xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวปลอม อย่าแชร์! น้ำมันเบนซินมีสารระเหย ดูดพิษจากแมลงกัดต่อย หายใน 3-5 นาที

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรณีมีการแชร์ข้อความน้ำมันเบนซินมีสารระเหย ดูดพิษจากแมลงกัดต่อย หายใน 3-5 นาที เป็นคำแนะนำที่ผิด และอันตรายกับร่างกายเป็นอย่างมาก หากทาน้ำมันเบนซินที่ผิวหนัง ทำให้เสี่ยงได้รับพิษจากเบนซินทั้งเฉียบพลัน และเรื้อรัง

ตามที่มีการแชร์ข้อความเกี่ยวกับเรื่อง น้ำมันเบนซินมีสารระเหย ดูดพิษจากแมลงกัดต่อย หายใน 3-5 นาที ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กรมอนามัย หน่วยงานสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

กรณีคำแนะนำให้ใช้น้ำมันเบนซินทาบริเวณที่โดนตะขาบ หรือแมลงทุกชนิดกัดต่อย เพราะสารระเหยในน้ำมันเบนซิน จะทำการดูดพิษให้หาย ภายใน 3-5 นาที ไม่มีการเจ็บ การบวม ทางกรมอนามัย หน่วยงานสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม ได้ชี้แจงว่า เป็นคำแนะนำที่ผิด และอันตรายกับร่างกายเป็นอย่างมาก

หากทาน้ำมันเบนซินที่ผิวหนัง ทำให้เสี่ยงได้รับพิษจากเบนซิน ทั้งแบบพิษเฉียบพลัน ที่ทำให้เกิดการระคายเคืองตาหรือผิวหนัง มีอาการหายใจติดขัด เป็นผื่นแดง ปวดแสบปวดร้อน มีอาการบวมพอง ผิวหนังแห้ง และตกสะเก็ด ซึ่งการสูดดมที่ความเข้มข้นสูงจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรง หายใจติดขัด ระบบหายใจล้มเหลว จนเสียชีวิต

และแบบพิษเรื้อรัง ซึ่งทำลายไขกระดูก เซลล์เม็ดเลือดแดงแตก จำนวนเม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดต่ำ ทำให้เกิดโรคโลหิตจาง โรคภูมิแพ้ และเกิดโรคมะเร็ง ผิวหนังแห้ง เป็นผื่นแดง ตกสะเก็ด

หากได้รับที่ความเข้มข้น 1,500 ppm จะทำให้ระบบประสาททำงานผิดปกติ การสูดดมเบนซินเข้าปอดอย่างรวดเร็วที่ความเข้มข้น 150-350 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร นาน 2-5 ชั่วโมง จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านปอดอย่างรวดเร็ว บางส่วนถูกขับออกจากร่างกาย บางส่วนสะสมในไขกระดูก ไขมัน และตับ

โดยมาตรฐาน OHSA กล่าวถึงความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน คือ ไม่ควรทำงานในสถานที่ที่มีเบนซินในอากาศเข้มข้น 1 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร นานเกิน 8 ชั่วโมง/วัน หรือ 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ และค่าการเฝ้าระวังไอระเหยในบรรยากาศที่ 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 7.6 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และพิษต่อการเกิดมะเร็ง มาตรฐาน EPA ระบุความเป็นพิษของเบนซิน คือ ทำให้เกิดมะเร็งในทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาว

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมอนามัย หน่วยงานสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://env.anamai.moph.go.th/ หรือโทร. 02 5904000


กำลังโหลดความคิดเห็น