xs
xsm
sm
md
lg

ในความทรงจำ คุณค่าและความหมาย ของ ‘บุษบา เตชศรีสุธี’ ทายาทและผู้กุมบังเหียน ‘Starpics’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ระยะเวลา 57 ปี หรือการก้าวสู่ทศวรรษที่ 6 ของนิตยสาร ‘Starpics’ ที่ก่อตั้งโดยคุณ ‘สุชาติ เตชศรีสุธี’ ( ปัจจุบัน เปลี่ยนชื่อเป็น ‘สุชาย’ ) นับเป็นนิตยสารที่มีอายุยืนยาวนานมากที่สุดของไทย
กระทั่งผู้เป็นพ่อส่งต่อบทบาทของการเป็นบรรณาธิการบริหารมาถึงรุ่นลูกคือ ‘บุษบา เตชศรีสุธี' ที่ต้องรับไม้ต่อ 

กุมบังเหียน ‘Starpics’ ให้ก้าวผ่านยุคสมัยไปได้อย่างน่าชื่นชม

ความทรงจำแรกเริ่มเกี่ยวกับนิตยสาร กลิ่นหมึก กระดาษ โรงพิมพ์ กลายเป็นสถานที่แสนสนุกของเด็กน้อย ที่ทุกวันหลังเลิกเรียน เธอจะนั่งรอคอยคุณพ่อคุณแม่ทำนิตยสาร Starpics ที่คุณพ่อของเธอเป็นบรรณาธิการผู้คอยดูแลการทำรูปเล่ม เนื้อหา ส่วนคุณแม่ทำหน้าที่ฝ่ายการตลาด โฆษณา


เด็กน้อยได้อ่านหนังสือ ได้ชมภาพสวยๆ เหล่านี้กลายเป็นแรงบันดาลใจ เป็นสิ่งที่ปลูกฝังความรักและหลงใหลที่เธอมีต่อศิลปะ
หลังจากจบการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยในเมืองไทย เธอตัดสินใจไปเรียนต่อต่างประเทศในด้าน โปรแกรม 3D Animation and Visual Effect ที่ Vancouver Film school (VFS)

เมื่อเรียนจบ กลับมาเมืองไทย ก็ได้เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์การทำงานบริษัทอื่นๆ จากนั้น จึงกลับมาทำงานที่ Starpics อย่างจริงจัง ค่อยๆ เรียนรู้งานกองบรรณาธิการด้านต่างๆ กระทั่งก้าวสู่การเป็นบรรณาธิการบริหารในวัยราว 28 ปี
Starpics ภายใต้การดูแลของเธอ บรรยากาศการทำงานที่สบายๆ เว้นช่วงเวลาปิดเล่ม การหารือ นำเสนอไอเดียที่สร้างความแปลกใหม่ และน่าสนใจ โดยที่ยังคงจุดยืมดั้งเดิมนับแต่รุ่นคุณพ่อเอาไว้ 
นั่นคือ การเป็นนิตยสารที่อ่านได้ทุกเพศวัย ทุกคนในครอบครัวอ่านด้วยกันได้

นอกจากจิตวิญญาณของคนทำหนังสือ ที่ได้รับการปลูกฝังมานับแต่เยาว์วัย กระทั่งพบและผ่านยุคทองของภาพยนตร์ มาสู่ยุค Streaming ที่ความบันเทิงส่งตรงถึงหน้าจอโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์

เช่นนั้นแล้ว มุมมองที่มีต่อความเปลี่ยนผ่านและการนำเสนอของ Starpics จึงก้าวพร้อมไปกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง, กระบวนการปรับตัว ปรับรูปแบบการทำงานของกองบรรณาธิการ และสะท้อนไลฟ์สไตล์การชมภาพยนตร์ในยุคสมัยโลกหลังโควิด-19 ที่เธอบอกเล่าได้อย่างน่าสนใจ

‘ผู้จัดการออนไลน์’ สัมภาษณ์พิเศษ ‘บุษบา เตชศรีสุธี’
และทั้งหมดทั้งปวง คือถ้อยคำจากเธอคนนี้

‘สุชาติ เตชศรีสุธี’ ( ปัจจุบัน เปลี่ยนชื่อเป็น ‘สุชาย’ ) ผู้ก่อตั้ง ‘Starpics’

‘สุชาติ เตชศรีสุธี’ ( ปัจจุบัน เปลี่ยนชื่อเป็น ‘สุชาย’ ) ผู้ก่อตั้ง ‘Starpics’
‘Starpics’ ในความทรงจำ

ถามว่า การก่อกำเนิดนิตยสาร ‘Starpics’ นับตั้งแต่รุ่นคุณพ่อคือคุณ ‘สุชาติ เตชศรีสุธี' ( ปัจจุบัน เปลี่ยนชื่อเป็น ‘สุชาย’ ) กระทั่งมาถึงรุ่นคุณที่ต้องรับไม้ต่อ เป็นบรรณาธิการบริหาร ‘Starpics’ มีความทรงจำแรกเริ่มเกี่ยวกับนิตยสารนี้อย่างไรบ้าง


