xs
xsm
sm
md
lg

หายนะรำไร! รัสเซียขู่ 'ถอนสัตยาบัน' ต่อสนธิสัญญาห้ามการทดลองนิวเคลียร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัสเซียเตรียมเพิกถอนการให้สัตยาบันต่อองค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear Test Ban Treaty Organization - CTBTO) ในความเคลื่อนไหวล่าสุดที่ทำให้สหรัฐฯ ออกมาประณามว่าเป็นการบ่อนทำลาย “บรรทัดฐานสากล” ที่ต่อต้านการทดสอบนิวเคลียร์

คำประกาศของ มิคาอิล อุลยานอฟ (Mikhail Ulyanov) ผู้แทนรัสเซียประจำ CTBTO เมื่อวานนี้ (6 ต.ค.) ยิ่งเป็นการเติมเชื้อไฟให้ข้อพิพาทระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ ทั้งในเรื่องการรุกรานยูเครน และมาตรการควบคุมอาวุธระหว่าง 2 ชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์รายใหญ่ของโลก

อุลยานอฟ ได้โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์ม X ว่า “ #รัสเซีย มีแผนที่จะเพิกถอนการให้สัตยาบัน (ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2000) ต่อสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์”

“เป้าหมายก็เพื่อให้เรายืนอยู่ในระดับเดียวกับ #สหรัฐฯ ซึ่งลงนามในสนธิสัญญา แต่กลับไม่เคยให้สัตยาบัน และการเพิกถอนสัตยาบันครั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า (รัสเซีย) จะรื้อฟื้นการทดสอบนิวเคลียร์ด้วย”


สนธิสัญญา CTBT มีประเทศต่างๆ ร่วมลงนามทั้งหมด 187 ประเทศ แต่ให้สัตยาบันแล้วเพียง 178 ประเทศ และจะมีผลบังคับได้จริงก็ต่อเมื่ออีก 8 ชาติยอมลงนามและให้สัตยาบัน ซึ่งได้แก่ จีน เกาหลีเหนือ อียิปต์ อินเดีย อิหร่าน อิสราเอล ปากีสถาน และสหรัฐอเมริกา

ปัจจุบันจีน อียิปต์ อิหร่าน และอิสราเอล ได้ลงนามในสนธิสัญญานี้แล้ว แต่ยังไม่มีการให้สัตยาบันรับรองโดยรัฐสภา ขณะที่เกาหลีเหนือ อินเดีย และปากีสถาน ยังไม่ได้ลงนาม

แม้สภาคองเกรสจะยังไม่ได้ให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญา CTBT แต่สหรัฐฯ ก็ระงับการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์มาตั้งแต่ปี 1992 และยืนยันว่าไม่มีแผนละทิ้งจุดยืนนี้

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมาแถลงเกี่ยวกับท่าทีของรัสเซีย โดยระบุว่า “เรารู้สึกไม่สบายใจเกี่ยวกับสิ่งที่ทูต อุลยานอฟ กล่าวที่เวียนนาในวันนี้”

“ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ถือเป็นการบ่อนทำลายบรรทัดฐานสากลที่ต่อต้านการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์โดยไม่จำเป็น”

โฆษกผู้นี้ยังเสนอด้วยว่า รัสเซียสามารถ “ก้าวขึ้นมายืนอยู่ในระดับเดียวกับสหรัฐฯ ได้ โดยหยุดนำประเด็นการควบคุมอาวุธและการใช้อาวุธนิวเคลียร์มาเป็นเครื่องมือข่มขู่ชาติอื่น”

คำแถลงของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ บ่งชี้ว่าอเมริกากำลังมองว่ารัสเซียใช้แผนการเพิกถอนสัตยาบันต่อ CTBT มาเป็นเครื่องมือกดดันสหรัฐฯ และชาติอื่นๆ ให้หยุดส่งอาวุธและความช่วยเหลือให้แก่ยูเครน

คำพูดของ อุลยานอฟ มีขึ้นเพียง 1 วัน หลังจากที่ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียออกมาเปรยว่ามอสโกอาจพิจารณาเพิกถอนการให้สัตยาบันต่อ CTBT

ทั้งนี้ การถอนตัวของรัสเซียจะก่อความเสียหายร้ายแรงต่อสนธิสัญญาฉบับนี้ เนื่องจากรัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่ม “Annex 2” เช่นเดียวกับอีก 8 ประเทศที่จะต้องให้สัตยาบันจนครบเพื่อให้ CTBT มีผลบังคับใช้

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น