เป็นซีรีส์ที่พูดได้ว่าสนุกมากอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งสตรีมทางช่องดิสนีย์ พลัส ฮอตสตาร์ อยู่ในเวลานี้ โดยในขณะที่เขียนบทความชิ้นนี้ ซีรีส์ได้เดินทางมาถึง EP ที่ 3 แล้ว และเหลืออีก 7 EP จะถึงตอนจบ ซึ่งเชื่อแน่ว่า คนที่เริ่มดูไปแล้ว ต้องใจจดใจจ่อรอคอย EP ต่อ ๆ ไปอย่างแน่นอน
“โชกุน” หรือ FX’ Shōgun สร้างมาจากนวนิยายของ เจมส์ คลาเวลล์ ซึ่งโด่งดังมากในอดีต มียอดขายมากกว่า 15 ล้านเล่มทั่วโลก อีกทั้งเคยทำเป็นหนังชุดมาแล้วและได้รับความนิยมสูงมากด้วยยอดผู้ชมมากกว่า 120 ล้านคน
ใจความสำคัญของนิยายและซีรีส์เรื่องนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานการอ้างอิงข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมญี่ปุ่นในช่วง ค.ศ.1600 ซึ่งเวลานั้น เกิดสงครามเซงกิงะฮะระ หรือสงครามแย่งชิงอำนาจระหว่างไดเมียว (ผู้ปกครองแคว้น) เจมส์ คราเวลล์ ผู้แต่งนิยายได้แรงบันดาลใจเริ่มต้นมาจากข้อความในหนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์ของลูกสาวที่ระบุว่า “ในปี ค.ศ.1600 วิลเลียม อดัมส์ (William Adams) ชาวอังกฤษที่ไปญี่ปุ่นและได้รับการแต่งตั้งเป็นซามูไร”
นั่นจึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด หากเราจะเทียบเคียงตัวละครหลักในเรื่องได้ว่า จอห์น แบล็กธอร์น ตัวละครนักเดินเรือชาวอังกฤษ จริง ๆ แล้วก็มีต้นขั้วแนวคิดมาจากวิลเลียม อดัมส์ ขณะที่ไดเมียวโยชิอิ โทรานางะ ในนิยาย ก็มีสารตั้งต้นคือ “โทกุงะวะ อิเอยาสุ” โชกุนผู้ปกครองญี่ปุ่นยาวนานกว่า 200 ปี (ค.ศ.1603-1867) ส่วนเนื้อหาเรื่องราวรายละเอียด ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า มีเค้าโครงมาจากเรื่องจริงของญี่ปุ่นในยุคนั้นซึ่งเจมส์ คลาเวลล์ ได้ทำการค้นคว้ามาอย่างละเอียดยิบ
จากนวนิยายที่ยาวกว่าสองพันหน้ากระดาษ สู่ซีรีส์ฟอร์มยักษ์โดยการสร้างสรรค์ของ FX Productions พาเราย้อนเวลาไปยังยุคศักดินาของญี่ปุ่นในห้วงที่กำลังเกิดความวุ่นวายในหมู่ชนชั้นปกครองหลังจากสูญเสียโชกุนคนเดิมไปไม่นาน ใครจะขึ้นมาเป็นโชกุนคนต่อไป เกมนี้มีอำนาจและชีวิตเป็นเดิมพัน ในบรรดาไดเมียวทั้ง 5 คน มีอยู่ 4 คนที่ดูจะเข้ากันได้ดี โดยที่ไดเมียวโทรานางะ ตกเป็นฝ่ายหัวเดียวกระเทียมลีบ ถูกบีบถูกรุมทุกช่องทาง จนกระทั่งเขาได้พบกับ “คนเถื่อน” จากเกาะอังกฤษ หรือ “คนนอกรีตของคาทอลิก” อย่าง จอห์น แบล็กธอร์น
จอห์น แบล็กธอร์น คือ “ต้นหน” เรือสินค้าที่มาจากอังกฤษ แต่แล้วก็เหมือนชะตาฟ้าลิขิตให้เรือของเขาถูกพายุโถมซัดให้มาติดที่เกาะแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นและได้รับการคุมตัวไว้ ซึ่งนั่นก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันกับศึกชิงอำนาจครั้งนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้
โดยภาพรวม ถือว่าซีรีส์ได้หยิบใจความสำคัญของนวนิยายมาถ่ายทอดได้อย่างยอดเยี่ยม ได้อรรถรสความสนุกเข้มข้นไม่แพ้การอ่านต้นฉบับนวนิยาย ทำให้เราเห็นภาพสถานการณ์ที่วุ่นวายในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อและการเปลี่ยนผ่านซึ่งถือว่าเป็นช่วงประวัติศาสตร์ที่สำคัญมาก ๆ อีกช่วงหนึ่งของญี่ปุ่น เพราะไม่เพียงแค่ศึกภายในที่เกิดการแก่งแย่งชิงอำนาจกันเองเพื่อขึ้นครองความเป็นใหญ่เหนือจักรวรรดิ แต่ยังมีศึกภายนอกอาณาจักรที่กำลังถูกรุกรานอย่างเงียบ ๆ จากพวกนักล่าอาณานิคมโดยมีนักสอนศาสนาเป็นกลไกสำคัญ
