เคียฟจะได้รับอนุญาตให้ใช้ฝูงบินขับไล่ F-16 จำนวน 24 ลำ ที่เตรียมได้รับมอบจากเนเธอร์แลนด์ โจมตีใส่ดินแดนของรัสเซีย หากยูเครนเล็งเห็นว่าเหมาะสม จากคำกล่าวของ คาจซา โอลลอนเกรน รัฐมนตรีกลาโหมของเนเธอร์แลนด์ ระหว่างให้สัมภาษณ์กับโพลิติโก เว็บไซต์ข่าวสัญชาติสหรัฐฯ
แนวทางนี้สวนทางกับเบลเยียม หนึ่งในคู่หูที่เรียกว่า "พันธมิตร F-16" ซึ่งเสนอมอบเครื่องขับไล่ 30 ลำแก่ยูเครน โดยที่ อเล็กซานเดอร์ เดอ ครู นายกรัฐมนตรีเบลเยียม เน้นย้ำว่าอาวุธใดๆ ที่ได้รับมอบจากประเทศของเขาจะสามารถนำไปใช้เฉพาะโจมตีภายในดินแดนที่กล่าวอ้างโดยเคียฟเท่านั้น ในนั้นรวมถึงเครื่องบินรบ
"จะไม่มีข้อจำกัดแบบเดียวกับเบลเยียม" โอลลอนเกรนบอกกับโพลิติโก รอบนอกการประชุมประจำปีด้านความมั่นคงแชงกรีล่า ที่สิงคโปร์ เมื่อวันจันทร์ (3 มิ.ย.) "เราใช้หลักการเดียวกับที่เราใช้กับการส่งมอบศักยภาพอื่นๆ ทั้งหมด ซึ่งก็คือ เมื่อเราส่งมอบมันแก่ยูเครนไปแล้ว มันจะขึ้นอยู่กับพวกเขาที่จะเป็นคนใช้งานมัน" เธออธิบาย พร้อมบอกต่อว่ารัฐบาลเนธอร์แนด์กำหนดข้อจำกัดเพียงว่าการใช้อาวุธเหล่านั้นต้องปฏิบัติตามกรอบของกฎหมายระหว่างประเทศ
บรรดาชาติตะวันตกหลายชาติเสนอมอบคอร์สฝึกอบรมนักบินยูเครน ในวิธีการใช้งานเครื่องบินขับไล่ที่ออกแบบโดยสหรัฐฯ รุ่นนี้ คำสัญญาการส่งมอบเครื่องบินแก่เคียฟที่รับปากมาช้านาน อาจเริ่มขึ้นภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า อ้างอิงจากถ้อยแถลงของบรรดาสมาชิกพันธมิตร ที่ในนั้นประกอบด้วย เดนมาร์ก และนอร์เวย์
ลาร์ส ลอคเค ราสมุสเซน รัฐมนตรีต่างประเทศเดนมาร์ก แย้มเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่า เคียฟอาจได้ไฟเขียวให้ใช้เครื่องบิน F-16 จำนวน 19 ลำ ที่รัฐบาลของเขารับปากมอบให้ สำหรับก่อความอ่อนแอแก่กองกำลังมอสโก ด้วยการกำจัดที่ตั้งทางทหารภายในดินแดนรัสเซีย
พวกเจ้าหน้าที่ยูเครนคาดหวังว่าเทคโนโลยีทหารของสหรัฐฯ จะช่วยเปลี่ยนกระแสในสมรภูมิรบ ให้เบี่ยงไปเข้าทางยูเครน ในขณะที่ปัจจุบันครองความเหนือกว่าบนน่านฟ้าอย่างท่วมท้นตามแนวหน้าทั้งหลาย
รัสเซียมองว่าคำสัญญามอบแสนยานุภาพทางอากาศแก่เคียฟ เป็นการขยายวงความขัดแย้งและก่อความเสี่ยงทางนิวเคลียร์ โดยชี้ว่าเครื่องบิน F-16 มีศักยภาพติดตั้งระเบิดนิวเคลียร์แรงโน้มถ้วง B61 ของอเมริกา ซึ่งบางส่วนในนั้นจัดเก็บไว้นอกสหรัฐฯ ในนั้นรวมถึงเบลเยียม ส่วนหนึ่งในโครงการปันนิวเคลียร์ของนาโต
(ที่มา : โพลิติโก/อาร์ทีนิวส์)