บุษบาตอบว่า “สิ่งที่เห็นมาตั้งแต่เด็กคือ คือคุณพ่อคุณแม่ทำนิตยสาร Starpics เป็นธุรกิจครอบครัว ทำกันในบ้าน แล้วอาจจะไม่ได้มีลักษณะแบบบริษัทใหญ่ เพราะหลายๆ อย่างเราก็ทำกันเอง โรงพิมพ์ก็เป็นโรงพิมพ์ของญาติ เป็นลักษณะกงสี แล้วคุณพ่อจะดูแลการทำรูปเล่ม เนื้อหา เป็นบรรณาธิการดูแลกองบรรณาธิการ ส่วนคุณแม่ดูฝ่ายการตลาด โฆษณา

“เราก็จะเห็นตั้งแต่เด็ก ตอนเป็นเด็กเราไม่อยากทำด้วยซ้ำ เพราะเราเห็นว่าพ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลา กลับก็ดึก วันหยุดก็ต้องเข้าไปทำ เพราะเป็นธุรกิจส่วนตัว ไม่ได้ใหญ่มาก เราไม่ใช่บริษัทใหญ่
แล้วบางครั้งเราก็ต้องช่วยกันทำหลายๆ อย่าง ทำเองเยอะ ตอนเป็นเด็กเรารู้สึกว่าปัญหามันเยอะ แล้วก็เหมือนคุณพ่อคุณแม่ไม่มีเวลาส่วนตัวเท่าไหร่ ในความรู้สึกของเราก็คือไม่น่าทำเลย ( หัวเราะ ) เพราะเราเห็นพ่อแม่เพื่อนที่เขาทำงานประจำ แล้วเขามีวันหยุดชัดเจน ไม่เครียด เรารู้สึกว่าเป็นอย่างนั้นดีกว่า แต่ก็ด้วยความที่เราผูกพันกับหนังสือหรือหนัง เพราะเราอ่านมาตั้งแต่เด็กๆ คืออ่านรอคุณพ่อคุณแม่ เลิกเรียนแล้วเราก็ไปนั่งรอที่ออฟฟิศ ก็อ่านไปเรื่อยๆ ค่ะ หรือว่าบางครั้ง คุณพ่อคุณแม่ก็ให้ดูหนัง พาไปดูหนังบ่อยๆ บ้านอื่นเขาอาจไปเที่ยว แต่บ้านเรา คุณพ่อคุณแม่พาไปดูหนังบ่อยๆ และบางครั้งเราก็มีกิจกรรม เพราะเมื่อก่อน Starpics มีกิจกรรม ฉายหนังวันเสาร์ ให้สมาชิก ให้ผู้อ่าน เราก็ไปดู ไปแจกของ ก็กลายเป็นเป็นความผูกพัน และทำให้เราเป็นคนชอบอ่าน ชอบเขียนและชอบดูหนังด้วยค่ะ” บุษบาระบุและบอกเล่าเพิ่มเติมว่า

เมื่อเติบโตขึ้น จึงตระหนักว่าความรักความชอบในการอ่านหนังสือ และชอบดูภาพยนตร์กลายเป็นความรักที่มีอยู่ในตนเอง เพราะถูกปลูกฝังมา จึงชอบดูภาพยนตร์ ในที่สุดเมื่อคุณพ่อคุณแม่อายุมากขึ้น ต้องการคนที่จะมาช่วยดูแลนิตยสารเล่มนี้
เธอจึงได้เข้ามารับไม้ต่อ

ทว่าในช่วงแรกที่เข้ามาช่วยงานที่ Starpics นั้น ก่อนเรียนจบปริญญาตรีจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอก็ได้เข้ามาช่วยคุณพ่อทำนิตยสาร โดยช่วยงานทำเล็กๆ น้อยๆ นิดหน่อย จากนั้นจึงไปเรียนต่อต่างประเทศในด้านที่เธอสนใจคือ โปรแกรม 3D Animation and Visual Effect ที่ Vancouver Film school (VFS)
เมื่อเรียนจบ กลับมาเมืองไทย ก็ได้เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์การทำงานข้างนอก จากนั้น จึงกลับมาทำงานที่ Starpics อย่างจริงจัง



กลิ่นอายโรงพิมพ์ กับวัยเด็กที่สุขสันต์

ถามว่า จากความทรงจำที่เล่ามาข้างต้น ในวัยเด็กที่เห็นคุณพอคุณแม่ทำนิตยสาร Starpics มีเรื่องราวประทับใจอะไรอีกบ้าง
บุษบาตอบว่า “โรงพิมพ์อยู่ที่ออฟฟิศ ซึ่งโรงพิมพ์เป็นบ้านของญาติ แล้วบ้านส่วนตัวของเราแยกออกมา แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องไปทำงานที่โรงพิมพ์ ที่ออฟฟิศหรือสำนักงานที่เป็นห้องภาพสุวรรณค่ะ ซึ่งสำนักงานจะอยู่ใกล้กับโรงเรียนที่เราเรียนชั้นประถมในตอนนั้น

“ลองนึกภาพนะคะ คุณพ่อคุณแม่ ส่งลูกเข้าโรงเรียนแล้วก็ทำงานต่อเลย พอตอนเย็น ลูกเลิกเรียนก็กลับมาที่โรงพิมพ์ แล้วก็กลับบ้านพร้อมกัน วิถีชีวิตก็เป็นแบบนี้

