รัสเซียประสบความสำเร็จในการทดสอบศักยภาพการโจมตีทางนิวเคลียร์แก้แค้นขนานใหญ่ ทั้งทางบวก ทะเล และอากาศ จากการเปิดเผยของวังเครมลินในวันพุธ (25 ต.ค.) การสำแดงสรรพกำลัง ซึ่้งประจวบเหมาะกับที่มอสโกเพิ่งถอนสัตยาบันรับรองสนธิสัญญาห้ามทดสอบนิวเคลียร์อันสำคัญฉบับหนึ่ง
การฝึกซ้อมครั้งนี้ซึ่งเกี่ยวข้องกับการยิงทดสอบขีปนาวุธจากไซโลทางภาคพื้นแห่งหนึ่ง รวมถึงจากเรือดำน้ำและเครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกล เกิดขึ้นในขณะที่มอสโกกำลังติดหล่มอยู่ในสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าการเผชิญหน้ากับตะวันตก เพื่อความดำรงอยู่ของรัสเซีย
ท่ามกลางความตึงเครียดที่พุ่งสูงสุดนับตั้งแต่วิกฤตขีปนาวุธคิวบา 1962 ทางรัสเซียซึ่งเป็นชาติที่มีคลังแสงนิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดในโลก ได้เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วในการถอนสัตยาบันรับรองสนธิสัญญาห้ามทดสอบนิวเคลียร์ฉบับหนึ่ง หลังจากสหรัฐฯ ยังไม่ได้ให้สัตยาบันรับรองสนธิสัญญาดังกล่าว
วยาเชสลาฟ โวโลดิน ประธานสภาดูมา หรือสภาผู้แทนราษฎรของรัสเซีย ระบุเมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมาว่า ในขณะที่รัสเซียได้ให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาฉบับนี้ตั้งแต่ปี 2000 สหรัฐฯ กลับยังนิ่งเฉยอยู่ ซึ่งสะท้อนถึงทัศนคติที่ไร้ความรับผิดชอบของอเมริกาต่อความมั่นคงของโลก
"การยิงทดสอบในทางปฏิบัติ ขีปนาวุธแบบทิ้งตัวและขีปนาวุธร่อน เกิดขึ้นระหว่างการฝึกฝน" วังเครมลินระบุในถ้อยแถลงในวันพุธ (25 ต.ค.) เกี่ยวกับการซ้อมรบทางนิวเคลียร์
ภาพข่าวสถานีโทรทัศน์แห่งรัฐ พบเห็น เซียร์เก ซอยกู รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซียกำลังรายงานการซ้อมรบแก่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผ่านวิดีโอลิงก์ ซึ่งเขาบอกว่ามันเป็นการฝึกซ้อม "โจมตีทางนิวเคลียร์ขนานใหญ่" ตอบโต้การโจมตีทางนิวเคลียร์ของผู้รุกราน
ถ้อยแถลงของวังเครมลินระบุว่า ขีปนาวุธข้ามทวีปยาร์สลูกหนึ่ง ถูกยิงออกจากฐานทดสอบ ใส่เป้าหมายหนึ่งในทางตะวันออกไกลของรัสเซีย นอกจากนี้ เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ลำหนึ่งได้ยิงขีปนาวุธขึ้นจากทะเลแบเรนตส์ และเครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกล Tu-95MS ได้ทดสอบยิงขีปนาวุธร่อนจากอากาศ
"แน่นอนว่าในกรณีต่างๆ เหล่านี้เป็นการทดสอบระดับความพร้อมของเจ้าหน้าที่บัญชาการทางทหาร และศักยภาพของเจ้าหน้าที่ระดับสูงและเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ในการจัดระบบกองกำลังที่อยู่ใต้บังคับบัญชา" ถ้อยแถลงระบุ "ภาระหน้าที่ต่างๆ ที่วางแผนไว้ระหว่างการฝึกฝนครั้งนี้ประสบความสำเร็จโดยสมบูรณ์"
ก่อนหน้านี้ รัสเซียเคยทำการซ้อมรบลักษณะดังกล่าว ในการทดสอบสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า 3 เหล่านิวเคลียร์ (nuclear triad) เป็นครั้งคราว ในขณะที่สหรัฐฯ เองก็ทำการทดสอบนิวเคลียร์อยู่เป็นประจำ
รัสเซียบอกว่าแม้จะเพิกถอนสัตยาบันไปแล้ว แต่ยังคงเป็นรัฐภาคีที่ร่วมลงนาม และจะยังให้ความร่วมมือกับสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (CTBT) ตลอดจนระบบเฝ้าระวังที่จะเตือนให้ทั่วโลกได้รับรู้เมื่อมีการทดสอบนิวเคลียร์เกิดขึ้น
มอสโกบอกว่ารัสเซียจะกลับมาทดสอบนิวเคลียร์ก็ต่อเมื่อสหรัฐฯ ทำเช่นนั้นก่อน โดยระบุเหตุผลเดียวที่รัสเซียถอนสัตยาบันรับรอง CTBT เพื่อดึงตนเองกลับมาอยู่ในระนาบเดียวกับสหรัฐฯ ซึ่งลงนาม แต่ไม่เคยให้สัตยาบันรับรองสนธิสัญญาฉบับนี้
(ที่มา : รอยเตอร์)