ผู้เชี่ยวชาญด้านยุติธรรมสากลชี้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คืบช้า เหตุขาดการยอมรับจากสาธารณะ แนะรัฐบาลทั่วโลกกำหนดในยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ พร้อมกระตุ้นให้รัฐ “ลงทุน” ในทรัพยากรมนุษย์วิจัย และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ด้านแคนาดาเผย ความยืดหยุ่นในระบบยุติธรรม และความร่วมมือในท้องถิ่นเป็นตัวแปรแห่งความสำเร็จ ขณะที่ TIJ ปักหมุดหนุนหลักยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ พัฒนาหลักนิติธรรมควบคู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ กล่าวว่า “การอุบัติขึ้นของโรคโควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลกนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรมในระบบยุติธรรมในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหานักโทษล้นเรือนจำ ผู้กำหนดนโยบาย และผู้ปฏิบัติงานด้านยุติธรรมทางอาญาจึงควรพิจารณา และส่งเสริมแนวคิด หรือกระบวนทัศน์ใหม่ในระบบยุติธรรม เช่น ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative justice) ผ่านมาตรการทางเลือกต่าง ๆ เช่น วิธีการลงโทษที่มิใช่การคุมขัง”
ทั้งนี้ ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์นั้นเป็นมาตรการเชิงป้องกันที่มีประสิทธิภาพ ช่วยลดจำนวนคดีความ ทั้งยังป้องกัน และแก้ไขปัญหานักโทษล้นเรือนจำ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่กระบวนการยุติธรรมในหลายประเทศกำลังเผชิญ นอกจากนี้ แนวคิดดังกล่าวยังสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน และหลักทางสาธารณสุขอีกด้วย โดยสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้ยกประเด็นความยุติธรรม เชิงสมานฉันท์และร่างคู่มือกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2543
ปัจจุบัน ได้มีการทบทวน และพัฒนาคู่มือกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ฉบับที่ 2 ขึ้น ซึ่งได้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเข้ามาในจังหวะที่ทั่วโลกกำลังหวั่นวิตกต่อปัญหาด้านยุติธรรมทางอาญา ท่ามกลางการอุบัติขึ้นของโรคโควิด-19 โดยคู่มือฉบับนี้ ครอบคลุมเนื้อหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ทั้งตัวอย่างแนวปฏิบัติที่ดีในการออกแบบ และประยุกต์ใช้ในแต่ละประเทศ การระดมทรัพยากรในแต่ละชุมชน ตลอดจนเทคนิคต่าง ๆ ในการสังเกตการณ์ และประเมินโครงการ คู่มือฉบับนี้ ประกอบไปด้วยข้อมูล และตัวอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงการใหม่ๆ ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งบริบทของสังคม วัฒนธรรมและกฎหมาย “ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นแนวคิดและมาตรการที่มีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้นในการพัฒนาหลักนิติธรรม โดยใช้หลักการมีส่วนร่วม เปิดโอกาสให้ผู้เสียหาย ผู้กระทำความผิด และผู้แทนชุมชนได้พบปะเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกันในการแก้ปัญหา โดยผลลัพธ์สุดท้ายคือข้อตกลงในการเยียวยาผู้เสียหาย พร้อมทั้งนำผู้เสียหาย และผู้กระทำความผิดเข้าสู่สังคม ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้สิทธิของผู้เสียหายเป็นพื้นฐานและเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา นอกจากนี้ ยังเป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์ระหว่างหลักนิติธรรม และการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย" ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กล่าว
นางสาวจีเอลี เจ้าหน้าที่ด้านป้องกันอาชญากรรม และยุติธรรมทางอาญา แห่ง UNODC กล่าวว่า คู่มือยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ฉบับที่ 2 นี้ ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวคิด หลักการ และความก้าวหน้าของการนำวิธีคิดดังกล่าวไปใช้ในการประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงแนวทางในการตอบสนองกับคดีอุกฉกรรจ์ เช่น ความรุนแรงในชีวิตคู่ และความรุนแรงทางเพศ ซึ่งเป็นความกังวลในการนำหลักยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไปผนวกใช้เข้ากับยุติธรรมกระแสหลัก นอกจากนี้ คู่มือฉบับปรับปรุงยังได้ระบุถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จในการประยุกต์ใช้หลักยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ หน้าที่ของแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการ ได้แก่ ผู้เสียหาย ผู้กระทำความผิด ผู้แทนชุมชน และตัวกลางไกล่เกลี่ย
16 ปีแห่งหลักยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คืบหน้า “ช้า”
