การที่คนเรานอนหลับแล้วฝันเป็นเรื่องราว หรือไม่ก็ฝันเลอะเทอะต่อกันไม่ติด ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่มีอยู่ทั่วไป
แต่ที่ฝันเป็นเพลงทั้งเพลง และเพลงนั้นมีความไพเราะประทับใจจนกลายเป็นเพลงอมตะ ก็ไม่ใช่เรื่อง“เหลือเชื่อ” หรือเกิดจากอภินิหารแต่อย่างใด ในสมัยโบราณเคยเกิดขึ้น มีจารึกไว้ในพงศาวดาร และในยุคปัจจุบัน เพลงประเภทนี้ก็มีอีกเช่นกัน
พงศาวดารรัชกาลที่ ๒ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ซึ่งประสูติในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงดำรงพระยศเป็น หลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี มีนิวาสสถานอยู่ที่บ้านอัมพวา พระนามเดิมว่า “คุณชายฉิม” ครั้นเจริญพระชันษาได้ ๘ พรรษาได้โดยเสด็จติดตามพระราชบิดาไปในสงครามทุกครั้ง เริ่มตั้งแต่ไปรบพม่าที่เชียงใหม่ แล้วกลับมารบพม่าที่บ้านนางแก้ว เขาชะงุ้ม เมืองราชบุรี กลับขึ้นไปรักษาเมืองเชียงใหม่อีก จนมารบอะแซหวุ่นกี้ที่เมืองพิษณุโลก ต่อจากนั้นได้โดยเสด็จไปปราบเมืองนางรอง เมืองนครจำปาศักดิ์ และไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต ครั้งได้พระแก้วมรกตกลับมา
พอพระชันษาได้ ๑๓ พรรษาก็เข้าพิธีโสกันต์ ต่อมาอีก ๑ ปีก็โดยเสด็จพระบรมชนกนาถนำทัพไปกรุงกัมพูชา ในระหว่างนั้นได้เกิดจลาจลในกรุงธนบุรี เมื่อเสด็จกลับมาบรรดาข้าราชการจึงพร้อมกันอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯขึ้นผ่านพิภพ ในขณะที่สมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา
แม้จะทรงเจริญชันษาอยู่ในกองทัพมาตลอดตั้งแต่ได้ ๘ พรรษา แต่เมื่อขึ้นครองราชย์เป็นช่วงเวลาที่ประเทศชาติว่างเว้นศึก จึงมีโอกาสได้ทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมที่ทรุดโทรมไปกับกรุงศรีอยุธยา ทรงสนพระทัยในการศึกษาโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และทรงฝึกหัดศิลปะการดนตรีอย่างลึกซึ้ง ทรงสร้างซอสามสายด้วยพระองค์เอง เป็นซอคู่พระหัตถ์ที่ทรงโปรดเป็นพิเศษ พระราชทานนามว่า “ซอสายฟ้าฟาด”
คืนหนึ่งทรงซอสามสายอยู่จนดึก พอเข้าบรรทมก็ทรงสุบินว่า พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งสวยงามราวกับสรวงสวรรค์ ทอดพระเนตรเห็นดวงจันทร์ลอยเลื่อนเข้ามาใกล้ สาดแสงอำไพไปทั่วบริเวณ ทันใดก็ทรงได้สดับเสียงดนตรีอันไพเราะเสนาะพระกรรณ พระองค์จึงประทับยืนทอดพระเนตรความงามและสดับเสียงดนตรีทิพย์ด้วยความเพลิดเพลินพระราชหฤทัย จนดวงจันทร์ค่อยๆเลื่อนลอยห่างออกไปในท้องฟ้า ทั้งเสียงดนตรีก็ค่อยๆจางหายไปตามดวงจันทร์ พลันพระองค์ก็ตื่นจากบรรทม แต่เสียงดนตรีในท่วงทำนองอันไพเราะนั้นยังก้องกังวานอยู่ในพระโสต
