภายในแอปพลิเคชัน ผู้ใช้สามารถ login ได้โดยใช้ LINE ID และสามารถ login ได้โดยใช้ email address ในเครื่องอื่นๆ ผู้ซื้อ และผู้ขายสามารถใช้ LINE ID เดียวกันได้” เนื้อหาในจดหมายประชาสัมพันธ์ ระบุ

ร้านค้าของ LINE Shop สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ Sally Grade (ร้านค้าที่ได้รับการรับรองโดยผู้ขายจะต้องส่งเอกสารเพื่อยืนยันอัตลักษณ์) ได้แก่ ผู้ขายที่เป็นบริษัทเจ้าของแบรนด์, ผู้ขายที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เช่น ดารานักแสดง และเซเลบ รวมถึงห้างฯ ศูนย์การค้า หรือทีวีชอปปิ้ง อีกประเภทคือ ผู้ค้าประเภททั่วไป ซึ่งเป็นผู้ขายที่ไม่ได้จัดอยู่ในกรณีข้างต้น

หมวดสินค้าใน LINE Shop นั้นมีตั้งแต่เสื้อผ้าผู้หญิง-ชาย รองเท้า กระเป๋า เครื่องประดับ ความงาม บ้านและสวน สัตว์เลี้ยง อาหารและของใช้ แม่และเด็ก การท่องเที่ยว อุปกรณ์สำนักงาน หนังสือนิตยสาร ความบันเทิง รวมถึงศิลปะของสะสม และไอที

ดารา และเซเลบที่ร่วมเปิดร้านกับ LINE Shop แล้วคือ นิวจิ๋ว (Brandnew), โทนี่ รากแก่น (MiMi), ก้อยรัชวิน (Secondskin), แพนเค้ก (Sugar Moustache by Chacha & Leo, Babyrose), บี มาติกา (Manitashoes), กันต์ กันตถาวร (2morrowofficial) และพอลล่า (Paula and Baby)

ส่วนขอบเขตความรับผิดชอบของ LINE Shop ระบุว่า LINE Shop เป็นบริการออนไลน์ชอปปิ้ง ซึ่งผู้ใช้เป็นผู้รับผิดชอบธุรกรรม และผลที่เกิดขึ้นทั้งหมด ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย LINE Shop ไม่รับผิดชอบหรือมีพันธะผูกพันใดๆ ต่อธุรกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย

จุดนี้ น.ส.วารดี วสวานนท์ หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ ให้ข้อมูลเสริมว่า โครงการ LINE Shop เกิดขึ้นจากผู้ค้าในตลาดเอ็มคอมเมิร์ซมักแสดงชื่อบัญชี LINE ไว้ที่หน้าร้าน ดังนั้น LINE จึงต้องการเปิดทางสะดวกให้ผู้ค้า และนักชอปสามารถสื่อสาร และซื้อขายบน LINE Shop อย่างเป็นสัดเป็นส่วน จุดนี้ LINE ยังไม่มีการกำหนดส่วนแบ่งกำไรจากการขายใดๆ แต่คาดว่า LINE จะได้รับรายได้จากการลงโฆษณาของร้านค้าต่างๆ

LINE Shop ถือเป็นความพยายามครั้งล่าสุดหลังจากที่ผ่านมา LINE พยายามริเริ่มโครงการร้านขายสินค้าออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซบนแอปพลิเคชันอย่างจริงจัง ด้วยการเปิดจำหน่ายสินค้าในช่วงเวลาหนึ่ง (LINE Flash Sale) เช่น หน้ากาก หรือเคสสมาร์ทโฟน เครื่องสำอาง และสินค้าลายการ์ตูนลิขสิทธิ์จาก LINE โดย flash sale ลักษณะนี้มีการเปิดให้บริการแล้วในประเทศไทยและไต้หวัน ซึ่งเป็น 2 ตลาดต่างชาติที่ LINE ได้รับความนิยมมากที่สุด

***ต่อยอดจาก LINE Flash Sale

ผู้สนใจซื้อสินค้าบน LINE Shop จะต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันแยกเดี่ยว หรือ standalone app มาติดตั้งไว้บนอุปกรณ์พกพา วิธีนี้ผู้ใช้จะได้เชื่อมต่อตัวเองเข้ากับแบรนด์สินค้าที่ต้องการเสนอขายสินค้า รวมถึงร้านออนไลน์ โดยผู้ใช้สามารถพูดคุยถึงสินค้าที่ต้องการซื้อ รวมถึงสามารถรอรับข้อมูลสินค้าใหม่จากแบรนด์ที่ชอบได้โดยตรงเมื่อคลิกติดตามแบรนด์ ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับ LINE Flash Sale ที่ LINE เปิดให้บริการในไทยมาแล้วตั้งแต่ปี 2556

