ถือเป็นภาพและเสียงที่หาดูและฟังได้ยากทีเดียว หลังเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ที่ผ่านมาในแฟนเพจ “พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย” ได้มีการเผยแพร่คลิปเรื่องราวเกี่ยวกับการบันทึกเพลงสรรเสริญพระบารมีครั้งแรกของโลกออกมา พร้อมรายละเอียดว่า...
การบันทึกเสียง “เพลงสรรเสริญพระบารมี” ครั้งแรกในโลกเกิดขึ้น ณ กรุงเบอร์ลิน ปี พ.ศ. 2443 เป็นการบันทึกลงบนบนกระบอกเสียงของเอดิสันชนิดไขขี้ผึ้งเปล่า (Edison brown blank wax cylinder) โดยมี คณะนายบุศย์มหินทร์ (Boosra Mahin) หรือ เจ้าหมื่นไววรนาถเป็นผู้บรรเลง และบันทึกเสียงโดย ดอกเตอร์ คาร์ล สตุ๊ฟ (Dr.Carl Stumpf) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการศึกษาเรื่องของเสียงและการบันทึกเสียงในประเทศเยอรมนี
สำหรับประวัติความเป็นมาของเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้น ในเว็บไซต์วิกิพีเดียได้ให้รายละเอียดว่า...เพลงสรรเสริญพระบารมี มีเค้าโครงว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้มีเพลงที่มีลักษณะคล้ายเพลงสรรเสริญพระบารมีอยู่ก่อนแล้ว ใช้บรรเลงในเวลาพระมหากษัตริย์เสด็จฯลงท้องพระโรงและเสด็จฯขึ้น มีชื่อเรียกว่า “สรรเสริญนารายณ์” แต่ในบ้างแหล่งระบุชื่อเพลงว่า “เสด็จออกขุนนาง”
แต่เพลงสรรเสริญพระบารมีในฐานะเพลงชาตินั้น เริ่มปรากฏในสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยมีการใช้เพลง ก็อดเซฟเดอะคิง ซึ่งเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงชาติของอังกฤษ บรรเลงเป็นเพลงถวายความเคารพแด่องค์พระมหากษัตริย์ ตามแบบอย่างการฝึกทหารของอังกฤษ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้ใช้ทำนองเพลงนี้แต่งคำร้องสรรเสริญพระบารมีถวายโดยให้ชื่อว่า “จอมราชจงเจริญ”
จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้เสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์และเกาะชวาในปี พ.ศ. 2414 ขณะที่ทรงประทับอยู่ที่สิงคโปร์นั้น ทหารอังกฤษได้ใช้เพลง “ก็อดเซฟเดอะคิง” บรรเลงเป็นเพลงเกียรติยศรับเสด็จฯ ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่าทั้งอังกฤษและไทยต่างใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีเพลงเดียวกัน ต่อมาเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองปัตตาเวีย ชาวฮอลันดาที่ตั้งอาณานิคมที่นั้น ได้ถามถึงเพลงประจำชาติของไทย เพื่อจะได้นำไปบรรเลงรับเสด็จฯ พระองค์จึงมีพระราชดำริแก่ครูดนตรีไทย ให้แต่งเพลงแตรวงรับเสด็จฯเพื่อใช้แทนเพลง “ก็อดเซฟเดอะคิง”
ตอนนั้น คณะครูดนตรีไทยจึงได้เสนอเพลงบุหลันลอยเลื่อน (หรือเพลงทรงพระสุบิน) ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ใช้เป็นเพลงสรรเสริญพระบารมี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายเฮวุดเซน (Heutsen) ครูดนตรีในกรมทหารมหาดเล็กชาวฮอลันดา เรียบเรียงทำนองขึ้นใหม่ให้เป็นทางดนตรีตะวันตก และได้ใช้เป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2414 [6] (ดร. สุกรี เจริญสุข ได้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเพลงเดียวกันกับเพลงสรรเสริญเสือป่า ซึ่งใช้เป็นเพลงเกียรติยศของเสือป่าในสมัยรัชกาลที่ ๖
ต่อมาจึงได้มีการเปลี่ยนมาใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีฉบับของพระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางคกูร หรือ ครูมีแขก) ครูดนตรีคนสำคัญ ที่ได้ประดิษฐ์ทำนองขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อราว พ.ศ. 2416 ภายหลังจากพระราชพิธีบรมราชภิเษกครั้งที่ 2 ได้ไม่นาน ซึ่งได้เค้าทำนองมาจากเพลงสรรเสริญนารายณ์ของเก่า และได้เรียบเรียบเสียงประสานสำหรับดนตรีตะวันตกโดยปโยตร์ ชูรอฟสกี (Pyotr Schurovsky) นักประพันธ์ชาวรัสเซีย เมื่อ พ.ศ. 2431 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงนิพนธ์เนื้อร้องประกอบและได้ออกบรรเลงครั้งแรกที่ศาลายุทธนาธิการในปีเดียวกัน ต่อมาทรงนิพนธ์เนื้อร้องของเพลงนี้อีกหลายเนื้อร้องเพื่อขับร้องในกลุ่มต่าง ๆ กัน เช่น ทหาร นักเรียนชาย นักเรียนหญิง เป็นต้น แต่มีเนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีอีกสำนวนหนึ่งที่เป็นพระนิพนธ์ในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ สำนวนนี้เป็นสำนวนสำหรับทหารเรือขับร้องโดยเฉพาะ
เนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีฉบับปัจจุบันนั้น เดิมทีเป็นเนื้อร้องที่พระองค์ได้นิพนธ์ขึ้นเพื่อใช้ในพระราชพิธีลงสรงของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ต่อมาเมื่อถึงรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำเพลงสรรเสริญพระบารมี มาพระราชนิพนธ์คำร้องขึ้นใหม่ โดยทรงรักษาคำร้องเดิมเอาไว้เกือบทุกอย่าง ยกเว้นแต่ทรงเปลี่ยนคำร้องในท่อนสุดท้ายว่า ฉะนี้ ให้เป็น ชโย และประกาศใช้ ในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2456 และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เพลงสรรเสริญพระบารมีไม่ได้ใช้ในฐานะเพลงชาติอีกต่อไป แต่ยังคงใช้ในฐานะของเพลงถวายความเคารพแด่องค์พระมหากษัตริย์ มีอยู่ช่วงหนึ่งมีการตัดทอนเพลงนี้ให้สั้นลง แต่ได้ยกเลิกการใช้แล้ว โดยบทร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ใช้ในปัจจุบัน เป็นบทพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์แก้ไขเมื่อ พ.ศ. 2456
อนึ่ง ในวันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม 2559 นี้ จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่คนไทยจะรวมพลังกันมากที่สุดในโลก เพื่อร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีเพื่อแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและไว้อาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ณ ท้องสนามหลวง ร่วมกับวงออเคสตร้ากว่า 200 ชิ้น อำนวยการเพลงโดย อ.สมเถา สุจริตกุล โดยมี “ท่านมุ้ย” หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ทำการบันทึกเสียง และจะนำไปฉายทุกโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศรวมทั้งสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