“ดังนั้น ตอนเด็กๆ เราก็ไปอยู่ ไปค้างบ้านที่เป็นสำนักงานและเป็นโรงพิมพ์ด้วย ก็เป็นบ้านญาติก็อยู่ตรงนั้น เราก็เล่นตัวตะกั่ว ที่เขาใช้เรียงพิมพ์น่ะค่ะ ซึ่งจริงๆ ไม่ควรเล่นนะคะ ( หัวเราะ ) เราก็วิ่งเล่นอยู่ในโรงพิมพ์ เล่นบนแท่นพิมพ์ เอากระดาษที่เขาตัดเจียนหนังสือ มาเล่นเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว ก็คือเล่นตั้งแต่เด็กๆ พอเรียนประถมก็ต้องมานั่งรอกลับบ้าน นั่งอยู่ในออฟฟิศเลย นั่งรอ นั่งอ่านหนังสือไป หรือบางทีก็ช่วยทำความสะอาด แล้วเมื่อก่อน Starpics มีของแถมเยอะ เราก็ต้องนำของแถมมาแพ็คใส่ถุง แล้วก็ต้องไปช่วยแพ็คหนังสือ ช่วยยกหนังสือ
คือโดนใช้แรงงานทุกคนอยู่เป็นประจำค่ะ ( หัวเราะ ) ลูกทั้งสามคนของคุณพ่อคุณแม่ โดนใช้แรงงานหมดค่ะ ( หัวเราะ )” 
บุษบาถ่ายทอดความทรงจำได้อย่างเห็นภาพ ในยุคสมัยที่สำนักงานและโรงพิมพ์ของ Starpics มีที่ตั้งอยู่ ณ ห้องภาพสุวรรณ บริเวณสี่แยกบางขุนพรหม ตรงข้ามธนาคารแห่งประเทศไทย

‘บุษบา เตชศรีสุธี บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร ‘Starpics’

‘บุษบา เตชศรีสุธี บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร ‘Starpics’
จากรุ่นสู่รุ่น : อ่านได้ทุกเพศวัย

ถามว่า เมื่อคุณได้รับมอบหมายให้เป็นบรรณาธิการบริหาร รู้สึกกดดันไหม แล้ว Starpics ในยุคที่คุณกุมบังเหียนมีทิศทางอย่างไร ต่างจากรุ่นคุณพ่อมากน้อยเพียงใด


บุษบาตอบว่า “หากถามว่ากดดันไหม ก็ไม่ถึงกับกดดันนะคะ เนื่องจากบรรยากาศในออฟฟิศสบายๆ เพราะว่าออฟฟิศมีลักษณะที่ไม่ได้เป็นทางการอะไรมาก ตอนเราเข้าไปทำงาน โดยเริ่มจากเป็นกองบรรณาธิการในตอนนั้น คนที่เคยเป็นบรรณาธิการอยู่ เขาก็ใจดีค่ะ เขาก็สอนงานให้เรา แล้วบรรยากาศออฟฟิศ ไม่ได้ซีเรียส ไม่ได้เคร่งเครียดมาก เว้นแต่เวลาที่มีปัญหาเร่งๆ ช่วงปิดเล่ม แต่ด้วยความที่เป็นธุรกิจครอบครัว ไม่ใช่บริษัทใหญ่ที่มีแผนกชัดเจน

“ดังนั้น เราจึงไม่ได้กดดันมาก แต่หากถามว่าต่างจากรุ่นคุณพ่อยังไง คือคุณพ่อเขาจะเป็นคนที่ค่อนข้างจะให้อิสระกับคนทำงาน คุณพ่อจะปล่อยให้กองบรรณาธิการทำงาน คุณพ่อจะดูคร่าวๆ คุณพ่อจะค่อนข้างสนใจเรื่องภาพ เรื่องการพิมพ์มากกว่า เนื่องจากคุณพ่อชอบตั้งแต่สมัยแรกๆ ที่ทำ Starpics แล้วค่ะคุณพ่อจะคอยดูพวกการแยกสี การพิมพ์ สนใจในส่วนนั้น ส่วนเรื่องหนัง คุณพ่อก็ดูหนังค่ะ แต่อาจจะไม่ได้ดูแบบที่เป็นหนังอาร์ตมากๆ อะไรแบบนั้น คุณพ่อก็ดูหนังฮอลลีวู้ดนี่แหละค่ะ
“คุณพ่อ recruit คนที่จะมาเป็นกองบรรณาธิการ ส่วนหนึ่งก็มาจากคนอ่านด้วย เพราะในหนังสือ มีคอลัมน์ ‘ที่ตรงนี้คุณเขียน’ คือให้คนทางบ้านเขียนมา ซึ่งคอลัมน์นี้มีมานานแล้ว แล้วคุณพ่อก็จะเห็นว่า ผู้อ่านคนนี้ชอบเขียนมา แล้วก็เขียนดี น่าสนใจ คุณพ่อก็จะดึงมาทำงาน เป็นกองบรรณาธิการ หรือ ขยับเป็น บรรณาธิการก็มีค่ะ
คุณพ่อใช้วิธีนี้ เพราะส่วนหนึ่งก็เหมือนกับว่าเมื่อผู้อ่านเขาสนใจเรา เขาติดตามอ่าน เขาเป็นคนอ่านมาก่อน เขามีความชอบ Starpics ของเรา ดังนั้น จึงมีนักเขียนหลายท่านที่คุณพ่อ recruit มาแบบนี้ค่ะ” บุษบาระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่า

