ให้มันจบที่รุ่นเรา! “เทพมนตรี” ท้าฝ่าย “โปรปรีดี-สามกีบ” เอาข้อมูลหลักฐาน เรื่อง 2475 มาแฉ หรือ “ดีเบต” กันเลย ถ้าไม่มีก็เงียบ “อดีตบิ๊ก ศรภ.” จับผิด “ณัฐพล” อีกจุด ใน “ขุนศึก ศักดินา” กรณีอ้างช่วงเหตุการณ์ ผิดจากข้อเท็จจริง
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (22 มี.ค. 67) นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และนักเทววิทยา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า
“ในฐานะผู้ศึกษาประวัติศาสตร์
เรื่อง 2475 ถ้าอยากจะเอาอดีตมารับใช้ปัจจุบันด้วยการสร้างความเกลียดชังกันโดยไม่คำนึงถึงอะไร ก็เอาให้เต็มที่ ฝ่ายโปรปรีดีก็เอาหลักฐานเอกสารมาแฉเลยโดยไม่กั๊ก มีตั้งมากมาย ส่วนฝ่ายนี้เขาบอกแล้วไม่กลัวมาแบบไหนก็ไปแบบนั้นจะจัดดีเบตกันก็เอาเลย ผมก็อยากทราบข้อมูลที่ต่างคนต่างมี แต่อย่ามาด่าทอกัน พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ที่เป็นการ์ตูนจะเดือดร้อน เหนื่อยครับ
ประวัติศาสตร์วันนี้เป็นแบบนี้ วันข้างหน้าอาจเปลี่ยนแปลงได้ด้วยเหตุผลและหลักฐานใหม่ ถ้าเข้าใจกันแบบนี้ได้ก็ช่วยกันศึกษาหาความจริง
แม้สามกีบจากบนลงล่างจะเป็นต้นเหตุ แต่พวกเราต้องเข้าใจหลักการหาความจริงทางประวัติศาสตร์ พวกเขาไม่เข้าใจเราก็อธิบาย ส่วนพวกสามกีบถ้าจะหักล้างเอาหลักฐานเด็ดออกมาก็เอาครับ
มันจะได้จบๆ ที่รุ่นเรา ถ้าไม่มีโต้ไม่ได้ก็เงียบไปเถอะ”
ขณะเดียวกัน พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง ขุนศึก ศักดินา กับ “ความล้มเหลวของการปฏิวัติ 2475” มีเนื้่อหาดังนี้
จากกรณีที่มีครูบางคนนำหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” ของ นายณัฐพล ใจจริง ไปประกอบการสอนนั้น ขอให้พิจารณากันใหม่ เพราะนายณัฐพลอาจจะเป็นผู้รู้ทางประวัติศาสตร์ได้ แต่ยังขาดความรอบคอบพอที่จะเขียนหนังสือให้เป็นตำราเรียนซึ่งมีตัวอย่างจากหนังสือดังกล่าวมาแล้ว และยังเกิดขึ้นในข้อเขียนอื่นๆ อีก เช่น กรณีจากบทความเรื่อง “ปฐมบทการม้วนประชาธิปไตย : การรัฐประหาร 2490 กับการตั้ง ‘อีกระบบหนึ่ง’ ” ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องเอกในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม (ฉบับปีที่ 44 ฉบับที่ 1 พฤศจิกายน 2565) เพราะเมื่ออ่านแล้วพอที่จะเห็นได้ว่า นายณัฐพลมักจะทิ้งข้อผิดพลาดไว้ในสาระสำคัญทางประวัติศาสตร์อยู่เสมอ เช่น ตอนที่นายณัฐพลเขียนถึงเรื่อง
“...การเมืองไทยหลังสงครามโลก
ควรบันทึกด้วยว่า ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่เปิดกว้างภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลพลเรือนของกลุ่ม นายปรีดี พนมยงค์ พยายามรวบรวมพลังคนไทยทุกคน ร่วมสร้างประเทศขึ้นใหม่ภายหลังความบอบช้ำจากสงคราม ด้วยการออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้กับกลุ่มปฏิปักษ์การปฏิวัติ 2475 ที่เคยเป็นอริต่อกันจากเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อประสานพลังกอบกู้สังคมไทยเพื่อเดินไปข้างหน้า...”
