จากกรณีเตือนห้ามกินยาบางชนิดกับส้มโอ เพราะจะทำให้ยาออกฤทธิ์แรงจนเป็นพิษ ทางอย. ได้ชี้แจงว่า การตีกันระหว่างยากับยา หรือยากับอาหาร หรือ ยากับผลไม้ อาจเกิดขึ้นได้ แต่ส่วนใหญ่ผลจะไม่รุนแรงและไม่ทำให้เสียชีวิต โดยการตีกันระหว่างส้มโอกับยา ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของแต่ละบุคคลแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับเอนไซม์ที่มีอยู่ในร่างกายของคนนั้น ๆ เพราะฉะนั้นผลที่เกิดขึ้นในคนหนึ่งอาจไม่เกิดขึ้นกับอีกคนก็ได้
วันนี้ (16 ก.ย.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีการโพสต์และแชร์ข้อความในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง กินยากับส้มโอ ทำให้เสียชีวิต ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน
จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลว่า ห้ามกินยาบางชนิดกับส้มโอ เพราะจะทำให้ยาออกฤทธิ์แรงจนเป็นพิษ จนสุดท้ายทำให้เสียชีวิตได้ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ชี้แจงว่า การตีกันระหว่างยากับยา หรือยากับอาหาร หรือ ยากับผลไม้ อาจเกิดขึ้นได้ และส่วนใหญ่ผลที่เกิดขึ้นนั้นมักจะไม่รุนแรงและไม่ทำให้เสียชีวิต โดยการตีกันระหว่างส้มโอกับยา ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของแต่ละบุคคล จึงแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับเอนไซม์ที่มีอยู่ในร่างกายของคนนั้น ๆ เพราะฉะนั้นผลที่เกิดขึ้นในคนหนึ่งอาจไม่เกิดขึ้นกับอีกคนก็ได้
ทั้งนี้ส้มโอ เป็นพืชวงศ์ส้ม ซึ่งมีวิตามินซีที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ส่งผลดีต่อระบบภูมิคุ้มกันร่างกายและชะล้างสารพิษ และยังมีสารเบอร์กามอททิน ที่แสดงฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในลําไส้เล็กและสามารถพบได้ในตับ โดยเอนไซม์ดังกล่าวจะทำหน้าที่สกัดกั้นไม่ให้ยาเข้าสู่กระแสเลือดมากเกินไป เมื่อเอนไซม์ชนิดนี้ลดลง ทำให้ตัวยาบางชนิดรวมถึงยาที่ใช้ในการรักษา เช่น felodipine (ยาลดความดันโลหิตสูง) terfenadine (ยาแก้แพ้) lovastatin (ยาลดระดับโคเลสเตอรอล และไขมันบางชนิดในเลือด) cyclosporine (ยารักษาโรค SLE) และ midazolam (ยานอนหลับ) แสดงฤทธิ์ในการรักษารุนแรงขึ้น เนื่องจากร่างกายได้รับตัวยามากเกินขนาด จึงส่งผลเสียต่อการรักษาและร่างกายผู้ป่วยได้ แต่ถ้าใช้สารเบอร์กามอททินร่วมกับยาบางชนิด เช่น ยาไวอากร้า (Viagra, ยารักษาโรคหัวใจและโรคปอดที่มีภาวะความดันสูง) หรือยาซาควินาเวียร์ (Saquinavir, ยารักษาภาวะติดเชื้อไวรัส human immunodeficiency virus(HIV)) จะส่งผลต่อเนื่องจากสารเบอร์กามอททินทำให้ยาอยู่ในร่างกาย ได้นานขึ้นจึงมีประสิทธิภาพการรักษาที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากต้องการรับประทานส้มโอในระหว่างต้องใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์และปฏิบัติตามคำแนะนําของแพทย์ อย่างเคร่งครัด และควรสังเกตตัวเองหลังจากการรับประทานส้มโอหรือผลไม้ที่ได้จากพืชในสกุลส้มอื่น ๆ พร้อมกับยา ว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ เพื่อที่แพทย์จะประเมินว่าเราสามารถรับประทานส้มโอพร้อมกับยาที่เราใช้อยู่ได้หรือไม่ การงดรับประทานส้มโอไปเลย เป็นสิ่งที่ไม่แนะนำ เนื่องจากว่า ส้มโอนั้น มีแร่ธาตุและวิตามินที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและยังช่วยต้านอนุมูลอิสระได้อีกด้วย
ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หรือโทร. 02 5907000
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : การตีกันระหว่างยากับผลไม้ อาจเกิดขึ้นได้ และส่วนใหญ่ผลที่เกิดขึ้นนั้นมักจะไม่รุนแรงและไม่ทำให้เสียชีวิต โดยการตีกันระหว่างส้มโอกับยา ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของแต่ละบุคคล จึงแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับเอนไซม์ที่มีอยู่ในร่างกายของคนนั้น ๆ