ในยุคของเธอ เมื่อได้รับมอบหมายให้เป็นบรรณาธิการบริหาร Starpics คุณพ่อให้อิสระพอสมควร ให้กองบรรณาธิการดูแลกันเอง ในยุคของบุษบา ช่วงแรกเธอยอมรับว่าอาจจะใส่ตัวตนเข้าไปมากขึ้น เพราะอาจจะไฟแรง เพิ่งเรียนจบอยากจะมีสไตล์เฉพาะตัวบ้าง แต่ก็ปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งคุณพ่อของเธอก็ให้โอกาส ว่าอยากจะปรับเปลี่ยนอะไร อยากจะทำแบบไหน ก็ลองทำ

ในยุคของบุษบา เธอพยายามทำให้หนังสือดูน่าสนใจขึ้น ทั้งในเรื่องของรูปเล่มรวมถึงการ Presentation เช่น เปลี่ยนจากขาวดำเป็นสี่สี , บางคอลัมน์ ในการนำเสนอ ผู้อ่านอาจจะไม่อ่านเนื้อหาที่ยาวเหมือนก่อน ก็ต้องปรับ หรือหาวิธีว่าทำอย่างไรให้คอลัมน์น่าสนใจ เช่น อาจเปลี่ยนการนำเสนอ ทำ Graphic design หน้าปก ให้ดึงดูดมากขึ้น แต่สำหรับบางคอลัมน์ที่เน้นการอ่านจริงจัง ก็ไม่ได้เปลี่ยน เช่น คอลัมน์วิจารณ์ภาพยนตร์ ซึ่งเป็นคอลัมน์ที่ต้องอ่านเพราะเป็นเรื่องของเนื้อหาสาระ ก็ยังคงไว้เช่นเคย 

ขณะเดียวกัน จุดยืนดั้งเดิมของ Starpics ที่กำเนิดขึ้นมานับแต่รุ่นคุณพ่อ บุษบาก็ยังคงเคารพในจุดยืนนั้น และพยายามทำให้คงอยู่เท่าที่จะทำได้ในกระแสธารแห่งความเปลี่ยนแปลงของสื่อสิ่งพิมพ์ในโลกยุคใหม่ นั่นคือ การทำให้ Starpics เป็นหนังสือที่คนอ่านได้ทุกเพศวัย อ่านกันได้ทั้งครอบครัว

บุษบากล่าวว่า “คุณพ่อมีจุดยืนในการทำหนังสือ ท่านเคยบอกว่า อยากให้ Starpics เป็นหนังสือที่อ่านได้ทั้งครอบครัว เหมือนอย่างสมัยก่อน เคยมีนิตยสาร ‘คู่สร้างคู่สม’ หรือว่าหนังสืออะไรก็ตามที่วางอยู่ที่ร้านตัดผม ที่บ้าน คือเป็นหนังสือที่วางอยู่แล้วใครก็อ่านได้ อ่านกันได้ทุกเพศทุกวัย
แต่นั่นเป็นยุคสมัยของคุณพ่อ ที่ถือว่าหนังสือถือเป็นสื่อกระแสหลัก ที่ยังไม่ได้มีสื่อประเภทอื่นเยอะนัก หนังสือยังมีความแมส
เมื่อมาถึงในยุคของเรา ก็เริ่มมีสื่อที่แบ่งแยกตามกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เป็น Niche มากขึ้น จากเมื่อก่อน Starpics จะรวมไว้ทั้งหนังและเพลงอยู่ในเล่ม

"คุณชอบอะไร ก็อ่านกันได้ทั้งบ้าน แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง คนในสังคมมีความชอบเฉพาะตัวที่แยกออกไปมากขึ้นก็จะสะท้อนออกมา เช่น คนที่ชอบเพลง เขาก็ไม่อยากจะอ่านในส่วนของหนัง เขาก็บอกมาว่าไม่อยากได้ส่วนของหนัง คนที่ชอบหนังไม่ได้ชอบเพลงก็ไม่ได้อยากอ่านในส่วนของเพลง
คุณพ่อจึงตัดสินใจแยกเล่ม จึงมีช่วงหนึ่งที่แยกเป็นเล่มหนัง แล้วก็เล่มเพลง
แต่ว่าเมื่อทำไปเรื่อยๆ ก็พบว่าในส่วนของเพลง ตลาดค่อนข้างแคบกว่า จึงไม่ได้ทำในส่วนของเพลงต่อแล้ว

“ในยุคของเรา ส่วนหนึ่งเราก็ยังคงไอเดียที่อยากให้คนอ่านกันได้ทั้งครอบครัว เอาไว้ เป็นหลายช่วงวัยที่กว้าง เคยมีบรรณาธิการคนหนึ่งของ Starpics เคยบอกกับเราตอนที่เรายังเด็กว่า กลุ่มเป้าหมายของ Starpics คือช่วงวัย 15-50 ปี
ถือว่ากว้างพอสมควร ณ ตอนนั้นนะคะ คือเมื่อหลายสิบปีก่อน ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะเมื่อเราเข้าไปทำแล้ว มีคนที่เขียนจดหมายมาถึงกองบรรณาธิการ มีทั้งเด็กมัธยมที่เพิ่งเริ่มดูหนัง ดูหนังแบบดูหนังวัยรุ่น หนังแมสๆ แล้วก็จะมีคนที่เขาติดตามมานานแล้ว คือวัย 50 ปี เป็นคนรุ่นที่อ่าน Starpics มาตั้งแต่สมัยก่อน แล้วก็ยังคงอ่านอยู่ 
ดังนั้น Range ของเราจึงกว้างมาก

