เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ คือพระราชนิพนธ์ หรือถ้าพูดอย่างเข้าใจโดยง่ายก็คือ การเขียนหนังสือ นอกเหนือไปจากพระราชนิพนธ์ที่ทำให้คนไทยได้สัมผัสกับพระอัจฉริยภาพด้านการประพันธ์ ทั้งเรื่อง “พระมหาชนก” เรื่อง “เรื่องทองแดง” ตลอดจน “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามสู่สวิทเซอร์แลนด์” ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ยังได้ทรงแปลและเรียบเรียงบทความอีกจำนวนหนึ่งซึ่งยังคุณค่าทางความคิดให้เกิดแก่ผู้ที่ได้อ่าน
และหากจะกล่าวถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในด้านนี้แล้วไซร้ “งานแปล” หรือ “พระราชนิพนธ์แปล” ก็แสดงให้เห็นถึงความล้ำเลิศในด้านภาษาของพระองค์อย่างยิ่งยวด โดยหนังสือพระราชนิพนธ์แปล ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ซึ่งจักนำมากล่าวถึงในที่นี้ มีอยู่ ๒ เรื่องด้วยกัน
หลังจากเอ่ยถึง “นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ” ไปแล้วในบทความชิ้นก่อนหน้า ก็มาถึงอีกหนึ่งเรื่องราวของบุคคลสำคัญระดับโลกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงแปลมาจากหนังสือต่างประเทศเพื่อให้คนไทยได้อ่านกัน นั่นก็คือ “ติโต” ยอดคนคอมมิวนิสต์ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเรียกขานด้วยสมัญญานามว่า “ทหารลูกทุ่ง” ...
๒. ”ติโต” เด็กช่างกลลูกชาวนา
เปี่ยมอุดมการณ์และความเพียร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแปลเรื่อง “ติโต” ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๑๙ และทรงปรับปรุงต้นฉบับและพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ปีพุทธศักราช ๒๕๓๗ ด้วยทรงหวังว่าโลกนี้จะมีสันติภาพและความสงบขึ้น
จากบทความของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล อรรถาธิบายไว้ว่า “ติโต” (Tito) คือสมญานามของ “ยอซีป บรอซ” (Josip Broz) ตั้งแต่สมัยเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งยูโกสลาเวีย การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงเรียกเขาว่า “ทหารลูกทุ่ง” นั้นเพราะยอซีปเกิดมาในครอบครัวชาวนาที่แม้ว่า อาจจะไม่ถึงกับยากจนนัก แต่ก็ต้องดิ้นรนอย่างหนัก เพราะมีพี่น้องรวมกันถึง 9 คน
ยอซีป บรอซ ต้องออกจากโรงเรียนเพื่อไปทำงานล้างจานในค่ายทหารตั้งแต่อายุ 12 ปี ไปฝึกงานเหมือนเด็กช่างกลในอู่ซ่อมรถยนต์ตอนอายุ ๑๕ เร่ร่อนเปลี่ยนงานครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งอายุได้ ๒๐ ปี จึงไปสมัครเป็นทหาร ที่ทำให้เขาเกือบเอาชีวิตไม่รอดในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ถูกรัสเซียจับเข้าค่ายกักกัน ก่อนจะแหกคุกหนีออกมา แต่แล้วก็ถูกจับได้อีก แล้วก็หนีอีก จนได้ไปเป็นเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ของยูโกสลาเวีย เรียกว่าพวก “ปาร์ติซาน” (Partisan) สร้างสมผลงานและบารมี จนได้ขยับขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค เป็นหัวหน้าแนวร่วมกู้ชาติจนรวมประเทศยูโกสลาเวียจากความแตกแยกสมัยสงครามได้สำเร็จ