ครั้งนั้น LINE ขยายฐานรูปแบบบริการไปในแง่ของขายสินค้าผ่านแนวทางอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ด้วยการเปิดหน้าเว็บไซต์ lineflashsale.com เพื่อนำเสนอสินค้าซึ่งผลิตในจำนวนจำกัดแก่ลูกค้าที่ติดตาม Line Flash ให้ได้เลือกซื้อ ข้อมูลจาก LINE ช่วงเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ระบุว่า การวางจำหน่ายเคส iPhone 5S/5C จำนวน 300 ชิ้น ถูกซื้อหมดภายในระยะเวลาไม่ถึง 20 นาที และยังได้มีการทำแคมเปญร่วมกับทางลอรีอัล ประเทศไทย ในการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใหม่ของเมย์เบลลีน ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย

ครั้งนั้น LINE Flash Sale ถูกการันตีว่าเป็นอีกช่องทางจำหน่ายสินค้าที่เจาะเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งาน LINE ที่ติดตาม Account ดังกล่าวกว่า 4.6 ล้านคน จุดนี้ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าตัวเลขผู้ติดตาม LINE Flash Sale ในขณะนี้เพิ่มขึ้น หรือลดลงอย่างไร

หากมองนอกตลาดไทย LINE มีการลงมือเปิดตัวแอปพลิเคชัน LINE Mall ในญี่ปุ่นเพื่อให้เป็นตลาดกลางระหว่างผู้ใช้ LINE ด้วยกัน จุดนี้ LINE ระบุในแถลงการณ์บริษัทว่า เจ้าของแบรนด์สินค้าจะได้รับประโยชน์จากธุรกิจ C2C ecommerce นี้ของ LINE ด้วย เพราะจะสามารถทราบมาตรฐานความรู้สึกที่ผู้บริโภคมีต่อสินค้าได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ใช้นำสินค้ามาวางจำหน่ายต่อเพราะไม่ปลื้มในสินค้านั้น

***LINE ไทยยังเน้นธุรกิจเกม

หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ LINE ประเทศไทยเคยให้ข้อมูลไว้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า แนวทางการทำตลาดในปีนี้ของ LINE จะเน้นไปที่ตลาดเกมมากขึ้น เพราะในตลาดโลกรายได้ของ LINE กว่า 60% จะมาจากการขายสินค้า หรือไอเท็มภายในเกม โดยอีก 20% มาจากการจำหน่ายสติกเกอร์ (Sticker) ส่วนที่เหลือจะมาจากธุรกิจ Official Account และสินค้าต่างๆ ของ LINE (Merchandise) ที่ทำออกมาจำหน่าย

หนึ่งในความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในธุรกิจเกมของ LINE คือ การออกบัตรเติมเงิน “ไลน์ พรีเพด (LINE PREPAID)” เพื่อวางจำหน่ายในประเทศไทย เนื่องจากที่ผ่านมา LINE รู้ดีว่าผู้ใช้กลุ่มใหญ่ของ LINE เป็นเด็กนักเรียนที่ไม่มีบัตรเครดิตสำหรับซื้อสินค้าใน LINE การออกบัตรเติมเงินนี้ทำให้เยาวชนไทยที่อยากซื้อสติกเกอร์ใน LINE หรือแม้แต่ Item ของเกมในเครือทั้งคุกกี้รัน เกมเศรษฐี และอีกมากมาย สามารถซื้อเป็นบัตรเติมเงินมาใช้ได้สะดวก

สถานที่จำหน่ายบัตรนั้นหลากหลายมาก ทั้งห้างซูเปอร์เซ็นเตอร์อย่าง Lotus, MaxValu เป็นต้น การใช้งานจะต้องทำผ่านเว็บไซต์ https://store.line.me/home/th เท่านั้น โดยบัตรมีทั้งหมด 3 ราคาตั้งแต่ 100, 300 และ 500 บาท

ราคา 3 ระดับของ LINE PREPAID นั้นต่างจากบัตรเงินสด AIS 3G วัน-ทู-คอล! และบัตร True Money ที่ LINE เคยเปิดให้สาวก LINE ซื้อใช้งานในช่วงก่อนหน้านี้ด้วยราคา 50, 100, 300, 500 และ 1,000 บาท ทั้งหมดนี้ LINE การันตีว่า อัตราเติมเงินเกม LINE บน LINE PREPAID หรือบัตรเงินสดของ AIS และ True นั้นคุ้มค่ากว่าซื้อผ่าน App Store หรือ Play Store โดยจะมีโปรโมชันมาให้อยู่เสมอ