"ในตอนนั้น ด้วยความที่เราเป็นเด็กนิเทศฯ เราเรียนภาพยนตร์มา เราอาจจะมองว่าเป็นยุคของหนัง ‘หว่อง กาไว’ 
( หมายเหตุ : ผู้กำกับภาพยนตร์, นักเขียนบทภาพยนตร์ และผู้สร้างภาพยนตร์ชาวฮ่องกง ) เป็นยุคของหนังอินดี้ แต่คุณพ่อก็จะคอยบอกว่า Starpics ยังคงมีคนกลุ่มแมส ที่เขาก็ยังอ่านเราอยู่ อยากให้ลงหนังใหญ่ด้วย อย่าลงแต่หนังอาร์ตและอีกส่วนหนึ่งที่เราก็พยายามที่จะปรับก็คือทำให้อ่านง่ายขึ้น แต่ในความง่ายก็มีสาระ ซึ่งก็มีบทความที่เป็นวิชาการด้วย แต่บทความไหนที่เราทำให้อ่านง่ายอ่านสนุกได้ เราก็จะพยายามทำขึ้นมา” บุษบาบอกเล่าได้อย่างเห็นภาพของความเปลี่ยนแปลงบนจุดยืนเดิมที่คงมั่นเสมอมา

ในส่วนของความเปลี่ยนแปลง เมื่อสื่อสมัยใหม่มากมายบนโลกโซเชียลและอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาท และส่งผลกระทบต่อสื่อสิ่งพิมพ์ขนานใหญ่ ทำให้นิตยสารจำนวนมาก ทยอยปิดตัวลง บ้างเลือนหายไปตามกาลเวลา บ้างย้ายไปอยู่บน Platform ที่มิใช่สิ่งพิมพ์อีกต่อไป ด้วยเหตุนั้น นิตยสาร สิ่งพิมพ์ที่ยังคงอยู่ได้ในทุกวันนี้ จึงล้วนน่าสนใจ Starpics ก็เช่นกัน

‘บุษบา เตชศรีสุธี บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร ‘Starpics’
ยืนหยัดพ้นยุคสมัย

เมื่อถามถึงความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคการสื่อสารไร้พรมแดน และสิ่งพิมพ์มิใช่สื่อกระแสหลักอีกต่อไป แล้วสิ่งใดกัน ทำให้ Starpics ยังคงยืนหยัด

บุษบาตอบว่า “หลังจากที่เรามีประกาศ ว่าเราจะหยุดไปในเล่มที่ 888
ตอนนั้น เรียกว่าเราก็ Downsize ลง จำนวนพนักงานไม่ได้เยอะเหมือนเดิม ระยะหลังๆ อาจยังทำอยู่ แต่ก็เป็นราย 2-3 เดือน คือเรียกว่าไม่ต้องทำเยอะเหมือนเมื่อก่อน แล้วลักษณะการทำงานทุกวันนี้ ไม่ต้องเข้าออฟฟิศมากเหมือนเมื่อก่อน แต่ที่นั่นก็ยังเป็นโรงพิมพ์อยู่ คือคุณพ่อยังเข้าไปดูโรงพิมพ์ มีพนักงานที่อยู่ตรงนั้นไม่มาก และทุกวันนี้ คนทำหนังสือก็จะทำงานผ่าน คอมพิวเตอร์ เหมือนเป็นลักษณะฟรีแลนซ์ แล้วค่อยส่งโรงพิมพ์ ก็ยังมีคนเข้ามาที่ออฟฟิศบ้าง แต่วิธีการทำงานก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย มี Work from Home ด้วย” บุษบาระบุ และเล่าเพิ่มเติมว่านับแต่ช่วงที่เข้ามารับไม้ต่อ เป็นบรรณาธิการบริหาร จากนิตยสารรายเดือน กระทั่งปรับเป็น รายสองหรือสามเดือน คือเริ่มเข้ามาทำงานที่ Starpics อย่างจริงจังในช่วงอายุประมาณ 28 ปี ปัจจุบันอายุ 42 ปีแล้ว ก็นับว่านานพอสมควร กระทั่งฉบับรายเดือน ยุติลงที่เล่ม 888


บุษบากล่าวว่า “ต้องบอกตามตรงว่า เราอาจจะหยุดทำตัวนิตยสารจริงๆ แล้วเราก็คิดว่าเราจะทำแบบไหน เนื่องจากว่าโลกเปลี่ยนไป นิตยสารก็ยากที่จะอยู่ได้ แต่ว่าคุณพ่อ มีความผูกพันกับ Starpics และก็ยังอยากทำอยู่ เราก็ ‘โอเค’ ถือว่าเราทำให้ท่าน เพื่อให้ท่านสบายใจ ดังนั้น ทุกวันนี้ ก็ยังทำ Starpics อยู่ แต่เป็นราย 2-3 เดือน ส่วนเล่มรายเดือน จบลงที่ 888 ส่วนเล่มพิเศษ ราย 2-3 เดือน ใช้ชื่อว่า ดาราภาพ Starpics มีพี่สาวเข้ามาช่วยทำด้วย” บุษบาระบุและเล่าเพิ่มเติมถึงการทำเล่มพิเศษว่า
ก่อนที่จะทำเล่มอะไรก็ตาม เกิดขึ้นได้หลายวิธี เช่น เริ่มด้วยการเลือกจากนักเขียน อาจมีนักเขียนมาเสนอ หรือเกิดจากไอเดียของกองบรรณาธิการ ว่ามีเรื่องนี้น่าทำ แล้วจึงค่อยหานักเขียน เป็นต้น

