ยูเครนจะมีอิสระในการใช้เครื่องบินขับไล่ F-16 ที่จะได้รับจากองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) โจมตีเป้าหมายทางทหารต่างๆ ภายในรัสเซีย หรือเกินกว่าชายแดนที่เคียฟกล่าวอ้าง จากความเห็นของเยนส์ สโตลเทนเบร์ก เลขาธิการนาโต ระหว่างให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนอเมริกา
ระหว่างให้สัมภาษณ์กับ RFE/RL ที่ออกอากาศเมื่อวันศุกร์ (23 ก.พ.) เลขาธิการนาโตอ้างว่ายูเครนมีสิทธิในการป้องกันตนเองต่อการรุกรานของรัสเซีย ซึ่งในนั้นรวมถึงสิทธิโจมตีเป้าหมายทางทหารต่างๆ ที่ชอบธรรมของรัสเซียภายนอกยูเครน
อย่างไรก็ตาม สโตลเทนเบิร์ก ไม่ได้พูดพาดพิงว่าเมื่อไหร่รัฐบาลในเคียฟจะได้รับเครื่องบิน F-16 ตามที่สัญญาไว้ โดยเพียงแต่บอกว่าแต่ละรัฐสมาชิกนาโตที่รับปากมอบเครื่องบิน F-16 มีนโยบายที่ต่างกันและจะตัดสินใจด้วยตนเอง
แม้บรรดาผู้สนับสนุนเคียฟบางส่วนต้องการเห็นเครื่องบินรบ F-16 เข้าสู่ปฏิบัติการอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ทาง สโตลเทนเบิร์ก เชื่อว่ามันจะส่งผลกระทบมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หากว่าบรรดานักบินผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีแล้ว เช่นเดียวกับมีลูกเรือฝ่ายบำรุงรักษาและฝ่ายสนับสนุนเพียงพอแล้ว
"ดังนั้น ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องฟังบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารอย่างแท้จริง ว่าเมื่อไหร่เราจะพร้อม หรือเมื่อไหร่บรรดาพันธมิตรจะพร้อมเริ่มส่งมอบเครื่องบิน F-16 ยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี" สโตลเทนเบิร์ก กล่าว
ยูเครนต้องการเครื่องบิน F-16 มาช้านานในหนทางต่อสู้กับรัสเซีย ที่ถือครองความเหนือกว่าบนท้องฟ้า ก่อนหน้านี้ เดนมาร์กและเนเธอร์แลนด์รับปากจะสนับสนุนเครื่องบินบางส่วนของพวกเขา โดยที่ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนอ้างว่าได้รับคำสัญญาเครื่องบิน F-16 แล้ว 42 ลำ และนักบินยูเครนชุดแรกที่ฝึกฝนในตะวันตกเสร็จสิ้นการฝึกแล้วในสหราชอาณาจักรเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม เครื่องบินที่ผลิตโดยสหรัฐฯ รุ่นนี้ออกแบบมาในรูปแบบวิธีการที่อาจไม่เหมาะสมที่จะปฏิบัติการจากรันเวย์ของยูเครน ดังนั้นจึงเกิดความคาดเดาว่าเครื่องบินเหล่านี้ อาจต้องขึ้นบินจากโปแลนด์ โรมาเนีย หรือประเทศต่างๆ ในแถบบอลติกแทน
รัสเซียส่งเสียงเตือนซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าการประจำการดังกล่าวอาจทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งลุกลามบานปลาย และอาจก่อความเสี่ยงแม้กระทั่งสงครามนิวเคลียร์ เนื่องจาก F-16 มีศักยภาพปล่อยระเบิดนิวเคลียร์ B61 gravity bombs
"ดังนั้น ถ้าหนึ่งในเครื่องบินเหล่านี้ขึ้นบินจากประเทศหนึ่งๆ ของนาโต สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ? ถ้ามีการโจมตีรัสเซีย ผมคงไม่ต้องสาธยายว่าอะไระเกิดขึ้นถัดไป" ดมิทรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีรัสเซีย และรองประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติรัสเซีย กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (22 ก.พ.)
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)