บรรดารัฐสมาชิกนาโตจะไม่สามารถทำตามคำสัญญาส่งเครื่องบิน F-16 จำนวน 45 ลำ แก่ยูเครน ในขณะที่ความพยายามผลักดันของทางกลุ่มสำหรับจัดหาเครื่องบินขับไล่ที่ออกแบบโดยสหรัฐฯ รุ่นนี้แก่เคียฟ ตกอยู่ท่ามกลางความสับสนและยุ่งเหยิง ตามรายงานของนิวยอร์กไทม์สเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ไฟเขียวตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิปีที่แล้ว ให้บรรดาพันธมิตรยุโรปของอเมริกาจัดหาเครื่องบิน F-16 ป้อนแก่กองทัพยูเครน โดยที่ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ และเบลเยียม ประกาศร่วมกันว่าจะส่งมอบเครื่องบิน 45 ลำแก่เคียฟ
อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้มีเพียงเดนมาร์กเท่านั้นที่แถลงเกี่ยวกับกรอบเวลาของการส่งมอบเครื่องบินรบแก่ยูเครน ตามรายงานของนิวยอร์กไทม์สเมื่อวันจันทร์ (11 มี.ค.) โดยโคเปนเฮเกนบอกว่าเคียฟจะได้รับเครื่องบิน F-16 จำนวน 6 ลำในฤดูใบไม้ผลิปีนี้ ส่วนอีก 13 ลำจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีและในปี 2025
กระนั้นนิวยอร์กไทม์สรายงานว่า แม้ว่ายูเครนได้รับเครื่องบิน F-16 ตามคำสัญญาทั้งหมด แต่พวกเขายังคงมีจำนวนนักบินไม่ใกล้เคียงที่จะขับเครื่องบินเหล่านั้น โดยปัจจุบันคาดหมายว่ามีนักบินยูเครนเพียง 12 ราย ที่พร้อมสำหรับปฏิบัติการเครื่องบินที่ผลิตโดยสหรัฐฯ รุ่นนี้สำหรับทำศึกช่วงฤดูร้อนที่กำลังมาถึง
นิวยอร์กไทม์ส ระบุว่าพวกนักบินยูเครนซึ่งคุ้นเคยกับเครื่องบินยุคสมัยสหภาพโซเวียตมากกว่า ได้เข้ารับการฝึกฝนการใช้ความเร็วปานสายฟ้าผ่าในเดนมาร์ก สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา แต่การฝึกฝนของพวกเขาไม่ใช่การเรียนรู้แค่เพียงเทคนิคและกลยุทธ์การบินของนาโตเท่านั้น แต่จำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วย
นอกจากนี้ ความจำเป็นต้องบูรณะซ่อมแซมสนามบินต่างๆ ที่มีอายุเก่าเก็บและได้รับความเสียหายจากสงครามในยูเครน เพื่อรองรับเครื่องบิน F-16 ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่อาจทำให้ความพยายามส่งฝูงบินรบรุ่นนี้เข้าสู่สนามรบมีอันต้องล่าช้าออกไป ตามรายงานของนิวยอร์กไทม์ส
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เว็บไซต์ข่าวโพลิติโกของสหรัฐฯ ระบุในรายงานชิ้นหนึ่ง เตือนว่าการปฏิบัติการเครื่องบิน F-16 จะเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับเคียฟ เครื่องบินและฐานทัพของเครื่องบินเหล่านี้จะเป็นเป้าหมายหลักสำหรับกองกำลังรัสเซีย พร้อมระบุรันเวย์ที่ขาดการเตรียมพร้อมล่วงหน้าอาจส่งผลกระทบกับเครื่องบินที่ซับซ้อนรุ่นนี้ ขณะเดียวกันการซ่อมแซมเครื่องบิน F-16 ก็เป็นภารกิจที่ท้าทายอย่างยิ่ง
อเล็กซีย์ ปุชคอฟ วุฒิสมาชิกรัสเซีย ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศของสภาดูมา เคยบอกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ว่า เครื่องบิน F-16 จะไม่เปลี่ยนแนวโน้มของสถานการณ์การสู้รบ หรือสมดุลโดยรวมของขุมกำลัง (ในความขัดแย้งระหว่างมอสโกกับเคียฟ) แต่มันก่อความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการปะทะกันโดยตรงระหว่างรัสเซียกับนาโต
(ที่มา : นิวยอร์กไทม์ส/อาร์ทีนิวส์)