xs
xsm
sm
md
lg

Godzilla Minus One : บาดแผลและจิตวิญญาณญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา



หลังจากรอคอยกันมาสักพักใหญ่ ในที่สุด คนไทยก็ได้ดูหนังเรื่องนี้เสียที ผ่านทางสตรีมมิ่งเน็ตฟลิกซ์ซึ่งมีทั้งซับไทยและพากย์ไทยให้เลือกชมตามถนัด ในเบื้องต้นรู้สึกว่า นี่คือหนังก็อดซิลลาอีกเรื่องซึ่งมาพร้อมกับเนื้อหาที่ค่อนข้างจริงจัง แต่ก็ไม่ละทิ้งความรื่นรมย์หรืออารมณ์ความสนุกให้ติดตาม

พูดถึงหนังก็อดซิลลา สำหรับคนที่ผูกพันกับหนังสัตว์ประหลาดยักษ์ตัวนี้ คงรู้ว่า หนังก็อดซิลลามีการสร้างมาอย่างต่อเนื่องยาวนานตลอด 70 ปี นับตั้งแต่ภาคต้นฉบับอย่าง Gojira ซึ่งญี่ปุ่นสร้างและออกฉายในปี ค.ศ.1954 จนปัจจุบันมีการสร้างหนังก็อดซิลลาไปแล้วมากถึง 38 เรื่อง โดยเป็นผลงานของญี่ปุ่นสร้าง 33 เรื่อง และฮอลลีวูดอีก 5 เรื่อง

ขณะที่ Godzilla Minus One เป็นผลงานเรื่องที่ 33 ของญี่ปุ่นซึ่งค่ายผู้สร้างยังคงเป็นโตโฮ (TOHO) เจ้าเดิมที่ให้กำเนิดอสุรกายยักษ์ตัวนี้บนจอเงิน แต่สิ่งที่ต้องขีดเส้นใต้ไว้ก็คือ นี่เป็นหนังก็อดซิลลาเรื่องแรกที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ และสามารถคว้ารางวัลมาได้ในสาขาเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม (Best Visual Effects) ถือเป็นการจารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับหนังก็อดซิลลาได้อย่างงดงาม


และที่สำคัญคือการได้ “ทาคาชิ ยามาซากิ” มานั่งเก้าอี้ผู้กำกับ ซึ่งสำหรับคนรักหนังฟีลกู๊ด คงจำได้ว่า เขาคนนี้คือคนที่ทำหนังไตรภาพอย่าง Always ให้เข้าไปนั่งอยู่ในใจคนดู และไม่มากไม่มาย เรายังคงได้กลิ่นอายความซึ้งอบอุ่นละมุนใจแบบ Always ได้ในหนังก็อดซิลลาเรื่องนี้ ทั้งนี้ ก่อนเป็นผู้กำกับ เขายังเป็นคนทำงานแผนกเทคนิคพิเศษมาก่อน ดังนั้นแล้ว เมื่อมาทำหนังก็อดซิลลา จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า วิชั่นด้านนี้ส่วนหนึ่งคงออกมาจากทาคาชิด้วยเช่นกัน แน่นอนว่าการได้รางวัลออสการ์สาขาเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม ก็คงยืนยันได้อย่างดีถึงคุณภาพของงานวิช่วลเอฟเฟกต์โดยไม่ต้องอธิบายอะไรให้มากความ

สำหรับเรื่องราวหลัก ๆ ในหนัง เล่าย้อนไปในช่วงปี ค.ศ.1945 ซึ่งเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายหลังประเทศญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม และต้องค่อย ๆ กอบกู้ฟื้นฟูบ้านเมืองที่พังทลายย่อยยับจากพิษสงของสงครามและระเบิดนิวเคลียร์ พร้อมกับการปรากฎตัวขึ้นครั้งแรกของอสุรกายยักษ์อย่างก็อดซิลลา ซึ่งในหนังนั้นก็เชื่อว่าน่าจะมีส่วนมาจากระเบิดนิวเคลียร์

หนังมีตัวละครสำคัญอย่างอดีตนักบินรบที่รอดชีวิตจากสงคราม ในเชิงสัญลักษณ์ เขาเปรียบเสมือนตัวแทนของคนญี่ปุ่นที่ยังคงสลัดไม่หลุดจากฝันร้ายในฐานะผู้พ่ายแพ้สงครามและสูญเสียแทบทุกสิ่งทุกอย่างให้กับผลพวงของสงครามซึ่งเป็น “บาดแผลใหญ่” และบาดลึกจนยากจะเยียวยาได้แม้เวลาจะผันผ่านไปเนิ่นนานปานใดก็ตามที