นายอีวอง ดันดูรัน ที่ปรึกษาในการร่างคู่มือความยุติธรรมสมานฉันท์ และนักวิจัยอาวุโสจากศูนย์ปฏิรูปกฎหมายอาญาและนโยบายยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศ (ICCRL) กล่าวว่า 16 ปีที่ผ่านมา ที่มีการส่งเสริมหลักยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ มีหลายประเทศที่นำไปประยุกต์ใช้ในระดับประเทศ ไม่เพียงใช้ในคดีเด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคดีอาชญากรรมในผู้ใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม การนำหลักยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไปปรับใช้ในกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักทั่วโลกมีพัฒนาการที่ค่อนข้าง “ช้า” กว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเป็นผลมาจากความยอมรับจากสาธารณะต่อแนวคิดดังกล่าว
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้หลักยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์เพื่อการขับเคลื่อนประเทศ พัฒนาเป็นโร้ดแมพ หรือระบบในการนำหลักคิดดังกล่าวเข้ามาใช้กับระบบยุติธรรมกระแสหลัก
สิ่งที่จะช่วยให้เกิดการยอมรับแนวคิดดังกล่าวในสาธารณะได้ คือ การสร้างการรับรู้เกี่ยวกับข้อดีของหลักยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ สร้างความมั่นใจให้กับสาธารณะต่อระบบยุติธรรมทางเลือก ขณะเดียวกัน ต้องมีการอบรมสร้างความเข้าใจให้กับผู้ปฏิบัติงานด้านยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำรวจ ผู้ที่เป็นด่านหน้าในการดำเนินคดี ซึ่งทั้งหมดต้องอาศัยการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ “การใช้หลักยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไม่มีทางลัด ซึ่งใช้เวลาในการทบทวน และหาวิธีในการดำเนินการ มันจะค่อยๆ สำเร็จไปทีละขั้นๆ ซึ่งจำเป็นต้องกำหนดเป็นพันธกรณีในระยะยาว เพื่อส่งเสริมแนวคิดดังกล่าวในวงกว้าง” นายอีวอง อธิบาย
กระตุ้นรัฐบาลทั่วโลก “ลงทุน” ยุติธรรมทางเลือก
นายทิม แชปแมน ประธานสภาเพื่อการพัฒนาการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์แห่งสหภาพยุโรป กล่าวว่า รัฐบาล และหน่วยงานด้านยุติธรรมของประเทศต่าง ๆ ควรหันมาศึกษาหลักยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มากขึ้น เพื่อความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนหลักคิดดังกล่าว เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า การนำหลักยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาดำเนินการควบคู่กับระบบยุติธรรมกระแสหลักช่วยลดจำนวนผู้ถูกดำเนินคดี ลดจำนวนผู้เสียหาย ลดระยะเวลาฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้เสียหาย ลดจำนวนผู้ต้องขัง งบประมาณที่ใช้ในการคุมขังน้อยลง
อย่างไรก็ตาม อีกปัจจัยสำคัญของการดำเนินงานดังกล่าวจำเป็นต้องมีการลงทุนจากภาครัฐ ทั้งด้านการสร้างการรับรู้แก่ประชาชน งานด้านการวิจัย และการส่งเสริมความร่วมมือในภาคส่วนต่าง ๆ นอกจากนี้ การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ยังมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลอย่างจริงจัง
“แคนาดา” ชี้ความร่วมมือในระดับท้องถิ่นเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จ
นางมาริโล รีฟ ที่ปรึกษาด้านนโยบายยุติธรรมทางอาญา กระทรวงยุติธรรมแห่งแคนาดา กล่าวว่า แคนาดาเป็นประเทศหนึ่งของโลกที่มีความพยายามในการผลักดันหลักยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เข้ามาใช้ในระบบยุติธรรมกระแสหลัก
ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ทำให้แคนาดาสามารถนำหลักยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ คือ ขนาดของประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ มีความหลากหลายของพลเมืองในประเทศ และความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ความยืดหยุ่นของระบบยุติธรรมในแคนาดาที่ให้อิสระการบริหารจัดการงานด้านยุติธรรม ในแต่ละท้องที่ โดยมีกฎหมายวิธีพิจารณาทางอาญากลางเป็นพื้นฐาน ซึ่งวิธีดังกล่าวเป็นกุญแจสำคัญที่ให้เกิดความร่วมมือและการทำงานระหว่างเขตอำนาจศาลต่าง ๆ
นอกจากนี้ แคนาดายังมีหน่วยงานระดับท้องถิ่นในการผลักดันแนวคิดดังกล่าว ทำให้เกิดโปรแกรมที่ส่งเสริมหลักยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในทุกพื้นที่ของประเทศ ก่อให้เกิดการยอมรับต่อแนวคิด และหลักปฏิบัติของระบบยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ อย่างที่แคนาดานั้น การสร้างการมีส่วนร่วมของคนพื้นเมืองมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการนำหลักยุติธรรมกระแสรองมาใช้ โดยคำนึงถึงพื้นฐานคุณค่าของแต่ละชุมชนทั้งในบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม
ผลงานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่า กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์นั้นสามารถใช้ได้กับทุกรูปแบบของการกระทำความผิด กรณีใดที่ยิ่งมีความรุนแรงและสร้างความเสียหายมาก กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จะยิ่งมีประสิทธิภาพต่อการเยียวยาทุกภาคส่วนมากขึ้น นางมาริโล กล่าว และเสริมว่า “ยิ่งในวิกฤติโรคระบาดเช่นนี้ เป็นสิ่งกระตุ้นเตือนให้เราพิจารณาถึงการตอบสนองต่อการกระทำความผิดทางอาญาในปัจจุบัน และ พิจารณากระบวนทัศน์ใหม่ ๆ อย่างหลักยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ให้มากขึ้น"