“วรัชญ์ ครุจิต” นักวิชาการผู้รอบรู้ด้านสื่อ ของ “นิด้า” โพสต์เฟซบุ๊ก อธิบายด้วยหลักวิชาการ อะไรคือสื่อ และไม่ใช่สื่อตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ก่อนฟันฉับ “วี-ลัค” บริษัทสื่อแน่นอน
วันนี้(21 พ.ย.62) เฟซบุ๊ก Warat Karuchit ของ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) โพสต์หัวข้อ "บริษัทสื่อ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ควรมีลักษณะเช่นใด" ในความเห็นของนักวิชาการสื่อ
ระบุว่า สิ่งหนึ่งจากคดีถือหุ้นสื่อ ที่ผมเห็นว่าสมควรแก้ไข ก็คือการตีความว่า "บริษัทสื่อ" คืออะไร ควรต้องนิยามให้ชัดเจนถึงองค์ประกอบว่าต้องมีลักษณะอย่างไรบ้าง เช่นเดียวกับที่กำหนดลักษณะต้องห้ามของ ส.ส. /รมต.
ในความเห็นผมคือ ต้องมีการทำธุรกิจ (คือมีรายได้หรือมีธุรกรรม) ในการสื่อสารไปสู่สาธารณะ และ/หรือ มีการจดทะเบียนเพื่อจุดประสงค์ในการทำสื่อเป็นหลักกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การพิมพ์ การทำโทรทัศน์ สื่อดิจิทัลต่างๆ
ถ้าเป็นบริษัทที่เป็นสื่อจริงๆ เช่น ไทยรัฐ เดลินิวส์ ช่อง 3 อะไรแบบนี้ ตีความไม่ยาก แต่หลายครั้งในการสื่อสารต่อสาธารณะนั้น ไม่ได้มาจากบริษัทนั้นโดยตรง บางทีมีสายการผลิตด้วย เอาง่ายๆเป็นสามส่วน คือตัวบริษัทลูกค้า บริษัทคนกลาง (เช่นเอเยนซี่) และบริษัทที่ผลิต (เช่นโปรดักชั่นเฮาส์หรือโรงพิมพ์) เช่นในกรณีธนาธร อ้างว่าผลิตนิตยสารให้ผู้ว่าจ้างอีกที จึงไม่ถือเป็นสื่อ
ผู้ว่าจ้างนั้นตัดออกไปอยู่แล้ว (ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของ รธน. และใครๆก็ว่าจ้างได้ ถ้านับผู้สมัครคงมีหุ้นในบริษัทอะไรไม่ได้เลย เพราะแทบจะไม่มีบริษัทไหนไม่เคยว่าจ้างทำการสื่อสาร) แต่ส่วนที่ 2 กับ 3 นี่สิ ควรจะนับมั้ย
ในความเห็นของผมคือ ถ้ารับผลิตอย่างเดียว โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างเนื้อหา เช่น โรงพิมพ์รับงานพิมพ์ตามงานที่ส่งมา แบบนี้ไม่ควรจะนับว่าเป็นบริษัทสื่อ แต่ถ้าบริษัทนี้มีส่วนในการคิดเนื้อหา เช่น มีนักเขียน มีกองบก. แม้จะประจำหรือไม่ประจำก็ตาม หรือในการให้โจทย์บริษัทผู้ผลิตไปผลิตมาจากการได้รับการว่าจ้างจากบริษัทอื่น ย่อมถือว่ามีโอกาสในการมีอิทธิพลต่อความคิดของผู้รับสาร
สรุปว่า ในความคิดเห็นของผม บริษัทสื่อ ตามเจตนารมณ์ของ รธน. ที่ป้องกันไม่ให้มีการครอบงำทางความคิดอย่างไม่เป็นธรรม คือ
1.มีรายได้/ธุรกรรมในการสื่อสารต่อสาธารณะ หรือ มีการจดทะเบียนเพื่อจุดประสงค์ในการทำสื่อเป็นหลัก (ถ้าจดแล้วก็เป็นแล้ว แม้ยังไม่เกิดธุรกรรม)
2. มีส่วนในการสร้างเนื้อหาที่สื่อสารต่อสาธารณะ (ไม่ว่าจะทำเองหรือจ้างผู้ผลิตอีกต่อหนึ่ง)
ในกรณีของวีลัค มีทั้งทำนิตยสารของตัวเอง ทั้งการสร้างเนื้อหาให้กับบริษัทผู้ว่าจ้าง และยังไม่ได้แจ้งปิดกิจการ จึงถือว่าเป็นบริษัทสื่ออย่างแน่นอน
แต่ในกรณีของ ส.ส.รายอื่นที่รอการพิจารณา บางบริษัทนั้นหากพิจารณาด้วยเกณฑ์นี้ ไม่ควรจะนับว่าเป็นบริษัทสื่อ โดยไม่ต้องยึดกับการจดทะเบียนกับกรมธุรกิจการค้าด้วยแบบฟอร์มสำเร็จรูปที่มีคำว่าทำสื่ออยู่ด้วย เนื่องจากไม่ได้ตั้งใจจะทำสื่อ และไม่เคยมีธุรกรรมทางการสื่อสาร และไม่มีการสร้างเนื้อหาด้วยตนเองเลย