ยอซีป บรอซ ได้รับการยกย่องในฐานะรัฐบุรุษแห่งยูโกสลาเวีย และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศยูโกสลาเวีย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๙๖ – ๒๕๒๓ นับเวลารวมกัน ก็ยาวนานถึง ๒๗ ปี
อดีตนายกรัฐมนตรี ๒ สมัยของไทยเรา คุณอานันท์ ปันยารชุน เคยได้กล่าวถึง “ยอซีป บรอส” เอาไว้ว่า “คุณลักษณะของติโตนี้ ปรากฏเห็นชัดว่าเขา เป็นผู้นำทางด้านทหาร เป็นเสนาธิการที่ยอดเยี่ยม เป็นแม่ทัพที่มีความละเอียด มีความกล้าหาญ ในขณะเดียวกันก็เป็นนักการเมืองที่ยอดเยี่ยมที่สามารถรักษาอิสรภาพของยูโกสลาเวีย สร้างความเป็นปึกแผ่นของประเทศ รวบรวมชนชาติต่างๆ ในรัฐยูโกสลาเวียให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ให้มีสิทธิเท่าเทียมกันให้มีการปกครองซึ่งมีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง”
ขณะที่ ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล เล่าผ่านบทความเอาไว้ว่า ความเป็นคนดี และเป็นคนน่าสนใจของติโต คือการเป็นผู้นิยมอุดมการณ์คอมมิวนิสต์แบบอิสระ ไม่ยอมอยู่ใต้การครอบงำของสตาลิน (Stalin) แห่งสหภาพโซเวียต อิสระในความคิดที่ไม่นิยมระบบนารวม อิสระที่ต้องการให้ให้ชนทุกเผ่าพันธุ์กลับมารวมเป็นชาติเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีทั้งเชื้อชาติ “โคโซโว” (Kosovo), “โครเอเชีย” (Croatia), “เซอร์เบีย” (Serbia), “มอนเตเนโกร” (Montenegro), “บอสเนีย” (Bosnia), “เฮอร์เซโกวีน่า” (Herzegovina) และ “สโลวีเนีย” (Slovania) สารพัดความร้าวฉานแตกแยกแตกต่าง ทั้งด้านศาสนา วัฒนธรรม และวิถีชีวิต แต่ในที่สุด ติโตก็สามารถรวมชาติได้สำเร็จ
“ลักษณะเด่นของติโต คือความมุมานะ นึกถึงประชาชนผู้ยากไร้ นึกถึงชาติเป็นเป้าหมายใหญ่ และพร้อมที่รับความจริงว่าชัยชนะที่เป็นเป้าหมายนั้นต้องอาศัยความร่วมมือช่วยเหลือจากมิตรรอบด้านให้มากที่สุด ผสานกับการให้การศึกษากับตัวเองและประชาชนทั้งมวลอย่างต่อเนื่อง”
“คอมมิวนิสต์” ถึงตรงนี้ หลายท่านอาจจะเกิดคำถามเหมือนกับที่อดีตนายกรัฐมนตรี ๒ สมัยอย่างคุณอานันท์ ปันยารชุน เคยเจอมา ซึ่งคุณอานันท์ก็ได้อรรถาธิบายไว้เช่นกันว่า ทำไมเราจะต้องยกย่องหรือเยินยอติโต? ติโตเป็นคอมมิวนิสต์ไม่ใช่หรือ?
“ใช่ แต่เขาเป็นคอมมิวนิสต์ด้วยความผันผวนทางชีวิตของเขา” คุณอานันท์กล่าวไว้ในเบื้องต้น
“สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ส่วนหนึ่งของดินแดนยูโกสลาเวียอยู่ภายใต้
อาณาจักรออสโตร-ฮังการี และมีการสู้รบกับประเทศรัสเซีย แล้วเขาถูกจับที่พรมแดนและถูกต้อนไปเป็นเชลยศึกที่รัสเซีย จึงทำให้เขาสามารถเรียนรู้ภาษารัสเซีย สามารถไต่เต้าขึ้นไปในวงการเมืองขององค์การที่เรียกว่า “โคมินเทิร์น” หรือองค์กรคอมมิวนิสต์สากลที่คุมขบวนการคอมมิวนิสต์ในทุกประเทศ
