กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ(เพนตากอน) แถลงว่าจะทำการพัฒนาเวอร์ชันใหม่ของระเบิดนิวเคลียร์ B61 ซึ่งมีพลานุภาพทำลายล้างมากกว่าระเบิดนิวเคลียร์ที่ทิ้งใส่เมืองฮิโรชิมา ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 กว่า 24 เท่า
เพนตากอนเปิดเผยว่าพวกเขากำลังขออนุมัติและขอทุนจากสภาคองเกรส สำหรับพัฒนาอาวุธดังกล่าว ในข่าวประชาสัมพันธ์ที่เผยแรพ่เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ทั้งนี้อ้างอิงจากเอกสารข้อเท็จจริงที่มาพร้อมกับคำแถลง ระเบิดดังกล่าว ได้รับสมญานามว่า B61-13 ซึ่งจะมีพลานุภาพพอๆกับ B61-7 ที่มันจะเข้ามาทดแทน
ระเบิดนิวเคลียร์ B61-7 มีศักยภาพก่อแรงระเบิดสูงสุด 360 กิโลตัน ทำให้มันมีพลานุภาพรุนแรงกว่า "ลิตเติลบอย" ระเบิดนิวเคลียร์ 15 กิโลตัน ที่ทำลายเมืองฮิโรชิมา ราบเป็นหน้ากลอง ถึง 24 เท่า
อย่างไรก็ตาม B61-7 ไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์ทรงอานุภาพสุดในคลังแสงของสหรัฐฯ มันเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับระเบิดเทอร์โมนิวเคลียร์ B83 ซึ่งมีแรงระเบิดสูงสุดเท่ากับระเบิดทีเอ็นที 1.2 เมกะตัน โดย B83 เข้ามาแทนที่ระเบิด B53 ที่ทรงอานุภาพมากกว่า ซึ่งมีความรุนแรง 9 เมกะตัน แต่ถูกปลดเกษียณไปในปี 2011
กระนั้้นระเบิดนิวเคลียร์ทรงอานุภาพสุดในโลกที่เคยผ่านการทดสอบ ถูกสร้างโดยสหภาพโซเวียตในปี 1961 ได้แก่ ซาร์ บอมบา (Tsar Bomba) ซึ่งประมาณการว่ามีแรงระเบิด 58 เมกะตัน เหนือกว่าระเบิดนิวเคลียร์ที่ถล่มฮิโรชิมา มากกว่า 1,500 เท่า
"ถ้อยแถลงในวันนี้ สะท้อนถึงการเปลี่ยนไปของสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคง และภัยคุกคามมากขึ้นเรื่อยๆจากเหล่าอริศัตรูทั้งหลาย" จอห์น พลัมบ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ด้านนโยบายอวกาศ กล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์ "สหรัฐฯมีหน้าที่ต้องเดินหน้าประเมินและขยายขอบเขตแสนยานุภาพที่จำเป็น เพื่อการป้องปรามที่เชื่อถือได้ และถ้าจำเป็น ก็เพื่อตอบโต้การโจมตีทางยุทธศาสตร์ใดๆ และสร้างความอุ่นใจแก่พันธมิตรของเรา"
คำแถลงนี้มีขึ้นไม่ถึง 2 สัปดาห์ หลังจากสหรัฐฯทำการทดสอบระเบิดใต้ดิน ณ สนามทดสอบนิวเคลียร์แห่งหนึ่งในรัฐเนวาดา ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 การทดสอบนี้เกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมง หลังจากสภาดูมาหรือสภาผู้แทนราษฏรของรัสเซีย ผ่านร่างกฎหมายฉบับหนึ่ง ในการถอนสัตยาบันรับรองสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (CTBT) ปี 1996 ในขณะที่สหรัฐฯไม่เคยให้การรับรองสนธิสัญญาดังกล่าว
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน บอกว่าหากสหรัฐฯกลับมาทดสอบนิวเคลียร์ ซึ่งเขาเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูง ส่วนหนึ่งในความพยายามปรับปรุงคลังแสงให้มีความทันสมัย มอสโกก็จะทำตามอย่างเช่นกัน
(ที่มา:อาร์ทีนิวส์)