ผอ.ศูนย์มานุษยวิทยา ห่วงพิษเศรษฐกิจจาก "โควิด" กระทบกลุ่มเปราะบาง 3.8 ล้านครอบครัว ยิ่งคนไร้บ้าน-ชุมชนแออัด ในเขตเมืองยิ่งน่าห่วง เหตุติดตามดูแลยากกว่าชนบท แนะวางแผน 3 ระยะเข้าดูแล เน้น 7 กลุ่มเสี่ยงสำคัญ เผยเด็กเรียนที่บ้าน เรียนไม่ทันเพื่อน 30-50%
วันนี้ (4 มิ.ย.) นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผอ.ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 เหมือนคลื่นสึนามิ 2 ลูก คือ ลูกแรกตัวโรคโควิดเอง และลุกที่สองคือผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีความกว้างขวางและยาวนานกว่า กว่าจะฟื้นตัว คือ 1-3 ปี ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และภายในครอบครัว ซึ่งส่งผลแต่ละครอบครัวต่างกัน จึงต้องเน้นให้ความสำคัญกับกลุ่มครอบครัวเปราะบาง ที่มีอยู่ 3.8 ล้านครอบครัว เฉลี่ยมีสมาชิก 4-6 คน หรือประมาณ 15 ล้านคน ที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งปัญหาที่เผชิญคือ หนี้สิน การตกงาน ขาดแคลนปัจจัย 4 ซึ่งหาไม่ได้จากตู้ปันสุข นำไปสู่เรื่องผลกระทบสุขภาพจิต เช่น ความเครียด ฆ่าตัวตาย ซึ่งไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2541 นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความรุนแรงในครอบครัว และการหย่าร้าง
นพ.โกมาตรกล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยเป็นครอบครัวเดี่ยว คือ พ่อแม่ลูก เกือบ 50% ของครอบครัวไทย เป็นครอบครัวขยายประมาณ 1 ใน 3 และครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว 6.5% ทั้งนี้ เรื่องความรุนแรงเรามีอยู่เดิมแล้ว โดยเป็นความรุนแรงด้านจิตใจ 32% ด้านร่างกาย 10% ความรุนแรงทางเพศ 4.5% ดังนั้น เราจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญ 7 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่มีสภาวะยากจน ขาดแคลน แร้นแค้นอยู่แล้ว ซึ่งมีการลงทะเบียนเอาไว้ จำเป็นจะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ 2. ผู้สูงอายุและผู้พิการ 3. ผู้ป่วย เช่น เบาหวาน ความดัน 4. ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว
5. กลุ่มที่เข้าไม่ถึงสิทธิ์ เช่น เมื่อมีการลงทะเบียนผ่านโทรศัพท์มือถือเข้าไม่ถึงสิทธิ์ เพราะไม่มีโทรศัพท์มือถือใช้ หรือไม่มีบัญชีธนาคาร นอกจากเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือแล้ว ความรู้สึกหดหู่เมื่อเห็นคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่ากลับได้รับความช่วยเหลือ ขณะที่ตัวเองลำบากมากกว่าแต่เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือจะทำให้เกิดสภาวะจิตใจหดหู่ ซึมเศร้าได้ 6. กลุ่มคนไร้สถานะ แรงงานต่างด้าว และ 7. กลุ่มชาติพันธุ์ตามชายขอบ ในเขตเมือง เขตอุตสาหกรรมหรือจังหวัดชายแดน
“นอกจากนี้ยังมีอีก 2 กลุ่มที่สำคัญมาก คือ ครอบครัวเปราะบางในสังคมเมือง เพราะในชนบทมี อสม.ในการติดตามดูแล แต่เขตเมืองการดูแลลำบาก คือ กลุ่มคนไร้บ้าน อย่างเคอร์ฟิวก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน เพราะเดิมอาศัยการให้ทาน จัดกิจกรรมช่วยเหลือคนไร้บ้าน ช่วงนี้ก็ไม่ได้มีการจัด และกลุ่มชุมชนแออัด มีความเสี่ยงเรื่องความรุนแรง ความสัมพันธ์ในครอบครัว เพราะบ้านมีขนาด 17-24 ตารางเมตร แต่มีคนอยู่ 4-6 คน ในแง่กายภาพจึงลำบาก และอาศัยรับจ้างในเขตเมือง" นพ.โกมาตร กล่าว
นพ.โกมาตร กล่าวว่า สรุปว่ากลไกต่างๆ ที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือให้มองผลกระทบออกเป็น 3 ระยะคือ 1. ระยะเร่งด่วน กลุ่มเปราะบางเหล่านี้ต้องการความช่วยเหลืออะไรควรเข้าไปตอบสนอง 2. ระยะกลาง ซึ่งเราจะมีการคลายล็อคมากขึ้นในอนาคตจะมีผลกระทบตามมา เช่น การเปิดโรงเรียน ซึ่งในต่างประเทศพบมีการระบาดของโควิด-19 กลับมา ที่สำคัญมีงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า เด็กที่เรียนอยู่กับบ้าน เมื่อกลับไปเรียนที่โรงเรียนจะมีปัญหาความรู้ตกหล่น ไม่สามารถจะเรียนได้ตามเนื้อหาที่คาดหวังไว้มาก 30-50% ครอบครัวที่ไม่มีอุปกรณ์สำหรับเรียนที่บ้าน อาจตกหล่นมากกว่า 50% เพราะฉะนั้นหลังคลายล็อกเปิดเรียนแล้ว ครู อาจารย์ต้องติดตามความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการเรียนรู้และสร้างกระบวนการสนับสนุนรองรับ นอกจากให้คำแนะนำปรึกษาเรื่องความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในสังคม และ 3. ระยะยาว การฟื้นฟูครอบครัวอาจควบคู่กับการฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลมีนโยบายอยู่แล้ว