xs
xsm
sm
md
lg

นิติรัฐ-นิติธรรมหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง (ตอนที่หนึ่ง)

เผยแพร่:   โดย: ไชยันต์ ไชยพร



ความจริงในประวัติศาสตร์เป็นอย่างไร ? คงขึ้นอยู่กับการนำเสนอและการตีความข้อเท็จจริงที่นำมาวางเรียงกันอยู่ตรงหน้าผู้เขียนประวัติศาสตร์ และจะว่าไปแล้วคนเขียนประวัติศาสตร์ก็ยากที่จะปราศจากคติความเชื่อของตัวเองในการนำข้อมูลในอดีตมาปะติดปะต่อร้อยเรียงขี้นมาเป็นเรื่องราว

แต่การเขียนประวัติศาสตร์โดยไม่อิงอยู่กับข้อเท็จจริงเสียเลย ก็ไม่น่าใช่งานประวัติศาสตร์ แต่น่าจะเป็นนิยายเสียมากกว่า และถ้ามีเค้าโครงข้อเท็จจริงในอดีตอยู่บ้าง งานเขียนนั้นก็อาจจะเป็นนิยายที่อิงประวัติศาสตร์ แต่งานเขียนประวัติศาสตร์ที่แม้จะพยายามอิงอยู่กับข้อมูลในอดีต แต่ถ้าข้อมูลนั้นถูกนำมาจัดระเบียบตามคติความชอบของผู้เขียน งานเขียนนั้นก็น่าจะเป็นประวัติศาสตร์ที่อิงอยู่กับนิยายในใจของผู้เขียน ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ถ้างานเขียนไม่ลงเอยเป็นนิยายที่อิงประวัติศาสตร์ ก็ต้องลงเอยเป็นประวัติศาสตร์ที่อิงนิยายไป มีทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่สองทางนี้ไหม ?

น่าจะยาก ถ้าจะมีอะไรที่แตกต่างไปก็คือ คนเขียนรู้สำนึกถึงคติ (และอคติ) ในใจของตัวเองหรือกล้าสารภาพเปิดเปลือยให้เห็นเจตนาที่แท้จริงของตนได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์หรือประวัติศาสตร์ที่อิงนิยาย

ยิ่งภายใต้บริบททางการเมืองที่มีการต่อสู้ขัดแย้งประชันขันแข็งในทางจุดยืนหรืออุดมการณ์ทางการเมืองด้วยแล้ว การวิพากษ์โจมตีด้วยข้อกล่าวหาอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้นนั้น—ประวัติศาสตร์ที่อิงนิยาย หรือนิยายที่อิงประวัติศาสตร์---ยากที่จะหลีกเลี่ยงได้

โชคดีที่ผู้เขียนไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ที่งานเขียนของตนจะต้องเผชิญกับปัญหาที่จะต้องถูกตีตราว่าเป็นนิยายที่อิงประวัติศาสตร์ หรือ ประวัติศาสตร์ที่อิงกับนิยาย แต่หากผู้เขียนนำข้อเขียนที่เป็นความเห็นต่อเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของท่านอื่นมานำเสนอ ผู้เขียนจะเข้าข่ายผลิตซ้ำงานเขียนที่เป็นข้อวิจารณ์ต่อเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ซึ่งการนำเสนอหรือผลิตซ้ำงานเขียนของท่านอื่นเป็นส่วนหนึ่งของการสอนหนังสือของผู้เขียนอยู่แล้ว และสิ่งที่ผู้สอนหนังสือควรกระทำคือ นำเสนองานประวัติศาสตร์จากจุดยืนต่างๆให้กับนักเรียนได้รับทราบว่า มีใครเขียนอะไร อย่างไรบ้าง และท้ายที่สุดก็ต้องปล่อยให้เป็นวิจารณญาณของนักเรียนว่าจะเห็นไปในทางไหน หรือมีข้อสังเกตต่องานประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันอย่างไร หรือจะต่อยอด “หาความจริง” อย่างไร ? ดังนั้น หน้าที่ของผู้สอนจึงต้องนำเสนอทั้งงานที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่อิงนิยายและงานที่เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์