“เมื่อตอนเด็กๆ นั้น เขาไม่ได้มีความฝันอะไรเลย เขาเป็นเพียงแต่อยากจะเป็นช่างตัดเสื้อ เพราะเขาอยากจะได้แต่งตัวได้สูทดีๆ สูทสวยๆ เพื่อทดแทนเสื้อผ้าที่ขาดวิ่นของเขาที่เขาต้องการใส่
“ในสมัยที่เขายังเป็นเด็กอยู่ เขามีการศึกษาในระบบโรงเรียน บิดามารดายากจน เขาเห็นความทุกข์ทรมานของคนจน แต่เขาก็ไม่ได้เป็นนักอุดมการณ์ที่จะส่งเสริมให้มีการต่อสู้ที่เรียกว่า CLASS WARFARE
“เขาเรียนหนังสือด้วยตนเอง เขาศึกษาด้วยตนเอง เขาอ่านหนังสือต่างๆ แม้แต่
หนังสือที่แปลมาจากหนังสือต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเชอร์ล็อค โฮล์มส์ หรือเรื่องอื่นๆ
“ติโตไม่เคยยอมสยบให้ใครหรือก้มหัวให้กับใคร รักความอิสระ ระหว่างที่เขาต่อสู้ ด้านการทหารนั้น เขาก็ดูแลพรรคการเมืองของเขาไม่ให้มีความวุ่นวาย ไม่ให้มีการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น ไม่ให้ก่อผลประโยชน์แต่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เขามีจิตมุ่งมั่นว่า สิ่งที่เขาต้องการทำระหว่างสงคราม คือเอาชนะต่อกองทัพนาซี สร้างประเทศยูโกสลาเวียให้เป็นปึกแผ่นแล้วจึงจะมาดูแลทุกข์สุขของประชาชนให้มีฐานะดีขึ้น
“เขาต่อสู้ด้วยความทรหด ต่อสู้ต่อภัยพินาศต่างๆ แม้แต่ในชีวิตส่วนตัว
มีลูก ๔ คน ตายไปแล้ว ๓ คน ชีวิตนั้นต้องคอยหนีคอยหลบ และต้องกลัวต่อการประทุษร้ายตลอดเวลา และเมื่อเขาสามารถสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับ
ยูโกสลาเวีย เขาก็ไม่ได้หยุดเท่านั้น เขาอาจจะเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ก็เป็นคอมมิวนิสต์ที่เป็นอิสระในความคิดเห็น ไม่ต้องการเป็นลูกน้องใคร ไม่ยอมจำนนต่ออิทธิพลของสหภาพโซเวียต ทั้งทางด้านทหาร และทางการเมืองระหว่างประเทศ
“เขาเป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นผู้หนึ่งที่มีความสำคัญมาก ในการก่อตั้งกระบวนการกับกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดร่วมกับนายกรัฐมนตรีเนรูห์ของอินเดีย (ชวาหระลาล เนห์รู) ประธานาธิบดีนัสเซอร์ของอียิปต์ (กามาล อับเดล นัสเซอร์) ประธานาธิบดีซูการ์โนของอินโดนีเซีย และประธานาธิบดีของแอลจีเรีย
“ตลอดระยะเวลาหลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ นโยบายการเมืองภายในของเขาก็ไม่ขึ้นกับองค์การคอมมิวนิสต์สากล เขาเป็นคอมมิวนิสต์ก็จริง แต่เขา
ไม่เคยคิดที่จะนำและไม่ได้นำนโยบายร่วม (COLLECT IVEFARM) ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในสหภาพโซเวียตและประสบความล้มเหลวมาใช้ในยูโกสลาเวีย เขาถูกไล่ออกจากองค์การคอมมิวนิสต์สากล
“เขากล้าพอ เมื่อสหภาพโซเวียตบุกรุกเข้าในประเทศเชโกสลาเวีย ใน ค.ศ. ๑๙๖๘ เขาเป็นผู้นำประเทศคอมมิวนิสต์ซึ่งมีพรมแดนใกล้ชิดกับโซเวียตมาก เขาประณามและวิจารณ์รุนแรงต่อนโยบายอันไม่ชอบธรรมของสหภาพโซเวียต ในขณะเดียวกัน เขายอมรับความจริงว่า เขาเป็นประเทศเล็กและเมื่ออยู่ใกล้
