หากอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง เมื่อนั้น ซาอุดีอาระเบียก็จำเป็นต้องทำแบบเดียวกัน จากคำเตือนของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ระหว่างให้สัมภาษณ์กับฟ็อกซ์นิวส์ ซึ่งบางช่วงบางตอนได้มีการเผยแพร่เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา
"ประเทศใดก็ตามที่กำลังมีอาวุธนิวเคลียร์ มันเป็นความเคลื่อนไหวที่แย่ๆ" มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียกล่าวตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามว่า ริยาดจะตอบโต้อย่างไร หากว่า เตหะรานกลายเป็นมหาอำนาจทางนิวเคลียร์ "ถ้าหากอิหร่านมีอาวุธนิวเคลยร์ ประเทศใดที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ นั่นหมายความว่าพวกเขากำลังทำสงครามกับที่เหลือของโลกใบนี้"
เจ้าชายกล่าวต่อว่า เหล่ามหาอำนาจโลกจะมาพร้อมกับมาตรการตอบโต้ร่วมกัน "เพราะว่าโลกไม่อาจเห็นอีกหนึ่งฮิโรชิมา ถ้าว่าโลกเห็นประชาชน 100,000 คนต้องตาย คุณจะทำสงครามกับทั้งโลก" ทั้งนี้ มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย อ้างถึงกรณีสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูใส่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิของญี่ปุ่น ในเดือนสิงหาคม 1945 ใน 2 เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นห่างกัน 4 วัน และจนถึงปัจจุบัน ยังเป็นแค่การใช้อาวุธนิวเคลียร์เพียงครั้งเดียวของโลกในความขัดแย้งหนึ่งๆ
ผู้สื่อข่าวฟ็อกซ์นิวส์ ขอคำตอบตรงกว่านี้จากเจ้าชาย โดยถามว่า "ถ้าอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ แล้วท่านล่ะ?" ซึ่งในเรื่องนี้ มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ตอบว่า "ถ้าพวกเขามี เราก็จำเป็นต้องมีเช่นกัน"
อิหร่านซึ่งยังคงอยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรของนานาชาติเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของพวกเขา ปฏิเสธซ้ำๆ ต่อคำกล่าวอ้างของสหรัฐฯ อิสราเอลและประเทศอื่นๆ ว่าพวกเขากำลังหาทางพัฒนาอาวุธปรมาณู
ระหว่างปราศรัยกับสหประชาชาติเมื่อวันอังคาร (19 ก.ย.) ประธานาธิบดีเอบราฮิม ไรซี แห่งอิหร่าน เน้นย้ำว่าเตหะรานจะไม่มีวันสละสิทธิในการมี "พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ" อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ไม่ได้อยู่ในหลักการด้านการป้องกันตนเองและหลักการทางทหารของอิหร่านแต่อย่างใด
ไรซี บอกด้วยว่าประเทศของเขากระตือรือร้นในการคืนสู่ข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 หรือ แผนปฏิบัติการร่วมที่ครอบคลุม (Joint Comprehensive Plan for Action หรือ JCPOA) ซึ่งเสนอยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรแลกกับการที่เตหะรานจำกัดกิจกรรมทางนิวเคลียร์ พร้อมเน้นย้ำว่าการถอนตัวฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ จากข้อตกลงนี้ ภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นการตอบโต้ที่ไม่เหมาะสม ในขณะที่อิหร่านได้ทำตามพันธสัญญาต่างๆ ส่วนหนึ่งในข้อตกลง JCPOA ทุกประการ
เสียงเตือนของมกุฎราชกุมารบิน ซัลมาน มีขึ้นแม้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้ ซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน 2 ชาติที่เป็นคู่อริกันมานาน ปรับท่าทีเข้าหากัน และได้รื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตที่ตัดขาดกันไปนานกว่า 7 ปี เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผ่านการมีจีนเป็นคนกลาง
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)