ซีรีส์เรื่องนี้ดูสนุกไม่แพ้ Game of Thrones ที่มีตัวละครหลายฝักหลายฝ่าย หลายตระกูล ที่ต้องห้ำหั่นกันด้วยชั้นเชิงและไหวพริบแบบพลาดไม่ได้แม้แต่หมากเดียว การใช้เล่ห์เหลี่ยมที่ต้องรู้เท่าทัน ชิงไหวชิงพริบ การวางแผนหลอกล่อตบตา การออกอุบายให้แยบยล หรือใช้ใครเป็นเครื่องมือได้ก็ต้องใช้ การเจรจาต่อรอง บนกระดานการเมืองทั้งบนดินและใต้ดิน หรือแม้กระทั่งการเล่นเกมสกปรก ไปจนถึงการใช้กำลังด้านทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ ทั้งหมดหลอมรวมให้เรื่องราวดำเนินไปอย่างเข้มข้นและน่าติดตาม
แน่นอนว่า องค์ประกอบหนึ่งซึ่งนำพาความน่าสนใจให้กับคนดู คงหนีไม่พ้นตัวละครซึ่งแต่ละตัวก็ต้องบอกว่า มีมากมายหลายมิติในตัวเองจนแทบไม่สามารถชี้ชัดตัดสินได้ด้วยคำพูดใดคำพูดหนึ่ง เนื่องด้วยสถานการณ์บ้านเมืองในยามนี้ ทุกสิ่งอย่างพร้อมจะพลิกผันได้เสมอ ขณะที่ในส่วนของนักแสดงที่มารับบทตัวละครเหล่านั้น ก็เป็นแคสติ้งที่โดดเด่นดีงามอย่างมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฮิโรยูกิ ซานาดะ ซึ่งรับตำแหน่งโปรดิวเซอร์ให้เรื่องนี้ด้วย แม้ว่าเขาจะเคยเล่นบทซามูไรมาแล้วหลายเรื่อง แต่นี่คือการขยับขึ้นไปอีกขั้นด้วยการรับตำแหน่งไดเมียวผู้ปกครองแคว้น ซานาดะในบทไดเมียวโทรานางะคือความเฉียบขาดแบบมืออาชีพโดยแท้จริง ตั้งแต่การวางท่าไปจนถึงสีหน้าแววตาและลีลาการพูดที่แลดูสุขุมน่าเกรงขาม มีความเฉลียวฉลาดเฉียบแหลมซึ่งเป็นบุคลิกหนึ่งของบุคคลที่พร้อมจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ
ส่วนฝรั่งอังกฤษอย่างจอห์น แบล็กธอร์น ซึ่งคนญี่ปุ่นขนานนามให้เมื่อแรกพบว่า “คนเถื่อน” (ส่วนนักการศาสนาคาทอลิก เรียกว่า “คนนอกรีต”) ฝรั่งคนนี้นับเป็นคนปากจัดคนหนึ่ง ในนวนิยายนี่เรียกได้ว่า พูดคำสบถคำ แถมไม่เกรงกลัวอะไรเท่าไหร่ แต่สุดท้ายเขาก็ได้กลายมาเป็นตัวละครสำคัญที่ร่วมผลักดันเรื่องราวให้ก้าวไปข้างหน้า ซึ่งนักแสดงอย่าง “คอสโม จาร์วิส” ก็สวมบทนี้ได้อย่างไม่มีที่ติ
นอกจากนั้น ยังมีนักแสดงอาชีพอย่าง “ทาดาโนบุ อาซาโน่” ที่มาในบทบาทแบบคาดเดาอะไรไม่ค่อยได้ เพราะทุกการกระทำขึ้นอยู่กับแรงเหวี่ยงของผลประโยชน์ เป็นอีกบทที่มีสีสันมาก ๆ ขณะที่ “แอนนา ซาวาย” นักแสดงสาวฝีมือดีที่มารับบทซามูไรนามว่า โทดะ มาริโกะ ที่มีฉากให้โชว์ทั้งแอ็คชั่นและดราม่าสะเทือนใจ
ท่ามกลางสถานการณ์คุกรุ่นและวุ่นวาย สิ่งหนึ่งซึ่งดึงดูดสายตาของคนดูให้อยู่กับภาพบนจอได้เป็นอย่างดี คือ โปรดักชันงานสร้างที่อลังการน่าตื่นตา โดยเฉพาะภาพเมืองโอซาก้าในสมัยนั้นที่ไม่น่าเชื่อว่า ซีรีส์ไม่ได้ถ่ายทำที่ญี่ปุ่นด้วยซ้ำ แต่ถ่ายทำที่แวนคูเวอร์ แคนาดา และเนรมิตออกมาได้งดงามตรึงตรา เช่นเดียวกับคอสตูมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ได้ยินมาว่า เป็นงานแฮนเมดแทบทั้งหมด ดูสวยงามหมดจดละมุนตา สะท้อนถึงความประณีตพิถีพิถันของทีมงานที่ตั้งใจทำออกมาอย่างสุดฝีมือ
แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ การสื่อสารผ่านบทที่ร้อยเรียงเรื่องราวตรึงความสนใจคนดูได้อยู่หมัดและอยากติดตามไปเรื่อย ๆ ทั้งหมดทั้งมวล ส่งผลให้ “โชกุน” เป็นซีรีส์อิงประวัติศาสตร์อีกหนึ่งเรื่องที่น่าดูหรือต้องดู ไม่ใช่เพียงแค่ความบันเทิงที่จะได้รับ แต่ยังจะได้ซึมซับวิถีวัฒนธรรมญี่ปุ่นในอดีตซึ่งบางอย่างก็ตกทอดมาจนปัจจุบัน และที่สำคัญคือการได้รับรู้แง่มุมเชิงประวัติศาสตร์ซึ่งสามารถนำมาขบคิดเป็นบทเรียนได้ เพราะประวัติศาสตร์มีอะไรให้เราเรียนรู้ได้เสมอ ๆ