ก่อนหน้านี้(26 มี.ค.62) ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต คนนี้นั่นเอง ที่เคย วิเคราะห์กระแสฟีเวอร์และความสำเร็จของพรรคอนาคตใหม่ เอาไว้อย่างน่าสนใจ และตอบข้อสงสัย กรณีพรรคอนาคตใหม่ได้รับเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ได้อย่างแหลมคม กรณีให้สัมภาษณ์เช้านี้ FM101 ว่า
ความสำเร็จของอนาคตใหม่ ส่วนสำคัญมาจากการที่เป็นพรรคที่สร้าง brand ได้ดีที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะเน้นประเด็นที่ชัดเจน ย้ำเรื่อง "เก่า/ใหม่" "เปลี่ยนแปลง" "อนาคต" "ต่อต้านเผด็จการ" ซึ่งเป็น pain point ของกลุ่มเป้าหมาย คือคนรุ่นใหม่ ที่ให้ความสำคัญ พูดแล้วโดนใจ
เนื่องมาจากเดิมนั้น ไม่มีพรรคที่มี position นี้ มีแค่ "กลุ่มคนรุ่นใหม่ในพรรคเก่า" ซึ่งถูกแบรนดิ้งของพรรคและหัวหน้าพรรคครอบไว้ ทำให้กลุ่มเป้าหมายไม่ได้รับรู้ จึงเป็น hole หรือช่องว่างทางตำแหน่งการตลาดที่ไม่มีใครยึดครอง (blue ocean) ที่พร้อมให้คนมาเก็บเกี่ยว
เมื่อมีแบรนดิ้งใหม่ที่มีลักษณะ "ขบถ" "กล้าต่อสู้กับอำนาจรัฐ" อย่างอนาคตใหม่มาเป็นตัวเลือก จึงกลายเป็นเหมือนฮีโร่ที่กลุ่มเป้าหมายจะ "เท" ใจให้ ซึ่งทีมงานอนาคตใหม่รู้ตรงนี้ จึงชูคุณธนาธรขึ้นเป็นตัวแทน brand พรรคอย่างเดียว
นอกจากนั้นอนาคตใหม่ ยังมีกลยุทธ์การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพที่สุดต่อกลุ่มเป้าหมาย คือการใช้โซเชียลมีเดีย ที่ไม่ใช่แค่มี แต่มีการสร้างกระแส การทำ content ที่ไม่ใช่แค่เรื่องนโยบาย ทำให้เป็นกระแสในกลุ่มวัยรุ่น และการใช้สื่อหลักเข้ามาช่วยต่อยอด มีกิจกรรมให้เกิดข่าวต่อเนื่อง เช่น การแถลงข่าว Hyperloop หรือการทำ Blind trust ทั้งสำนักข่าวฝ่ายตนเอง (ชม) และสำนักข่าวฝ่ายตรงข้าม (ด่า) ทำให้มีข่าวอยู่ตลอดเวลา ยึดพื้นที่ข่าวได้มากที่สุด มากกว่าพรรคการเมืองใหญ่ที่มีฐานเสียงอยู่มาก รวมถึงการออกแบบการหาเสียง ก็ทำให้รู้สึกว่าเข้าถึงง่าย เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่จริงๆ
นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยเกื้อหนุนอีกหลายอย่าง เช่น
- การที่พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ ทำให้คะแนนเทมาที่อนาคตใหม่ในเขตที่เพื่อไทยไม่ได้ลง
- การเลือกตั้งครั้งนี้บอกว่าทุกคะแนนไม่ตกน้ำ จึงเป็นการเลือกในพรรคที่ชอบ คะแนนที่ลงไม่จำเป็นต้องให้ผู้สมัครอย่างเดียว แต่ยังส่งไปให้หัวหน้าพรรค คือคุณธนาธร ได้ด้วย
- การเลือกตั้งครั้งนี้ จัดขึ้นในช่วงเวลาที่ยังไม่ปิดเทอมของมหาวิทยาลัย ทำให้นักศึกษาซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของพรรค มีการพูดคุยกันเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งแน่นอนวัยรุ่นมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมตามกลุ่มเพื่อน
- การเลือกตั้งครั้งนี้อั้นมานาน 8 ปี ทำให้มี first voters เป็นจำนวนมากถึง 7.3 ล้านคน และคนรุ่นใหม่ตื่นเต้นกับการเลือกตั้งครั้งแรก จึงดูเหมือนออกมาเยอะ เอื้อให้พรรคเกิดใหม่ที่นโยบายโดนใจวัยรุ่นได้คะแนนมาก
- การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการต่อเนื่องจากรัฐประหาร มีรัฐบาลทหารเป็นรัฐบาลเดิม ทำให้การชูประเด็นต่อต้านทหารยิ่งมีประสิทธิภาพกับคนรุ่นใหม่และคนรุ่นกลางที่ไม่เอาทหาร โดยสังเกตได้ว่า พื้นที่ที่อนาคตใหม่ได้หลายๆเขตคือเขตตัวเมือง ทั้งกทม.และจังหวัดใหญ่ๆ... (ส่วนที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์พรรคอนาคตใหม่ จากเวบไซต์ไทยทริบูน /26 มี.ค.62)
ไม่นับหลายเรื่องที่เป็นประเด็น ข้อสงสัยในทางสังคม ที่เกี่ยวกับด้านการสื่อสาร นักวิชาการท่านนี้มักออกมาอธิบายด้วยหลักวิชาการเพื่อให้ความรู้ และช่วยคลี่คลายข้อสงสัยได้เป็นอย่างดี
สำหรับ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ข้อมูลจากเว็บไซต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า)
ประวัติการศึกษา Ph.D (Mass Media & Communication), Temple University, USA
M.A. (Interdisciplinary Studies: Marketing, Management & Communication), DePaul University, USA
วารสารศาสตรบัณฑิต (การโฆษณา), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สาขาที่มีความเชี่ยวชาญ การสื่อสาร สื่อมวลชน การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ การสื่อสารการตลาด ความรู้เท่าทันสื่อ ความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสารข้ามวัฒนธรรม วัฒนธรรมการสื่อสารในองค์กร สื่อใหม่และสื่อสังคม
ประวัติการทำงาน 2556-ปัจจุบัน ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 2548-ปัจจุบัน
ที่ปรึกษาและวิทยากร สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม 2556-ปัจจุบัน ผู้ประเมินบทความ วารสารวิชาการนานาชาติ Journalism and Mass Communication
2553-ปัจจุบัน อาจารย์พิเศษคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน และสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
2555-ปัจจุบัน ที่ปรึกษาวารสารวิชาการ “วารสารศาสตร์” คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน 2556-ปัจจุบัน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ วารสารวิชาการ “อิศราปริทัศน์” สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนไทย
2551-ปัจจุบัน กรรมการสภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (สสมท.) 2556-ปัจจุบัน
กรรมการสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.)
2548-2556 ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม
ด้วยประสบการณ์ตรงด้านสื่อยาวเป็นหางว่าวเช่นนี้ ทำให้การออกมาอธิบายเรื่องอะไรคือ สื่อ อะไรไม่ใช่สื่อ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้ใครหยิบยกเอาปมปัญหาไปขยายผลทางการเมือง นับว่า สมควรอย่างยิ่ง และที่ฟันฉับ ว่า บ.วี-ลัค มีเดีย ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นสื่อแน่นอน นั้น ก็เท่ากับการันตีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า วินิจฉัยถูกต้องแล้วนั่นเอง