ท่ามกลางการผลิตซ้ำเรื่องราวเหตุการณ์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้ ดูจะเทไปในทางเดียวไม่ว่าจะเป็นงานเขียนที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการก็ดี หรือการเสวนาที่ถูกนำมาเผยแพร่ในสื่ออิเลคทรอนิคก็ดี หรือตามหนังสือพิมพ์ทั่วไปก็ดี ดังนั้น เนื่องในโอกาสจะครบรอบ ๘๘ ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้เขียนจึงขอนำเสนองานที่อาจจะถูกมองว่าเทไปอีกทางหนึ่ง เพื่อให้ผู้อ่านได้รับรู้แง่มุมที่แตกต่างกันไปจากมุมมองที่เคยเป็นกระแสรองที่ได้กลายเป็น “กระแสหลัก” ไปแล้วโดยผู้เขียนจะคัดข้อความบางตอนจาก “คำนำผู้เขียน” ในหนังสือ “๑๔ ตุลา คณะราษฎร์กับกบฎบวรเดช” (๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “กบฏบวรเดช”/ผู้เขียน) ของ ชัยอนันต์ สมุทวนิช ที่ตีพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๑๗ ดังต่อไปนี้:

ข้าพเจ้า (ชัยอนันต์ สมุทวนิช) เคารพนับถือท่านอาจารย์ปรีดีฯในความซื่อสัตย์ ความเอาใจใส่ในกิจการบ้านเมืองของท่าน และมองเห็นคุณงามความดีของท่านที่มีต่อประเทศไทยในสมัยที่ท่านยังมีอำนาจอยู่หลายประการ

แต่ท่านอาจารย์ปรีดีฯควรยอมรับว่าคณะราษฎรนั้นล้มเหลว

นักปฏิวัติที่ประนามระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่เมื่อได้อำนาจแล้ว ทำตัวยิ่งกว่าเจ้านั้น เป็นนักปฏิวัติที่เราควรยกย่องให้มีชื่ออยู่ในประวัติศาสตร์หรือ ข้าพเจ้าไม่ได้หมายถึงท่านอาจารย์ปรีดีฯ แต่เพียงผู้เดียว ชื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม อาจติดอยู่ในประวัติศาสตร์นักชาตินิยม ชื่อหลวงประดิษฐ์มนูธรรม จะต้องถูกจารึกไว้ในประวัติการเทศบาลไทย ประวัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประวัติการยกเลิกสนธิสัญญาต่างประเทศที่ไม่เป็นธรรม การกอบกู้เอกราชของชาติในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ฯลฯ

แต่ในความเห็นของข้าพเจ้า ท่านและคณะราษฎรไม่อาจอ้างนามนักปฏิวัติหรือนักอภิวัฒน์ได้เลย ท่านไม่อาจกล่าวได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจว่า ท่านบูชาเสรีภาพ สิ่งที่ผู้อื่นทำต่อท่าน เช่น พระยามโนฯ ออก พ.ร.บ. คอมมิวนิสต์เพื่อขจัดท่าน ท่านอาจารย์ฯกับพรรคพวกก็ออก พ.ร.บ. จัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๖, ๒๔๗๘ และ ๒๔๘๑ เพื่อขจัดศัตรูของท่านเช่นกัน ข้อที่ผิดพลาดที่สุดก็คือ ท่านได้ขจัดผู้ที่มีจิตใจที่มีอุดมการไม่แตกต่างไปจากท่านเลย ออกไปจากวงการเมืองหลายคนโดยวิธีที่ไม่เป็นธรรม ข้าพเจ้ายังข้องใจไม่หายว่า ในเมื่อท่านอาจารย์ฯเองก็เป็นนักกฎหมาย เหตุไฉนท่านจึงสนับสนุนให้มีการจัดตั้งศาลเถื่อนๆ เช่น ศาลพิเศษ ซึ่งเป็นการขัดกับหลักนิติธรรมอย่างที่สุดในยุคนั้น