ข้อเท็จจริง การออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมนั้นเกิดขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะยุติ ไม่ใช่เกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงไปแล้วตามที่นายณัฐพลเขียนไว้ (ญี่ปุ่นยอมจำนนอย่างเป็นทางการ เมื่อ 2 ก.ย. 2488 หลังการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ 2 ลูก ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ) กล่าวคือเกิดขึ้นหลังจาก อ.ปรีดี และ นายควง อภัยวงศ์ ร่วมมือกันโหวตคว่ำร่างพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ฯ ที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เสนอเข้ามา เป็นผลทำให้จอมพล ป. จำเป็นต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแบบไม่เต็มใจ ประกอบกับ “ทางฝ่ายญี่ปุ่นก็แสดงท่าทีเริ่มไม่เอาจอมพล ป. แล้ว” ดังนั้น จอมพล ป. จึงต้องถอยไป
ส่วน อ.ปรีดี ซึ่งเป็นคนคุมคะแนนเสียงของสภาส่วนใหญ่ ควรจะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่ยอมเป็น อาจจะเป็นเพราะความเกรงใจหรือเกรงกลัวจอมพล ป. หรือเพราะการเป็นนายกฯ ในช่วงสงครามโลกนั้นไม่ใช่เรื่องหมูๆ จึงไปตามนายควงมาเป็นนายกฯ แทน เพราะนายควงเป็นคนประเภท “ขวานผ่าซาก” อยู่แล้ว ในกรณีนี้นายควงได้ระบุว่า “นายปรีดีไม่กล้าเป็นนายกฯ เพราะกลัวจอมพล ป.”
อย่างไรก็ตาม นายควง ก็ใช่ว่าจะไม่กลัวจอมพล ป. จึงไปพบกับจอมพล ป. ที่ลพบุรี พูดคุยกัน สรุปได้ว่าจอมพล ป. บอกว่าอยากทำอะไรก็ทำเลย นายควงจึงกลับมาล้ม วัฒนธรรมการเป็นผู้นำของจอมพล ป. ลงเกือบทั้งหมดแบบสะใจประชาชน คือ
วันที่ 24 ส.ค. 2487 ปลดจอมพล ป. ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทำให้จอมพล ป. ขาลอยอยู่ 3-4 ปี
วันที่ 12 ก.ย. 2487 ยกเลิกระเบียบคำแทนชื่อ คำรับ และคำปฏิเสธ
วันที่ 18 ก.ย. 2487 เลิกบังคับสวมหมวก เลิกการห้ามกินหมาก และให้เสรีภาพในการแต่งกาย
วันที่ 2 พ.ย. 2487 ยกเลิกเรื่องการปรับปรุงอักษรไทยและตัวสะกดการันต์
วันที่ 31 ธ.ค. 2487 ออกแถลงการณ์ให้มีการคืนบรรดาศักดิ์ขุนนางและข้าราชการ ให้ใช้ได้โดยสมัครใจ
วันที่ 9 พ.ค. 2488 ได้ออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ต้องหากบฏทั้งหมด (ตั้งแต่กบฏบวรเดชจนถึงกบฏ พ.ศ. 2481) นักโทษเหล่านี้ได้รับการปล่อยตัวให้พ้นมลทินเหมือนกับว่าไม่เคยกระทำผิดมาก่อน (สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงเมื่อ 2 ก.ย. 2488)
ส่วนเรื่องการออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้กับกลุ่มปฏิปักษ์การปฏิวัติ 2475 โดยนายณัฐพลอ้างว่าเพื่อพยายามรวบรวมพลังของคนไทยทุกคนมาร่วมสร้างประเทศใหม่ด้วยการออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองนั้น แบ่งได้เป็น 2 ประเด็น คือ
(1) กลุ่มปฏิปักษ์นั้นตามข้อเท็จจริงแล้ว เกือบทั้งหมดเป็นปฏิปักษ์ของจอมพล ป. มากกว่า
(2) สภาพประเทศชาติในขณะนั้นย่ำแย่มากจนกล่าวได้ว่าเป็นจุดของความล้มเหลวที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งของการปฏิวัติ 2475
แต่อย่างไรก็ตาม การออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่าง อ.ปรีดีกับนายควง
นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายจุดในบทความนี้ที่ดูเสมือนเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่การสอนประวัติศาสตร์หรือเขียนบทความทางประวัติศาสตร์ในฐานะครูบาอาจารย์นั้น ควรที่จะลงในรายละเอียดสำคัญให้นักศึกษาหรือประชาชนได้เข้าถึงความจริงที่ควรรู้บ้างครับ อย่าไปย่นย่อหรืออนุมานเอาเองในช่วงตอนสำคัญของเหตุการณ์ เพราะนายณัฐพลได้ระบุว่าเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ไม่ใช่นักเขียนธรรมดาๆ ครับ”