xs
xsm
sm
md
lg

โลกโล่งอก! ปูตินไม่ทำตามเสียงยุทดสอบนิวเคลียร์หนแรกรอบ 30 ปี คุยโวเท่าที่มีศัตรูหน้าไหนก็ไม่รอด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เมื่อวันพฤหัสบดี (5 ต.ค.) ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะกลับมาทดสอบนิวเคลียร์ครั้งแรกในรอบกว่า 3 ทศวรรษ และอาจถอนตัวจากการให้สัตยาบันรับรองสนธิสัญญาแบนการทดสอบนิวเคลียร์ฉบับหนึ่ง เน้นย้ำมอสโกไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนหลักการนิวเคลียร์ใดๆ และการโจมตีใดๆ ใส่รัสเซียจะถูกตอบโต้ชนิดที่ว่าศัตรูหน้าไหนก็ไม่รอด

ปูติน ซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายในมหาอำนาจนิวเคลียร์รายใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ ยังเผยด้วยว่า มอสโกเพิ่งประสบความสำเร็จในการทดสอบ Burevestnik ขีปนาวุธร่อนพลังงานนิวเคลียร์และมีศักยภาพติดหัวรบนิวเคลียร์ ขีดความสามารถที่เขาคุยโวว่าไม่มีใครเทียบได้

ผู้นำวังเครมลินกล่าวว่า ไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงหลักการนิวเคลียร์ของรัสเซีย อย่างไรก็ตาม การโจมตีใดๆ ใส่รัสเซียจะกระตุ้นการตอบโต้ภายในเวลาไม่กี่วินาที ด้วยขีปนาวุธหลายร้อยลูก ที่ไม่มีศัตรูหน้าไหนอยู่รอดได้

"เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงด้วยหรือ แล้วทำไมต้องเปลี่ยนด้วยล่ะ ทุกๆ สิ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ผมมองไม่เห็นถึงความจำเป็นสำหรับสิ่งนี้" ปูตินพูดถึงหลักการนิวเคลียร์ นโยบายที่ทางวังเครมลินกำหนดถึงกรณีแวดล้อมต่างๆ ที่ทางรัสเซียอาจใช้อาวุธนิวเคลียร์

เขาบอกต่อว่าปัจจุบันความอยู่รอดของรัสเซียไม่ได้อยู่ภายใต้ภัยคุกคาม "ผมคิดว่าคงไม่มีคนจิตปกติคนไหนที่จะคิดใช้อาวุธนิวเคลียร์กับรัสเซียหรอก" ปูตินกล่าวระหว่างร่วมประชุม Valdai Discussion Club ในเมืองโซชิ ดินแดนตากอากาศริมทะเลดำ "ผมได้ยินเสียงเรียกร้องให้เริ่มทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ กลับมาทดสอบ" ปูตินกล่าว อ้างถึงคำแนะนำของบรรดานักรัฐศาสตร์และพวกผู้สันทัดกรณีสายแข็งกร้าว ที่บอกว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะเป็นการส่งสารทรงพลังไปถึงบรรดาศัตรูของมอกโกในตะวันตก

ปูติน เน้นย้ำด้วยว่าสหรัฐฯ ลงนามในสนธิสัญญาแบนการทดสอบนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ แต่ไม่ได้ให้สัตยาบันรับรอง ผิดกับทางรัสเซียที่ทั้งลงนามและให้สัตยาบันรับรองมัน

"ผมไม่พร้อมที่จะบอกว่าเรามีความจำเป็นจริงๆ ที่ต้องทดสอบนิวเคลียร์หรือไม่ แต่มันมีความเป็นไปได้ในทางทฤษฎี แบบเดียวกับสหรัฐฯ" ปูตินกล่าว "แต่เรื่องนี้มันเป็นคำถามสำหรับบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในทางทฤษฎีเป็นไปได้ที่จะถอนสัตยาบันรับรอง นั่นคงจะเพียงพอแล้ว"

ความคิดเห็นของปูติน เป็นการตอบคำถามจาก เซียร์เก คารากานอฟ นักรัฐศาสตร์ชาวรัสเซีย ซึ่งต้องการให้ประเทศปรับท่าทีทางนิวเคลียร์แข็งกร้าวยิ่งขึ้น โดย คารากานอฟ ถามถึงความเป็นไปได้ที่ ปูติน อาจลดระดับกฎเกณฑ์ทางนิวเคลียร์ลง เพื่อเรียกสติพวกคู่อริที่อวดดีของรัสเซีย

ภายในรัสเซีย มีเสียงเรียกร้องบางส่วนไปยังปูติน ขอให้จุดชนวนระเบิดนิวเคลียร์สักลูก เพื่อแสดงให้เห็นถึงขีดจำกัดด้านความอดทนของรัสเซีย ต่อกรณีที่ตะวันตกให้การสนับสนุนยูเครน

เมื่อเร็วๆ นี้ มาร์การิจา ซิมอนยาน บรรณาธิการสำนักข่าวอาร์ทีนิวส์ สื่อมวลชนที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากภาครัฐ แนะนำให้รัสเซีย ควรจุดชนวนระเบิดนิวเคลียร์เหนือไซบีเรีย

ในช่วง 5 ทศวรรษระหว่างปี 1945 จนถึงก่อนมีการลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ปี 1996 มีการทดสอบนิวเคลียร์มากกว่า 2,000 ครั้ง ในนั้น 1,032 ครั้ง ดำเนินการโดยสหรัฐฯ และ 715 ครั้ง ดำเนินการโดยสหภาพโซเวียต จากข้อมูลของสหประชาชาติ

สหภาพโซเวียตทำการทดสอบนิวเคลียร์หนสุดท้ายย้อนกลับไปในปี 1990 ส่วนครั้งสุดท้ายของสหรัฐฯ เกิดขึ้นในปี 1992

ความเคลื่อนไหวกลับมาทดสอบนิวเคลียร์ใดๆ ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย สหรัฐฯ หรือทั้ง 2 ฝ่าย แน่นอนว่าจะโหมกระพือภาวะไร้เสถียรภาพอย่างรุนแรง ในช่วงเวลาที่ความตึงเครียดระหว่าง 2 ชาติพุ่งสูงสุดนับตั้งแต่วิกฤตขีปนาวุธนิวคิวบาปี 1962

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปูติน ระงับรัสเซียจากการมีส่วนร่วมในสนธิสัญญา New START ที่จำกัดจำนวนอาวุธนิวเคลียร์ที่แต่ละฝ่ายสามารถประจำการได้

ในวันพฤหัสบดี (5 ต.ค.) ปูติน เผยด้วยว่า รัสเซียใกล้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วในการพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีป 'ซาร์มัต' รุ่นใหม่ ซึ่งมีศักยภาพติดหัวรบนิวเคลียร์ 10 ลูกขึ้นไป และอ้างอีกว่า รัสเซียประสบความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธร่อนพลังงานนิวเคลียร์ Burevestnik ด้วยเช่นกัน แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าการทดสอบเกิดขึ้นเมื่อไหร่

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น