สธ.แจงยังไม่มีข้อสรุปภาวะอักเสบทั่วร่างในเด็ก หรือ MIS-C เกี่ยวข้องกับโควิด-19 เหตุข้อมูลยังน้อย WHO จึงขอให้กุมารแพทย์ทั่วโลกช่วยจับตาและรายงานข้อมูล แนะ 5 อาการต้องสังเกต เผยในไทยยังไม่มีป่วย ชี้ข้อแตกต่างจากโรคคาวาซากิ คือ พบในเด็กโตถึงผู้ใหญ่ตอนต้น
วันนี้ (2 พ.ค.) นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า โรคโควิด-19 ในเด็กทั่วโลก มีอุบัติการณ์เฉลี่ยน้อยกว่าร้อยละ 1-5 แต่ละประเทศแตกต่างกันไป ความรุนแรงในเด็กก็มีน้อยมาก การแพร่กระจายก็น้อยเช่นกัน แต่ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีสถานการณ์โรคที่คาบเกี่ยวกันกับโรคโควิด-19 ในเด็ก คือ โรคคาวาซากิ และกลุ่มอาการเจ็บป่วยเฉียบพลันจากการอักเสบของอวัยวะหลายระบบ (Multisystem inflammatory syndrome in children : MIS-C) อย่างไรก็ตาม อาการนี้ยังไม่พบในไทย
พญ.วารุณี พรรรณพานิช วานเดอพิทพ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กล่าวว่า ช่วงต้น เม.ย. อิตาลี ฝรั่งเศส และ สหรัฐอเมริกา พบเด็กป่วยด้วยอาการอักเสบผิดปกติรุนแรงของอวัยวะหลายระบบ (MIS-C) ลักษณะเด่น คือ มีผื่น กินพื้นที่ร่างกาย 60-70% มีเยื่อบุตาแดง แต่ไม่มีขี้ตา เด็กมีอาการซึม รู้ตัวลดน้อยลง บางรายมีภาวะช็อก มีอาการทางเดินอาหาร มีอาการหลายระบบพร้อมกัน เมื่อเทียบเคียงก็คล้ายกับโรคคาวาซากิที่มักพบในเอเชีย ซึ่งอาการเด่น คือ ไข้สูงต่อเนื่อง 5 วัน อวัยวะที่มองเห็นเส้นเลือดชัดเจน มีการอักเสบแดง ถ้าอักเสบบริเวณคอ จะมีอาการต่อมน้ำเหลืองโต ปลายมือปลายเท้าบวม มีอาการลอกที่ปลายนิ้วเป็นจุดแรก
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบ MIS-C กับโรคคาวาซากิ จุดสังเกตคือ โรคคาวาซากิเกิดในเด็กเล็กถึงอายุ 5 ปี MIS-C เป็นในเด็กโต อายุเฉลี่ย 7.5 ปี พบสูงสุด 21 ปี โดย MIS-C มาด้วยอาการระบบทางเดินอาหารบ่อยกว่า มีภาวะช็อกจากภาวะหัวใจล้มเหลว ส่วนหนึ่งกล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติชั่วคราว และมีเกล็ดเลือดต่ำ มีอาการทางสมอง ขณะที่คาวาซากิมักไม่ค่อยมาด้วยระบบทางเดินอาหาร มีหลอดเลือดอักเสบแต่ไม่ถึงภาวะช็อก เกล็ดเลือดค่อนข้างสูง องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงประกาศเตือนให้กุมารแพทย์ทั่วโลก ช่วยกันเฝ้าระวังกลุ่มอาการนี้ เนื่องจากบางส่วนของผู้ป่วย MIS-C ตรวจพบเชื้อโควิด-19 บางส่วนเจอว่ามีภูมิคุ้มกัน โดยเกิดขึ้นหลังจากมีอาการป่วยโควิดไปแล้ว 4 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม แม้เสียชีวิตน้อยก็มีเสียชีวิต แต่โรคนี้รักษาได้ ถ้ามีไอ.ซี.ยู.ที่ดี เพราะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ยาบีบหลอดเลือด และยากดภูมิคุ้มกัน
นอกจากนี้ WHO ยังออกเกณฑ์เฝ้าระวังภาวะนี้ ให้รายงานหากมีอาการอย่างน้อย 2 ใน 5 ข้อ คือ 1. มีอาการอักเสบบริเวณผิวหนังที่รุนแรงทั่วร่างกาย อาจมีผื่น ตาแดง ริมฝีปากแดงจัด มือเท้าบวม 2. ความดันต่ำหรือภาวะช็อก 3. ตรวจพบหัวใจทำงานผิดปกติ 4. มีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ 5. ระบบทางเดินหารผิดปกติ นอกจากนี้ คือ มีไข้ 3 วันขึ้นไป ร่วมกับปัจจัย 3 ข้อ คือ มีค่าระดับการอักเสบในเลือดเพิ่มสูงกว่าปกติ ไม่พบหลักฐานว่า อาการที่เกิดขึ้นอธิบายจากสาเหตุอื่น และมีหลักฐานว่ามีการติดเชื้อหรือสัมผัสโควิด-19
เมื่อถามว่า MIS-C เกี่ยวกับโควิดหรือไม่ พญ.วารุณี กล่าวว่า ตอนนี้ข้อมูลปัจจุบันมีจำนวนจำกัด ไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน WHO จึงให้สร้างเครือข่ายฐานข้อมูลขอให้บุคลากร กุมารแพทย์ทั่วโลกเข้าไปรายงาน ใส่ข้อมูลช่วยวิเคราะห์ข้อมูลได้ ปัจจุบันถ้าความเกี่ยวข้องน่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน และเชื่อมโยงกับปัจจัยทางพันธุกรรมมากกว่าการติดเชื้อแล้วทำให้ป่วยโดยตรง