ประเทศใหญ่ซึ่งมีอิทธิพลมากมาย บางครั้งบางคราว ถ้าไม่เสียหลักการมากเกินไป เขาก็ยอมโอนอ่อนบ้าง เขาทำตัวอยู่ในจุดศูนย์กลางระหว่างประเทศอภิมหาอำนาจ ยึดถือหลักการของกระบวนการที่ไม่ร่วมกับฝ่ายใด ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด”
จากถ้อยคำที่ผู้ใหญ่ทั้งสองท่านบรรยายมาทั้งหมด ก็เป็นดั่งบทพิสูจน์ที่ชัดเจนแล้วถึงความยิ่งใหญ่ของ “ยอซีป บรอซ” ผู้มีสมญานามว่า “ติโต” และนั่นก็จึงไม่แปลกแต่อย่างใด หากว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เรื่องราวของรัฐบุรุษผู้รวมชาติสโลวาเกียผู้นี้ จะได้รับการหยิบยกมาบอกเล่าครั้งแล้วครั้งเล่าในโลกภาพยนตร์จอเงินและทีวีจอแก้วในรูปแบบซีรี่ส์ เฉกเช่นเรื่องราวของวีรบุรุษทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น
๑. V gorakh Yugoslavii หรือชื่อในภาษาอังกฤษ In the Mountains of Yugoslavia ภาพยนตร์ขาวดำที่กำกับโดย Abam Room สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๘๙ (ค.ศ.1946)
๒. The Battle of Sutjeska หรือที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในชื่อ The Fifth Offensive ภาพยนตร์ปีพุทธศักราช ๒๕๑๖ (ค.ศ. 1973) เรื่องนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นผลงานเรื่องแรกที่ทำให้เรื่องราวของรัฐบุรุษแห่งยูโกสลาเวียโด่งดังยิ่งขึ้นไปอีกในโลกของคนดูหนัง เพราะมีดาราชายชื่อดังแห่งยุคนั้นอย่าง “ริชาร์ด เบอร์ตัน” รับบทเป็นติโต
๓. อีกหนึ่งปีถัดมา คือปีพุทธศักราช ๒๕๑๗ (ค.ศ.1974) ก็มีภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับ “ติโต” ออกมาอีกหนึ่งเรื่อง ในชื่อว่า Guns of War ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวในเซอร์เบียเมื่อปี ค.ศ.1941 ถึงการล่มสลายของสาธารณะรัฐอูซีตเซ หลังกองทัพเวร์มัคท์เข้ารุกจนทำให้กองทัพยูโกสลาฟต้องประกาศยอมแพ้ใน “สงครามเดือน เม.ย” โดยหนังเล่าเรื่องของ “โบโร” กลุ่มทหารชาวสเปน และกลุ่มคอมมิวนิสต์หัวรุนแรงที่รวมตัวกันเพื่อก่อการปฏิวัติในเซอร์เบียตะวันตก กลุ่มพลพรรคที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ได้จัดการขับไล่พวกเยอรมัน จนสามารถก่อตั้งเป็นดินแดนอิสระที่เรียกว่า "สาธารณะรัฐอูซีตเซ" ได้สำเร็จ แต่สุดท้าย สาธารณะรัฐอูซีตเซ ก็ดำรงอยู่ได้แค่ 67 วันเท่านั้น คือระหว่างวันที่ 24 ก.ย. ถึง 26 พ.ย. เมื่อเกิดสงครามการนองเลือดขึ้นที่คาดินเจกา ที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้พ่ายแพ้ต่อกองทัพเวร์มัคท์แห่งเยอรมัน และเชตนิกที่ยังคงจงรักภักดีต่อราชวงศ์ของยูโกสลาเวีย จนสุดท้ายต้องหลบหนีไปปักหลักอยู่ที่ซานด์เซ็ค ในบอสเนีย
นอกจากนี้ ยังมีภาพยนตร์ปีพุทธศักราช ๒๔๑๖ (ค.ศ.1983) เรื่อง Igmanski mars และปีพุทธศักราช ๒๕๓๕ (ค.ศ.1992) อีกเรื่อง คือ Tito and Me ขณะเดียวกันก็มีซีรี่ส์ฉายทางทีวีออกมาอีกหลายเรื่องเช่นกัน ทั้งหมดนี้นั้นล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับรัฐบุรุษแห่งยูโกสลาเวีย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ...