“แต่ทั้งหมดทั้งมวล เราต้องคิดว่าเป็นเล่มที่ทำออกมาแล้ว ‘ขายได้’ (หัวเราะ) หมายถึงว่าเป็นเล่มที่มีคนซื้อ แต่บางเล่มที่เราทำออกมาแล้ว ‘แป้ก’ ก็มีค่ะ
แต่ทั้งหมดทั้งมวล เมื่อเราได้เล่มที่เราตัดสินใจจะทำออกมา อาจจะพอขายได้ แม้อาจจะใช้เวลาหน่อยแต่เราอยากทำ เราก็หานักเขียนที่ตรงกับเล่มนั้นๆ

"อย่างเช่นบางเล่ม ที่นักเขียน มีความสนใจในเรื่องนี้อยู่แล้ว เขียนเรื่องนี้อยู่แล้ว เช่น เล่ม ‘จิบลิ’ ( Studio Ghibli : สตูดิโอภาพยนตร์อนิเมชั่นของญี่ปุ่นที่ได้รับการยอมรับระดับโลก สร้างผลงานคุณภาพไว้มากกว่า 20 เรื่อง แต่ละเรื่องล้วนแฝงแนวคิดที่น่าสนใจ อาทิ ต่อต้านสงคราม,อนุรักษ์สิ่งแวดล้มและปลอบประโลมจิตวิญญาณของผู้คน ก่อตั้งโดย ฮายาโอะ มิยาซากิ และอิซาโอะ ทากาฮาตะ ) คือ อาจารย์โจ๊ก (เกรียงไกร พัฒนะกุลโกเมธ ) ที่เป็นคนเขียน เขาเป็นแฟนจิบลิอยู่แล้ว แล้วเขาก็ทำเรื่องจิบลิเป็นวิทยานิพนธ์อยู่แล้ว เราก็นำมาทำเป็นรูปเล่ม แบบนี้ก็ง่ายสำหรับเรา แต่ว่าบางเรื่องที่เป็นการรวบรวม เช่น เล่ม ‘ดิสนีย์’ เราก็อาจต้องคิดกันว่า เราจะทำยังไง จะให้ใครเขียนบ้าง หรือบางเล่ม เราก็ดูตามวาระต่างๆ ว่าวาระใดที่น่าสนใจ” บุษบาระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่า

การทำ Starpics เล่มพิเศษมีมานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนที่เธอจะเข้ามาทำงานที่ Starpics เพียงแต่ช่วงที่เธอเข้ามา เล่มพิเศษอาจจะออกมาถี่ จึงเห็นชัดเจน แต่ในความเป็นจริง Starpics ในยุคที่คุณพ่อคุณแม่ของเธอ ก็มีเล่มพิเศษออกมาเช่นกัน เช่น เล่มหนังออสการ์ที่มีความหนาเท่าสมุดโทรศัพท์ เนื้อหาส่วนหนึ่งรวบรวมจากบทวิจารณ์ Starpics ที่เป็นรายเดือน แต่ในช่วงที่บุษบาเข้ามาเป็นบรรณาธิการบริหาร เมื่อทำเป็นเล่มพิเศษ ไม่ได้นำเนื้อหามาจากเล่มรายเดือน แต่ทำเนื้อหาขึ้นมาใหม่









หลงรัก Animation หลงใหลศิลปะ ต่อยอด Starpics

บทสนทนาดำเนินเรื่อยมา อดถามไม่ได้ว่า เรียนจบด้านในมา และทำงานกับที่ใดบ้างก่อนจะมาทำงานเต็มตัวที่ Starpics


บุษบาตอบว่า เธอเรียนจบคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง เธอชอบงานศิลปะตั้งแต่เด็กๆ ทั้งนี้ เพราะชอบอ่านหนังสือและดูภาพยนตร์มาตั้งแต่เด็ก จึงถนัดภาษาอังกฤษ ส่งผลให้สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ แต่ว่าโดยความใฝ่ฝันที่แท้จริงแล้ว เธออยากทำอนิเมชั่น อยากเรียนศิลปะ 

เมื่อเรียนจบนิเทศศาสตร์ เธอจึงมาทำงานที่ Starpics ช่วงหนึ่ง ทำหน้าที่ฝ่ายศิลป์ คุณพ่อให้จัด Artwork จากนั้นคุณพ่อก็ให้ทำงานกองบรรณาธิการด้วย เริ่มจากช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ

ต่อมา ด้วยความชอบอนิเมชั่น เธอจึงตัดสินใจไปเรียนโปรแกรม 3D Animation and Visual Effect ที่ Vancouver Film school (VFS)
เป็นการเรียน Diploma เรียนเพียงปีเดียว สำหรับใช้ทำงานโดยเฉพาะ

เมื่อเรียนจบกลับมาไทย เธอก็ทำ Portfolio ไปสมัครงาน เพราะยังไม่อยากทำงานที่บ้าน อยากใช้วิชาที่เรียนมาจึงไปสมัครงานตามสตูดิโอ ในที่สุดก็ได้ทำงานที่บริษัทเกม เป็น Animator ทำเกมอยู่ประมาณ 1 ปี จากนั้นก็ไปทำงานที่บริษัทในเครือของสหมงคลฟิล์ม เป็นบริษัทรับทำ Effects ทำได้อีก 1 ปี คุณพ่อคุณแม่ก็ขอให้มาช่วยทำงานที่ Starpics ครั้งนี้เอง จึงเป็นการทำงานหนังสือเต็มตัว