ถ้าท่านอาจารย์ฯตอบว่า นั่นเป็นเรื่องของคนอื่น ซึ่งท่านไม่อาจห้ามปรามได้ ท่านอาจารย์ฯ ก็คงไม่แตกต่างไปจาก ‘กลุ่มข้าราชการ-ขุนนางและปัญญาชนปฏิกิริยา” ซึ่งไม่เคยลุกขึ้นมาประนามระบบที่ตนเองเห็นว่าไม่เป็นธรรมในสมัยที่สามผู้มี่อำนาจล้นฟ้าปกครองเมืองไทยอยู่อย่างมากมายนัก (จอมพลถนอม-จอมพลประภาส-พันเอกณรงค์/ผู้เขียน)

ท่านอาจารย์ฯ ยังเป็นที่นับถือของคนจำนวนมากในเมืองไทย และเป็นที่เกลียดชังของคนจำนวนไม่น้อย ข้าพเจ้าได้เคยกล่าวไว้ในหนังสือโต้ท่านปรีดีฯ แล้วว่า ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นบุคคลที่รวมอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คือไม่ได้เป็นพวก Pridimania (คลั่งปรีดี/ผู้เขียน) หรือ Pridiphobia (เกลียดกลัวปรีดี/ผู้เขียน) ดังนั้นข้อเขียนของข้าพเจ้าจึงมิได้เกิดขึ้นด้วยมูลเหตุจูงใจอย่างอื่นเลย นอกจากจะลองพยายามพลิกความเชื่อเก่าๆเกี่ยวกับคณะราษฎรเสียที ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าเป็นความรู้สึกภายในจิตใต้สำนึกของข้าพเจ้าที่มีมาเป็นเวลาช้านานแล้ว

ส่วนที่สำคัญที่สุดของหนังสือเล่มนี้ คือ ภาคผนวก ซึ่งข้าพเจ้าได้รวบรวมเอกสารชั้นต้นเกี่ยวด้วยเรื่องดังกล่าวมาไว้ให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาเอง แทนที่จะอ่านเฉพาะข้อสังเกตของข้าพเจ้าในส่วนแรกแต่เพียงอย่างเดียว

ข้าพเจ้าอุทิศหนังสือเล่มนี้แด่ ร.ท. ณ เณร ตาละลักษณ์ ผู้ได้ฝากตัวยเป็นศิษย์ท่านอาจารย์ปรีดีฯ คนหนึ่ง เมื่อประมาณ ๓๗ ปีมาแล้ว ข้าพเจ้าทราบดีว่า ท่านอาจารย์มีความเสียใจเพียงใดที่เขาต้องตายไป ในขณะที่ชีวิตกำลังอยู่ในวัยที่จะช่วยชาติบ้านเมืองได้มากที่สุด โดยที่ท่านไม่อาจจะช่วยเขาได้”

ชัยอนันต์ สมุทวนิชต้องการชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่ฝ่ายตรงข้าม “ท่านปรีดีฯ” ใช้วิธีการที่ขัดกับหลักนิติธรรมในการเล่นงานท่าน แต่ท่านปรีดีฯเองก็ใช้วิธีการเดียวกันนั้นในการขจัดศัตรูของท่านด้วย

และชัยอนันต์ไม่ได้เอาหลักฐานข้อมูลมาปะติดปะต่อร้อยเรียงมาเขียนเป็นเรื่องราว

ไม่ว่าจะเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ หรือ ประวัติศาสตร์ที่อิงนิยาย แต่ชัยอนันต์ได้รวบรวมเอกสารชั้นต้นหรือตัวข้อมูลดิบมาใส่ไว้ภาคผนวกเพื่อให้ผู้อ่านได้พิจารณากันเอาเองว่า มีความจริงในคำวิจารณ์ของชัยอนันต์ที่มีต่อท่านปรีดีฯมากน้อยแค่ไหน ดังที่ชัยอนันต์กล่าวในคำนำว่า “ส่วนที่สำคัญที่สุดของหนังสือเล่มนี้ คือ ภาคผนวก” (หนังสือเล่มนี้มีความยาว ๑๓๓ หน้า เป็นภาคผนวกเสีย ๘๒ หน้า !)


กำลังโหลดความคิดเห็น