ย้อนกลับไปที่พระราชนิพนธ์แปล ... จากข้อเขียนของ ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล ทำให้เราได้รู้ว่า พระราชนิพนธ์แปล "ติโต" เล่มนี้แปลจาก “Tito” [Ballantine's illustrated History of the Violent Century, War Leader Book, No. 10, 1972] โดย Phyllis Auty ตีพิมพ์เมื่อปี 1972 เป็นฉบับย่อ เล่มเล็ก ความยาว 160 หน้า เป็นงานของผู้เขียนคนเดียวกัน พิมพ์ในเวลาหลังจากการพิมพ์เล่มใหญ่แล้วสองปี ปัจจุบันเป็นหนังสือเก่า หายาก ไม่มีการพิมพ์ใหม่อีกแล้ว
“การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเลือกแปลจากเล่มที่สั้นและย่อกว่า มีความยาวเพียง 121 หน้า นั้น นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้อ่านที่ต้องการทำความรู้จักขั้นเริ่มต้นกับคนดีของโลกอีกคนหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กและเยาวชน ควรอ่านเป็นหนังสือนอกเวลาเรียน ไม่ว่าโรงเรียนจะกำหนดเป็นทางการหรือไม่ก็ตาม
ติโตมีความเชื่อมาตลอดว่า “การดำเนินการศึกษาอย่างไม่หยุดยั้ง” นั้นมีความสำคัญมาก ตอนที่เขาเป็นเจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานและเป็นฝ่ายดำเนินการคอมมิวนิสต์ผู้น้อยในราวปี ค.ศ. ๑๙๒๐ ถึง ๑๙๒๙ เขาเป็นผู้เข้าเมืองไปซื้อหนังสือให้กรรมกรแล้วเก็บไว้ในห้องของตน โดยให้ยืมได้แบบห้องสมุด แม้จะต้องเสี่ยงต่อการค้นของตำรวจ ในระยะต่อมา เมื่อติดคุกฐานเป็นนักโทษการเมือง ตลอดจนเมื่อเป็นเจ้าหน้าที่ของโคมินเทิร์นในมอสโคว์ เขายิ่งเชื่อมั่นว่าการศึกษาเป็นบันไดไปสู่ความสำเร็จทางการเมือง เขาได้หมั่นเพียรในการศึกษาด้วยตัวเอง และได้รับผลสำเร็จ การจัดการศึกษาของพวกปาร์ติซานชายหญิงตลอดสงคราม เป็นการดำเนินตามแนวความคิดนี้”
“การที่ต้องออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 12 มิได้ทำให้ติโตหยุดการศึกษาด้วยตนเอง ติโตจึงกลายเป็นนักคิด นักรบ และนักต่อสู้เพื่อชาติยูโกสลาเวีย เพื่อที่จะให้ ‘ยูโกสลาเวียเป็นประเทศที่เป็นปึกแผ่น ให้มีการปกครองที่ดีขึ้น ให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น และมีสังคมที่มีความเสมอภาคมากขึ้น’ ”
นี่คือ “ติโต” ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงชื่นชอบและเห็นควรเป็นแบบอย่าง เด็กช่างกลลูกชาวนาผู้ยากจน แต่เปี่ยมอุดมการ์และความเพียร ใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือสร้างตัว สร้างพรรค และสร้างชาติ เป็นต้นแบบของนักการเมืองที่ดี
“การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชแห่งราชอาณาจักรไทย ทรงสละเวลาแปลหนังสือชีวประวัติของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ผู้ยิ่งใหญ่ เช่น ติโต นั้น แสดงว่าพระองค์ทรงศึกษาและรับคุณค่าของอุดมการณ์สังคมนิยมและคอมมิวนิสต์มาเป็นเวลานานแล้ว พระองค์ทรงต้องการให้ข้าราชบริพารและพสกนิกรของพระองค์เห็นแบบอย่างที่ดีของผู้นำคอมมิวนิสต์ ตลอดจนอุดมการณ์สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่แท้จริง เช่น ติโต ซึ่งเป็นผู้นำมีความเพียรในการนำทางประชาชนผู้ยากไร้ ต้องการผนึกพลังความสามัคคีปรองดองของผู้คนต่างเชื้อชาติที่รวมอยู่ในแคว้นเดียวกัน ให้ร่วมกันสร้างประเทศชาติให้ได้อิสรภาพ มีความเจริญมั่นคงถาวรสืบไป”
** ข้อมูลประกอบ siweb.dss.go.th และบทความ “พระราชนิพนธ์แปลสามเรื่อง ในพระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” โดย ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล
ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live
ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th
ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม