เกาหลีใต้จัดพิธีสวนสนามทางทหารเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ทศวรรษเมื่อวันอังคาร (26 ก.ย.) จัดแสดงคลังแสงล้ำสมัย ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ดำดิ่งลงเรื่อยๆ กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีเหนือที่ติดอาวุธนิวเคลียร์
ในส่วนของเปียงยาง มักจัดพิธีสวนสนามครั้งใหญ่อวดแสนยานุภาพอยู่เป็นประจำ แต่สำหรับในโซล กิจกรรมดังกล่าวตามธรรมเนียมแล้วจะจัดกันในทุกๆ 5 ปี เนื่องในวาระวันแห่งกองทัพของเกาหลีใต้
อย่างไรก็ตาม พิธีสวนสนามหนสุดท้ายต้องย้อนกลับไปในปี 2013 เนื่องจากในอีก 5 ปีต่อมา ประธานาธิบดีมูน แจ-อิน ณ ขณะนั้นเลือกที่จะจัดพิธีเฉลิมฉลองแทนพิธีทางทหาร เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางประนีประนอมในการฟื้นความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ
ทหารราว 4,000 นายเดินขบวนผ่านใจกลางกรุงโซลในบ่ายวันอังคาร (26 ก.ย.) ที่มีฝนตกลงมา ท่ามกลางเสียงเชียร์จากฝูงชนที่ถือร่มเข้าร่วมชมและโบกธงชาติเกาหลีใต้
ขบวนสวนสนามมาพร้อมยุทโธปกรณ์ทางทหาร 170 ชิ้น ในนั้นรวมถึงโดรนทางอากาศและทางทะเล รถถัง และขีปนาวุธ อย่างไรก็ตาม จำนวนทหารและยุทโธปกรณ์ที่เข้าร่วมครั้งนี้ถูกเจ้าหน้าที่ปรับลดจำนวนลงจากแผนเดิมที่วางเอาไว้
นอกจากนี้ เดิมทีจะมีการแสดงการบินของเครื่องบินรบเกาหลีใต้ ซึ่งรวมถึงเครื่องบินรบล่องหน F-35 ที่ผลิตโดยสหรัฐฯ แต่ถูกยกเลิกไปเนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย
ประธานในพิธี ประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอล ของเกาหลีใต้ เฝ้าดูขบวนพาเหรดบนอัฒจันทร์และปรบมือให้บรรดาทหาร ตอนที่พวกเขาเคลื่อนขบวนผ่าน
เพื่อแสดงออกถึงรากฐานที่เข้มแข็งของความเป็นพันธมิตรระหว่างโซลกับวอชิงตัน พบเห็นบุคลากรทางทหารของสหรัฐฯ ราว 300 นายเข้าร่วมพิธีสวนสนามในครั้งนี้ด้วย
ยุน ซึ่งได้รับเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว ผลักดันเกาหลีใต้ให้มีความใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น โดย 2 พันธมิตรที่จับมือกันมาอย่างยาวนาน ได้ยกระดับความร่วมมือด้านกลาโหมต่างๆ ในนั้นรวมถึงการซ้อมรบร่วมขนาดใหญ่ เพื่อตอบโต้ภัยคุกคามหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ จากเกาหลีเหนือ
ก่อนหน้านี้ ระหว่างพิธีหนึ่งเนื่องในวันกองทัพ ณ ฐานทัพอากาศแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของกรุงโซล ประธานาธิบดียุน กล่าวยกย่องการขยายขอบเขตความสัมพันธ์ด้านการป้องกันตนเองระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ "ถ้าเกาหลีเหนือใช้อาวุธนิวเคลียร์ รัฐบาลของพวกเขาจะถึงจุดจบจากการตอบโต้ที่หนักหน่วงรุนแรงจากพันธมิตรเกาหลีใต้-สหรัฐฯ" เขากล่าว
เกาหลีเหนือเองได้ทำการทดสอบอาวุธหลายครั้งในปีนี้ แม้ว่าจะถูกนานาชาติคว่ำบาตรก็ตาม ในนั้นรวมึงขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM)
เฉพาะปีนี้เพียงปีเดียว เปียงยางได้จัดพิธีสวนสนามทางทหารไปแล้ว 3 ครั้ง อวดยุทโธปกรณ์ต่างๆ มากมาย รวมถึงขีปนาวุธข้ามทวีปใหญ่ที่สุดของพวกเขา 'ฮวาซอง-17'
เกาหลีใต้คือชาติผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ แต่มีนโยบายภายในประเทศที่ยึดถือมาช้านาน ห้ามส่งออกอาวุธไปประเทศต่างๆ ที่ยังอยู่ในความขัดแย้ง เช่น ยูเครน เพราะฉะนั้นโซลจึงขัดขืนเสียงเรียกร้องที่ขอให้จัดหาอาวุธป้อนแก่เคียฟโดยตรง แม้ว่าพวกเขาจะร่วมประณามการรุกรานของรัสเซียก็ตาม
อย่างไรก็ดี พวกผู้เชี่ยวชาญมองว่าข้อตกลงใดๆ ที่เกาหลีเหนือจัดหาอาวุธแก่รัสเซีย สำหรับนำไปใช้ในความขัดแย้งกับยูเครน อาจกระตุ้นให้เกาหลีใต้ทบทวนจุดยืนของพวกเขาเองในประเด็นส่งออกอาวุธไปยูเครน
เกาหลีใต้คว้าข้อตกลงส่งออกอาวุธไปทั้งสิ้นคิดเป็นมูลค่า 17,300 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว ในนั้นรวมถึงข้อตกลง 12,700 ล้านดอลลาร์ที่ทำกับโปแลนด์ ชาติสมาชิกนาโตและพันธมิตรหลักของยูเครน ในการจัดหาปืนใหญ่อัตตาจร K9 ฮาวอิตเซอร์ รถถังประจัญบาน K2 และอื่นๆ
(ที่มา : เอเอฟพี)