จากที่มีการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการรักษาโรคไซนัส ด้วยการใช้น้ำปัสสาวะหยอดจมูกทุกวัน ทำให้อาการจะดีขึ้นเรื่อย ๆ จนหายขาดในที่สุด ทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ชี้แจงว่า ขณะนี้ยังไม่มีงานวิจัยทางการแพทย์และทางคลินิกที่น่าเชื่อถือรองรับว่าใช้น้ำปัสสาวะหยอดจมูก จะสามารถรักษาโรคไซนัสได้ โดยน้ำปัสสาวะเป็นของเสียที่ไตขับออกมา หากนำกลับเข้าไปซ้ำอีกอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย
วันนี้ (5 ก.ย.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีการโพสต์และแชร์ข้อความในสื่อต่างๆ ถึงประเด็นเรื่อง ใช้น้ำปัสสาวะหยอดจมูก รักษาโรคไซนัส ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จโดย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
จากที่มีการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการรักษาโรคไซนัส ด้วยการใช้น้ำปัสสาวะหยอดจมูกทุกวัน ทำให้อาการจะดีขึ้นเรื่อย ๆ จนหายขาดในที่สุด ทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ชี้แจงว่า ขณะนี้ยังไม่มีงานวิจัยทางการแพทย์และทางคลินิกที่น่าเชื่อถือรองรับ โดยน้ำปัสสาวะเป็นของเสีย หรือสารที่เป็นส่วนเกินของร่างกายที่ไตขับออกมา แม้ว่าจะมีสารต่าง ๆ อยู่มาก ทั้งยูเรีย เกลือแร่ แคลเซียม และโซเดียมคลอไรด์ รวมถึงสารอื่น ๆ แต่สารเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกินความต้องการของร่างกาย หากสะสมไว้มากเกินไปกลับจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น เกิดภาวะความดันโลหิตสูง น้ำท่วมปอด หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น ร่างกายจึงขับทิ้งตามระบบ ดังนั้นหากนำกลับเข้าไปซ้ำอีก จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกันอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย
นอกจากนี้ น้ำปัสสาวะที่ขับออกมายังอาจปนเปื้อนอุจจาระ ทำให้มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ อย่างเชื้อบิด อาจติดต่อไปยังผู้อื่นที่นำน้ำปัสสาวะนั้นมาดื่ม นอกจากนี้ ไตซึ่งทำหน้าที่กลั่นกรองของเสียออกจากร่างกาย ต้องทำงานหนักมากขึ้น เพราะต้องขับของเสียออกซ้ำและอาจเกิดการคั่งค้างของสารต่าง ๆ ในร่างกาย ก่อให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคไต โรคตับ โรคหัวใจ หรือโรคที่ต้องควบคุมปริมาณน้ำ แร่ธาตุ และสารอาหารให้เหมาะสม อาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้ แนะนำหากต้องการรักษาโรค ประชาชนควรเข้ารับการรักษาอาการเจ็บป่วย หรือปรึกษาปัญหาสุขภาพกับแพทย์ หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในโรงพยาบาลในพื้นที่ เพราะการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบันเป็นวิธีการรักษาโรคที่ได้มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพมากกว่าทางเลือกอื่น
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.dms.go.th หรือโทร. 02 5906000
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ขณะนี้ยังไม่มีงานวิจัยทางการแพทย์และทางคลินิกที่น่าเชื่อถือรองรับว่าใช้น้ำปัสสาวะหยอดจมูก จะสามารถรักษาโรคไซนัสได้