xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : ยกฟ้องคดี ‘ไชยันต์’ หมิ่น ‘ณัฐพล’ เตือนใจนักประชาธิปไตย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์  NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจNEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันพุธที่ 6 มีนาคม 2567 ตอน ยกฟ้องคดี ‘ไชยันต์’ หมิ่น ‘ณัฐพล’ เตือนใจนักประชาธิปไตย



เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว เกิดประเด็นการโต้เถียงในเชิงวิชาการเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองช่วงปี 2490 ระหว่าง 'ไชยันต์ ไชยพร' อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ 'ณัฐพล ใจจริง' อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ผู้เขียนหนังสือ 'ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ' และ 'ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี' ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

วิวาทะเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ว่านั้น กลายมาเป็นประเด็นเมื่ออาจารย์ไชยันต์ ออกมาวิพากษ์ผลงานของอาจารย์ณัฐพลมีความบกพร่องหลายจุด โดยเฉพาะการใช้ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์เอกราชที่ไม่มีอยู่จริงมาเป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิชาการดังกล่าว

จนนำมาสู่ใช้สื่อสังคมออนไลน์โต้เถียงกันอย่างดุเดือด ก่อนที่อาจารย์ณัฐพลได้ยื่นฟ้องอาจารย์ไชยันต์ ในข้อหาหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และ 328 พร้อมเรียกค่าเสียหายจำนวนเงิน 1 ล้านบาท

การต่อสู้คดีใช้เวลาประมาณ 2 ปีจนในที่สุดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม ศาลอาญาได้พิพากษายกฟ้องในคดีที่อาจารย์ณัฐพลเป็นผู้ฟ้อง ซึ่งเท่ากับว่าอาจารย์ไชยันต์ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามข้อกล่าวหา โดยศาลมีความเห็นว่า การจัดทําวิทยานิพนธ์และผลงานเป็นการใช้เสรีภาพทางวิชาการ ดังนั้น อาจารย์ไชยันต์ในฐานะประชาชนทั่วไปย่อมมีเสรีภาพในการเห็นต่างจากผลงานของอาจารย์ณัฐพล เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งในคำพิพากษาของศาลอาญา มีความน่าสนใจตรงที่มีการระบุว่าการที่ผลงานวิชาการของอาจารย์ณัฐพลบางจุดเป็นการตีความข้อความเห็นโดยไม่มีข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริง ทำให้อาจารย์ไชยันต์ย่อมมีสิทธิทางวิชาการ หรือโต้แย้งและนำเสนอต่อสาธารณชนได้ และให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบข้อความอีกด้าน

อีกทั้งเพื่อความเป็นธรรมต่อบุคคลที่อาจารย์ณัฐพลกล่าวถึงในผลงาน โดยเฉพาะผู้ที่ล่วงลับไปแล้วและไม่มีโอกาส โต้แย้งหรือให้ข้อเท็จจริงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อความเป็นธรรมต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

จากคำพิพากษาดังกล่าวถือว่าเป็นการวางบรรทัดฐานว่าการผลิตผลงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ควรต้องมีข้อมูลรอบด้านและแหล่งที่มาที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย แต่ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่เกิดการโต้เถียงทางวิชาการในเชิงประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จะพบว่านักวิชาการฝ่ายซ้ายมักจะแสดงความสุดโต่งออกมา พร้อมกับการด้อยค่าข้อมูลอีกด้าน

เช่น การพยายามบอกว่าข้อมูลของพวกนักวิชาการฝ่ายขวานั้นไม่มีความน่าเชื่อถือ เพราะเป็นข้อมูลประวัติศาสตร์ที่ถูกปรุงแต่งมาจากฝ่ายผู้มีอำนาจ มีแต่เพียงข้อมูลของนักวิชาการฝ่ายซ้ายเท่านั้นที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ เป็นต้น

กรณีของหนังสือ 'ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ' และ 'ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี' ก็เช่นเดียวกัน เพราะฝ่ายสนับสนุนหนังสือทั้งสองเล่ม ต่างออกมาแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าเป็นการทำงานบนเสรีภาพทางวิชาการและยึดข้อมูลที่ถูกต้อง แต่เมื่อถูกอาจารย์ไชยันต์ตั้งข้อสังเกตหลายประเด็น ก็เกิดการตอบโต้ด้วยการโจมตีถึงภูมิหลังทางการเมืองของอาจารย์ไชยันต์อย่างรุนแรง

กลายเป็นว่ากลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยแบบ เข้มข้น กลับไม่ยอมรับฟังข้อมูลอีกด้าน ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการเป็นเผด็จการจำแลง

ดังนั้น คำพิพากษาของศาลอาญาที่ปรากฎออกมา น่าจะเป็นเครื่องเตือนใจคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักประชาธิปไตย ต้องกลับไปทบทวนความหมายของเสรีภาพใหม่ เพื่อไม่ให้ตัวเองกลายเป็นนักเผด็จการประชาธิปไตยโดยไม่รู้ตัว

------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android


กำลังโหลดความคิดเห็น