ในมุมของบริการเกม LINE นั้นเพิ่งเริ่มทำการตลาดเกมเศรษฐีในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยยังไม่มีการเปิดเผยสถิติยอดการใช้งานเกมเศรษฐีในขณะนี้ ข้อมูลล่าสุดในขณะนี้มีเพียงเกม Cookie Run เกมแรกที่ LINE ประเทศไทยเลือกนำเข้ามาให้บริการนั้นมีการดาวน์โหลดเฉพาะในประเทศไทยแล้วกว่า 10 ล้านครั้ง จากทั่วโลก 18 ล้านครั้ง

ปัจจุบัน LINE มีเกมให้บริการทั้งหมด 53 เกม โดยในจำนวนนี้ได้แปลให้รองรับภาษาไทยแล้ว 12 เกม และมีแผนจะให้บริการเพิ่มเดือนละ 3 เกม และต่อไปก็จะมีการต่อยอดนำตัวละครจากเกมเข้าไปช่วยโปรโมตร่วมกับพันธมิตร

อีกความเคลื่อนไหวน่าสนใจของ LINE ประเทศไทยคือ การดึงตัวนายรัฐศาสตร์ กรสูต หรือ “เปปเปอร์” อดีตนักร้องดังวง UHT มานั่งแท่นผู้จัดการทั่วไปให้แก่ LINE ประเทศไทย โดยเป็นการย้ายค่ายจากบริษัท สนุก ออนไลน์ จำกัด ในตำแหน่งประธานกลุ่มธุรกิจเนื้อหาและการพัฒนาธุรกิจ

***LINE เตรียมเป็น มหาชน

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจาก LINE ส่งสัญญาณพร้อมจำหน่ายหุ้นครั้งแรก หรือ IPO (Initial Public Offering) ที่ตลาดหลักทรัพย์โตเกียว คาดการเสนอขายหุ้นไลน์จะเป็น 1 ในการเสนอขายหุ้นที่ร้อนแรงที่สุดของญี่ปุ่นในรอบปีนี้ เบื้องต้นแหล่งข่าวระบุว่า ไม่เพียงตลาดหุ้นโตเกียว ไลน์ยังมีแผนเข้าตลาดหุ้นนิวยอร์กด้วย

นักวิเคราะห์เชื่อว่า มูลค่า IPO ที่ LINE จะเสนอขายนั้นอาจมีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านเยน หรือราว 3.13 แสนล้านบาท ความร้อนแรงของมูลค่าหุ้น LINE เรียกความสนใจจากนักลงทุนทั้งในญี่ปุ่นและทั่วโลก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ LINE เป็นแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมอันดับ 1 ในประเทศญี่ปุ่น ผลจากการพัฒนาบริการให้มีความสามารถรอบด้าน ทั้งการส่งข้อความ เสียง ตัวการ์ตูนบอกอารมณ์ รวมถึงบริการเกมที่ทำให้ผู้ใช้ทั่วโลกเสพติดไลน์มากขึ้น ทั้งหมดนี้คาดว่า ไลน์จะสามารถเป็นบริษัทมหาชนได้ในช่วงก่อนปลายปี 2557

LINE นั้นมีคู่แข่งสำคัญคือ แอปพลิเคชันแชตอย่าง WhatsApp ซึ่งเป็นบริษัทที่เจ้าพ่อเครือข่ายสังคม “เฟซบุ๊ก (Facebook Inc.)” ซื้อกิจการไปด้วยเงิน 1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ความเคลื่อนไหวของ LINE นั้นถูกจับตามองมากขึ้นหลังจาก WhatsApp ถูกเฟซบุ๊กซื้อกิจการไป นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เฝ้าดูว่า LINE จะถูกขายให้บริษัทใหญ่รายใด หรือจะเข้าตลาดหุ้นเพื่อเพิ่มทุนอย่างเป็นทางการ ดังนั้น ข่าวการยื่นเอกสารเพื่อจำหน่าย IPO ของ LINE ในครั้งนี้ จึงเป็นบทสรุปว่า ผู้บริหาร LINE เลือกการเพิ่มทุนด้วยวิธีเข้าตลาดหลักทรัพย์มากกว่า

โลกจึงต้องจับตาต่อไปว่า LINE จะมีพัฒนาการใดน่าสนใจอีกในอนาคต

Company Related Link :
Line

CyberBiz Social



Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket

Instagram
กำลังโหลดความคิดเห็น