xs
xsm
sm
md
lg

“บุหลันดั้นเมฆ” ขนมชาววัง งามคล้ายพระจันทร์ฉาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


>>บริการเดอะวิสดอม ธนาคารกสิกรไทย จัดกิจกรรม THE WISDOM Lifestyle: เลาะรั้ววังเก่า เล่าเรื่องขนมไทย ณ พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า วังสระปทุม ย้อนรอยความละเมียดละไมใน แต่ละขั้นตอนของการทำขนมไทยโบราณตำรับชาววัง “บุหลันดั้นเมฆ” ซึ่งสืบทอดวิธีการทำมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 เป็นขนมเลื่องชื่อที่หาทานได้ยากมาก และควรค่าแก่การอนุรักษ์ โดยได้รับเกียรติจาก ม.ล.ดรุณี จักรพันธุ์ นักจัดการงานในพระองค์ ชำนาญการ สังกัดกองวัง สำนักพระราชวัง และปฏิบัติหน้าที่เป็นอาจารย์สอนวิชาอาหารและขนม โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง) มาเป็นวิทยากรกิตติมศักดิ์

ม.ล.ดรุณี เล่าว่า ขนมชาววังต้องใช้ความพิถีพิถันทุกขั้นตอนการทำ ประดิดประดอยอยู่หลายขั้นตอน คนสมัยก่อนนิยมส่งลูกหลานที่เป็นผู้หญิงเข้าไปในวัง เพื่อถวายตัวรับใช้เจ้านายในวังตามตำหนัก เพื่อฝึกฝนงานฝีมือด้านต่างๆ เช่น งานเย็บปักถักร้อย จัดดอกไม้ ทำอาหาร

“บุหลันดั้นเมฆ” เป็นขนมชาววังคิดประดิษฐ์ขึ้นให้มีสีสันอุปมาอุปไมยโดยได้แรงบันดาลใจมาจากบทเพลง “บุหลันลอยเลื่อน” หรืออีกชื่อคือ “บุหลันลอยฟ้า” เพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 มีความเป็นมาว่า หลังจากทรงซอสายฟ้าฟาดอยู่จนดึกก็เข้าบรรทม ทรงพระสุบินว่าเสด็จไปสถานที่สวยงามมากแห่งหนึ่ง พระจันทร์เต็มดวงค่อยๆ ลอยเลื่อนเข้ามาใกล้ ส่องแสงกระจ่างไปทั่ว พร้อมมีเสียงทิพยดุริยางค์กังวาน พระองค์เสด็จทอดพระเนตรและทรงตั้งพระทัยสดับเสียง ดนตรีอันไพเราะเพลิดเพลินพระราชหฤทัยเป็นเวลานาน จากนั้นดวงจันทร์ก็ค่อยๆ ลอยเลื่อนเคลื่อนห่างออกไปในท้องฟ้าพร้อมสำเนียงเสียงดนตรีก็ค่อยๆเบาจางห่างหายไป พลันเสด็จตื่นบรรทมแม้เสด็จตื่นรู้พระองค์กระจ่างแจ้งแจ่มพระทัยแล้ว สำเนียงดนตรีในพระสุบินยังแว่วกังวานพระโสตอยู่ จึงโปรดให้ตามมหาดเล็กเจ้าพนักงานการดนตรี เข้ามาต่อเพลงไว้ในยามราตรีนั้นเอง พระราชทานนามเพลงว่า “บุหลันลอยเลื่อน”

คำว่าบุหลันหมายถึงดวงจันทร์ ลักษณะของตัวขนมจะใช้น้ำดอกอัญชันสีฟ้าครามแทนสีของเมฆในเวลากลางคืน และวางไข่แดงตรงกลางแทนดวงจันทร์ ขนมนี้จึงทำเลียนแบบเสมือนความงดงามของดวงจันทร์ที่ลอยเด่นอยู่บนท้องฟ้ายามค่ำคืน

ขนมบุหลันดั้นเมฆมีลักษณะคล้ายขนมน้ำดอกไม้ ส่วนผสมแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ส่วนผสมของแป้ง ประกอบไปด้วย แป้งข้าวเจ้า แป้งมัน น้ำดอกอัญชัน น้ำตาลทราย และส่วนผสมของหน้าขนม ได้แก่ ไข่แดงของไข่ไก่ และน้ำตาล ซึ่งสามารถใช้ทองหยอดวางแทนไข่แดงและน้ำตาลได้ จะเรียกว่า “บุหลันดั้นหมอก” โดยยังคงมีรสชาติเหมือนเดิม เนื่องจากทองหยอดนั้นทำมาจากไข่แดงและน้ำตาลเช่นกัน

วิธีทำเริ่มจากการนึ่งถ้วยตะไลในน้ำเดือดประมาณ 10 นาทีจนถ้วยร้อนจัด ผสมแป้งข้าวเจ้า แป้งมัน น้ำดอกอัญชัน และน้ำตาลทราย จากนั้นหยอดลงบนถ้วยตะไล เมื่อนำไปนึ่ง ขนมจะเป็นรอยบุ๋มตรงกลาง รอจนแป้งจับตัวกับขอบถ้วยเล็กน้อย จึงหยอดไข่ไก่ลงไปตรงกลาง นึ่งต่อให้สุกเป็นเนื้อเดียวกัน หรือในกรณีที่ใช้ทองหยอดแทนไข่ไก่ นึ่งต่อจนทองหยอดดันตัวขึ้นมาเหนือแป้ง นำมาพักไว้จนเย็น แล้วจึงแซะออกจากถ้วยตะไล นำมาจัดเรียงให้สวยงาม

ทุกรายละเอียดล้วนสะท้อนความละเมียดละไมในวิถีทั้งชีวิตและวัฒนธรรมด้านอาหารการกินของผู้คนในอดีต รวมทั้งเกร็ดความรู้ที่บอกเล่าถึงความคิดสร้างสรรค์และความใส่ใจในทุกขั้นตอน ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าซึ่งสืบทอดมาแต่ครั้งโบราณที่ยังหอมหวนให้กับผู้คนในยุคนี้ :: Text by FLASH
กำลังโหลดความคิดเห็น