ทั้งนี้ การเรียนและประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ทำให้บุษบามีพื้นฐานด้านศิลปะ ซึ่งเธอก็ได้นำสิ่งที่เรียนมา นำมาใช้ 
ได้ลองฝึกฝนได้ลองทำที่ Starpics ดังเล่มพิเศษ Pixar Mania 3rd Edition Starpics Special
ซึ่งนับเป็นเล่มพิเศษเล่มแรกๆ ของ Starpics ที่บุษบาได้ทำ ด้วยความชอบส่วนตัวของเธอที่ชอบและเป็นแฟน Pixar เมื่อทำเล่มพิเศษดังกล่าวออกมาปรากฏว่าขายได้ จึงรู้สึกว่า คงมีผู้อ่านที่คิดและชอบแบบเดียวกัน และอยากได้เล่มพิเศษแบบนี้
อีกปัจจัยหนึ่ง ที่บุษบาสังเกตได้จากคนใกล้ตัวคือลูกสาววัย 8 ขวบของเธอ ที่ชอบนำ Starpics เล่มพิเศษมาเปิดดู ไม่ว่าเล่ม Studio Ghibli, Pixar, Disney ดูไปด้วย อ่านไปด้วย ทำให้รู้สึกว่า อย่างน้อยหนังสือเหล่านี้ก็เป็นการปลูกฝังศิลปะให้เด็กๆ โดยที่ไม่ต้องบังคับเขา เพราะไม่ใช่ยาขม เด็กเปิดดูก็เพลิดเพลิน


มองโลกยุค Streaming, นอกกรอบอย่างสร้างสรรค์

น่าสนใจว่า เมื่อไลฟ์สไตล์ วิถีการชมภาพยนตร์ผ่าน Streaming เป็นที่นิยมแพร่หลายในปัจจุบัน Starpics เคยนำภาพยนตร์หรือ series ใน Netflix หรือ Streaming อื่นๆ มาขึ้นปกหรือไม่


บุษบาตอบว่า “ก็ทำได้นะคะ เราก็เคยทำ แต่เป็นปกหลัง ตอนนั้นเราขึ้นปก Game of Thrones อยู่ปกหลัง คือจริงๆ ตอนนี้ เวลาเราคิดหาปกหนัง ถ้าเป็นหนังโรง ยอมรับว่ายังคิดไม่ค่อยออกเลยนะคะ ต้องยอมรับว่าหนังโรงมันเงียบ แต่จริงๆ เราไม่เคยจำกัดนะว่าต้องเป็นหนังในโรง เพราะอย่างเล่มที่ประทับใจเป็นการส่วนตัว คือ มีเล่มนึงที่เราลงปก Spirited Away ของ Studio Ghibli ซึ่งตอนนั้น หนังก็ไม่ได้เข้าฉายในเมืองไทย เพราะยังไม่มีใครเอาหนัง Studio Ghibli เข้ามาฉายในไทย เพียงแต่ว่า ตอนนั้นที่เราทำปกนี้เพราะ ข้อแรก เราชอบชอบอนิเมชั่น 
ข้อ 2 ตอนนั้น Spirited Away เป็นหนังที่กำลังเข้าชิงออสการ์ หรือว่าได้รางวัลแล้วไม่แน่ใจนะคะ แต่เรารู้สึกว่าเราอยากลงปก ทั้งที่ก่อนหน้านี้เราจะลงปกหนังฝรั่ง หนังฮอลลีวู้ด หนังค่ายที่เอามารงโลง ซึ่งพีอาร์ก็จะงง ว่า Spirited Away คืออะไร เข้าโรงไหม ก็เป็นเรื่องที่จำได้แม่นว่า ไม่มีใครเบรคเราด้วยนะ ทั้งที่ตอนนั้นเราเพิ่งเข้ามาทำไม่นาน พี่ที่เป็นบรรณาธิการตอนนั้น เขาก็เชียร์ด้วย บอกว่าเอาสิ ทำเลย

"ดังนั้น จริงๆ แล้ว เราก็ไม่ได้ตีกรอบค่ะ อย่างนักเขียน เช่น อาจารย์ประวิตร
( หมายเหตุ : ประวิตร แต่งอักษร คอลัมน์ Replay ) ท่านก็จะถามทุกเดือนนะคะ ว่าเขียนเรื่องอะไรดี ซึ่งในที่สุดแล้ว อาจารย์ประวิตร ท่านก็จะตัดสินใจได้เองทุกครั้งว่าจะเขียนอะไร อย่างเล่มล่าสุด ท่านก็เขียนถึง Series The Crown สืบเนื่องจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคต เหล่านี้ เป็นต้น ดังนั้น เราก็ไม่ได้ Fix ว่าต้องเป็นหนังโรง”

เช่นนั้นแล้ว ย่อมกล่าวได้ว่า Starpics จะอยู่เคียงคู่ทุกยุคสมัย
บุษบาตอบอย่างอารมณ์ดีว่า “หวังเช่นนั้นค่ะ ( หัวเราะ ) แต่ก็ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้มีสื่อมากมายในโลกยุคดิจิตอล”





บรรยากาศเป็นกันเองของกองบรรณาธิการ




ถามทิ้งท้ายว่า นับแต่ Starpics ยุคคุณพ่อของคุณ กระทั่งเปลี่ยนผ่านมาถึงคุณ อาจเรียกได้ว่า อยู่ในยุคทองของการดูหนังในโรงภาพยนตร์ แต่ปัจจุบันนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นยุคของการดูภาพยนตร์ผ่าน Streaming เป็นยุคของ Netflix การที่ภาพยนตร์สักเรื่องจะฉายในโรง และทำให้คนตัดสินใจออกไปดูได้ คุณคิดว่าต้องเป็นภาพยนตร์แบบไหน

บุษบาตอบว่า “เป็นคำถามที่เราก็ถามตัวเองอยู่เช่นกัน ซึ่งคิดว่าหลายๆ คนในวงการตอนนี้ ไม่ว่าวงการภาพยนตร์ หรือค่ายหนังต่างๆ ด้วย เขาก็คงกำลังคิดคำถามนี้กันอยู่เพราะโลกเปลี่ยนไปเยอะมาก คนก็เปลี่ยน คืออย่างตัวเราเอง เราก็ไปโรงหนังน้อยลง และจริงๆ เรามีทั้ง Netflix, Streaming, Disney Plus เรายังดูไม่หมดเลย และทำให้นึกถึงตอนที่เรียนนิเทศฯ ปี 1 มีวิชาแรกที่เรียนเลย เขาบอกว่าจะมียุคที่ Information Overload ซึ่งเราว่ามันก็คือยุคนี้แหละ เพียงแต่ตอนนั้น เรายังนึกภาพไม่ออก คือเป็นยุคที่ข้อมูลข่าวสารท่วมท้นล้นเยอะ ยุคนี้ก็เป็นแบบนั้น คือมันเยอะ มันล้นเกินความต้องการ หรือเกินเวลาของคนที่จะบริโภคได้ แต่หนังก็ยังคงเป็นความบันเทิง หรือมหรสพที่ราคาถูกที่สุด แต่เราอย่าไปเทียบกับ Streaming ที่ไม่ต้องเดินทางนะ แต่ว่า ณ ตอนนี้ มีปัจจัยหลายๆ อย่าง ทั้งเรื่องโรคภัย เรื่องการเดินทาง ที่ทำให้ไลฟ์สไตล์ของคนเปลี่ยนไป ถ้าถามว่าหนังจะทำยังไง หนังแบบไหน อืม ยากจังเลย ( หัวเราะ ) ก่อนหน้านี้คือต้องเป็นหนังมี loyalty สูงๆ ที่พร้อมจะอุดหนุน เช่น Marvel หนังภาคต่อ Franchise หนังดัง

"อีกส่วนหนึ่งก็อาจเป็น Niche Market คือ คุณหาไม่ได้จริงๆ Streaming ก็หาไม่ได้ หรือในอนาคตอาจจะมีหนังเก่าที่ไม่มีใน Streaming จะมีไหมไม่รู้ เขาอาจขุด ‘กรุ’ขึ้นมาก็ได้ แต่มันก็มีหนังบางเรื่อง ที่เราอยากให้ลูกดู แต่หาไม่ได้
คือ มันอาจต้องทำให้เป็นอีเวนท์นะคะ ในความเห็นส่วนตัว คือ ต้องทำให้ไม่ใช่แค่การไปดูหนังเรื่องหนึ่ง แต่เป็นอีเวนท์ที่คนอยากไปดูกันเยอะๆ เช่น Harry Potter กลับมาฉายใหม่ เราก็พาลูกไปดูนะคะ เพราะลูกก็อ่านหนังสือนิยาย Harry Potter แล้วก็ได้เห็นว่ามีคนแบบเรา คือ เป็นพ่อแม่ที่พาลูกไปดูหนัง แต่ว่า คนก็ไม่ได้ถึงกับเยอะจนเต็มโรง เพราะส่วนหนึ่งเขาอาจจะกลัวโควิด-19 กันก็ได้

“ดังนั้น ลำดับแรก ควรจะรอให้คนหมดความกลัวโรคนี้ คือเลิกกลัวโควิด-19 กลัวการไปโรงหนัง กลัวว่ามีเชื้อโรคซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยที่ลบมาก
หนังที่มาฉายอาจจะต้องมี 2 ทางเลย คือ เป็นหนังที่ดึงดูดคนที่กลุ่มใหญ่มากๆ หรือแบบแมสมากๆ เช่น รอดู Avatar 2 รอดูหนังดังๆ หนัง Marvel ที่พ่อแม่พี่น้องไปดูกันได้เยอะๆ กับหนังที่ Niche มากๆ หาดูยาก ก็อาจต้องดึงดูดกลุ่ม ‘ซีเนไฟล์’ มาเลย แล้วก็ทำให้การไปดูหนังเป็นอีเวนท์ เป็นกิจกรรมที่คนอยากไป”

ไม่เพียงเป็นคำตอบที่สะท้อนภาพวิถีการชมภาพยนตร์ของผู้คนในยุคนี้ หากยังเห็นถึงความตั้งใจซึ่งพร้อมปรับตัวสู่ยุคสมัยใหม่ที่ท้าทายและเปิดกว้างอย่างยิ่ง เป็นอีกก้าวย่างสำคัญที่เชื่อเหลือเกินว่าแฟนๆ นิตยสาร Starpics พร้อมจะเอาใจช่วยอย่างเต็มกำลัง

……
Text by : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by : บุษบา เตชศรีสุธี