อย่างไรก็ดี “บาดแผล” อีกหนึ่งบาดแผลที่หนังเรื่องนี้หยิบมา “เปิด” ให้คนดูได้เห็น คือการบริหารจัดการของหน่วยงานภาครัฐที่ดู “ไม่จริงใจ” ต่อประชาชนทั่วไป (เช่นเดียวกับที่เหล่าทหารรู้สึกว่า “ถูกสั่งให้ไปตาย” ในช่วงสงคราม) ดังเช่นที่เราจะได้เห็นว่า ถึงแม้ข่าวการปรากฏตัวของก็อดซิลลาและพร้อมจะบุกเมืองเข้ามา แต่ทว่าหน่วยงานรัฐ นอกจากจะไม่มีการเตรียมการรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ ยังปิดหูปิดตาประชาชนด้วยการ “ปิดข่าว” จนนำไปสู่การสูญเสียอย่างไม่ควรจะเป็น เพราะหากไม่ปิดข่าว ก็อาจจะช่วยเหลือประชาชนได้มาก หรือหากมีการเตรียมพร้อมรับมือไว้บ้าง ก็คงไม่ยับเยินจนเกินไป

แน่นอนว่า ประเด็นทำนองนี้ สำหรับคนที่เคยได้ดูหนังก็อดซิลลาเมื่อปี 2016 อย่าง Shin Gojira หรือ Godzilla: Resurgence ก็คงจะอดรู้สึกเปรียบเทียบไม่ได้ เพียงแต่ใน Shin Gojira จะเน้นหนักไปที่ประเด็นวิพากษ์การทำงานของภาครัฐอย่างเอาจริงเอาจังชนิดที่พูดคุยถกเถียงกันแบบเอาเป็นเอาตายจนหลายคนที่สนใจฉากแอ็กชั่นการต่อสู้กับก็อดซิลลา รู้สึกว่า ต่อไม่ติดกับหนัง เพราะหนังไม่เน้นในส่วนนี้

อย่างไรก็ดี สำหรับ Godzilla Minus One ต้องบอกว่า หนังทำออกมาได้กลมกล่อมและกลมกลืน ผสานไประหว่างความบันเทิงและนำเสนอเนื้อหาสาระมีประเด็นให้ฉุกคิด

การปรากฏตัวของสัตว์ในจินตนาการตัวมหึมาอย่างก็อดซิลลา นับว่าทำออกมาได้ดี เช่นเดียวกับฉากก็อดซิลลาถล่มเมือง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งฉากใหญ่ที่มีภาพให้จดจำ (เช่น ก็อดซิลลาพ่นแสง หรือแม้แต่กัดรถไฟขึ้นมาคาบ) และฉากสุดท้ายที่เป็นการต่อสู้กลางทะเล ก็นับว่าน่าตื่นตื่นใจไม่น้อย เป็นฉากทรงพลังที่สุดฉากหนึ่งซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงจิตวิญญาณของญี่ปุ่น


ถ้าว่ากันในเชิงประวัติศาสตร์ ญี่ปุ่นได้ผ่านบาดแผลใหญ่มาจากการเป็นผู้พ่ายในสงคราม บางที ก็อดซิลลาก็อาจเป็นภาพแทนของสงครามที่ทำให้บ้านเมืองเสียหายยับเยิน แต่อีกด้าน ก็อดซิลลาในเชิงอุปมา ก็อาจจะเทียบเคียงได้กับภัยอีกหลายอย่าง เช่น ภัยธรรมชาติอย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหวรวมถึงสึนามิที่ถล่มญี่ปุ่นมานับครั้งไม่ถ้วนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หรือแม้กระทั่งวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำที่ญี่ปุ่นเคยเผชิญ

แต่ไม่ว่าจะเป็นผู้พ่ายในสงคราม โดนก็อดซิลลาบุกถล่ม หรือถูกภัยธรรมชาติกระหน่ำซัดมากี่ครั้ง ก็ไม่ได้ทำให้คนญี่ปุ่นระย่อท้อแท้ แต่พร้อมจะฟื้นฟูบ้านเมืองขึ้นมาใหม่ และพร้อมร่วมแรงร่วมใจ ทุ่มเททุกอย่าง หรือแม้กระทั่งเสียสละตัวเอง เพื่อส่วนรวม ดังเช่นที่เห็นในหนังเรื่องนี้

Godzilla Minus One จึงเป็นหนังก็อดซิลลาอีกหนึ่งเรื่องที่บอกเล่าจิตวิญญาณแบบญี่ปุ่นอย่างที่กล่าวมา และอย่างที่บอกว่าผู้กำกับทาคาชิ ยามาซากิ ยังพกพาบรรยากาศกลิ่นอายแบบ Always มาใส่ไว้ในเรื่องนี้ด้วย ดังนั้น นอกจากการต่อสู้เพื่ออยู่รอดจากการคุกคามของอสุรกายก็อดซิลลา รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานภาครัฐแบบชกหมัดตรงใส่หน้า Godzilla Minus One ยังมีมุมซึ้ง ๆ ให้รู้สึกอบอุ่นละมุนใจไม่น้อยเช่นกัน













กำลังโหลดความคิดเห็น