โปรดให้ตามเจ้าพนักงานดนตรีมาทันทีในคืนนั้น ทรงบรรเลงเพลงในพระสุบินให้ฟังจนจบ และพระราชทานนามว่า “บุหลันลอยเลื่อน” หรือ “บุหลันลอยฟ้า” ซึ่งนักดนตรีทั้งหลายได้จดจำกันต่อๆมา แต่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “เพลงพระสุบิน” ซึ่งเป็นเพลงอมตะมาจนทุกวันนี้ เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่คนนิยมดนตรีไทย และเคยใช้เป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้ทำนองแบบฝรั่งในปัจจุบัน แต่เพลงพระสุบินก็ยังเรียกกันว่า “เพลงสรรเสริญพระบารมีไทย”
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ซึ่งทรงตั้งกองเสือป่าขึ้น เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ก็ยังทรงนำทำนองเพลงพระสุบินมาเป็นเพลงสรรเสริญเสือป่าด้วย
เพลงพระสุบินจึงนับได้ว่าเป็นเพลงอมตะ ยืนยงมาถึงวันนี้ราว ๒๐๐ ปีแล้ว ทั้งๆ ที่เกิดมาจากความฝัน แสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงใฝ่พระราชหฤทัยในการดนตรีอย่างแท้จริง แม้แต่บรรทมก็ยังทรงพระสุบินเป็นเพลงอมตะได้เช่นนี้
ส่วนเพลงอมตะยุคใหม่ที่มีกำเนิดมาจากความฝันเช่นเดียวกับ“เพลงพระสุบิน” ก็คือ “น้ำตาแสงไต้”
“ลุงแจ๋ว” สง่า อารัมภีร์ ผู้มีชื่อว่าเป็นผู้แต่งทำนองเพลง “น้ำตาแสงไต้” เล่าไว้ว่า เมื่อตอนที่คณะศิวารมณ์นำบทประพันธ์เรื่อง “พันท้ายนรสิงห์” ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล แสดงที่ศาลาเฉลิมกรุงในราวเดือนพฤศจิกายน ๒๔๗๘ โดยเป็นละครเรื่องใหญ่มีผู้กำกับถึง ๒ คนคือ “มารุต” และ “เนรมิต” ขณะเหลือเวลาอีก ๕ วันจะเปิดแสดง นักแสดงและนาฏศิลป์ซ้อมกันแล้ว ฝ่ายฉากก็เริ่มสร้าง แต่เพลงเอกของเรื่องคือ “น้ำตาแสงไต้” ที่ “เสด็จพระองค์ชายใหญ่” เจ้าของบทประพันธ์วางพล็อตเพลงไว้ ยังแต่งกันไม่ถูกใจผู้กำกับทั้ง ๒ คน
ตอนนั้น“ลุงแจ๋ว” ไม่ได้มีหน้าที่แต่งเพลงกับเขา เป็นเพียงคนเล่นเปียโนให้นาฏศิลป์และนักร้องซ้อมเท่านั้น เพิ่งเข้ามาเป็นนักดนตรีได้เพียงปีเดียว แต่เก็บเอาความกังวลในเรื่องยังแต่งเพลงเอกไม่ได้มาใส่ใจด้วย
ค่ำวันหนึ่งหลังจากซ้อมนาฏศิลป์เสร็จ ออกมายืนเก้ๆกังๆอยู่หน้าเฉลิมกรุง ก็พบกับ ทองอิน บุญยเสนา นักเขียนเจ้าของนามปากกา “เวทางค์” ซึ่งมาเกร่หาเพื่อนคุยอยู่แถวนั้นเป็นประจำ ชวนไปกินข้าวกันที่ร้านโว่กี่ หน้าตลาดบำเพ็ญบุญ “ลุงแจ๋ว” ปรารภเรื่องเพลง “น้ำตาแสงไต้” ที่ยังแต่งกันไม่ได้ ว่าผู้กำกับและเจ้าของเรื่องต้องการให้เป็นเพลงที่มีสำเนียงไทยแท้ มีรสหวานเย็นและเศร้า ทองอินฟังแล้วก็บอกว่า
“เพลงไทยนั้นมีแยะ แต่ไอ้รสหวานเย็นและเศร้าที่หง่าว่ามันมีน้อย ที่อั๊วชอบมากและรู้สึกหวานเย็นเศร้า ก็เห็นมีแต่เขมรไทรโยคและลาวครวญเท่านั้น”
พูดขาดคำก็ร้องออกมาทันที
“ร้อยชู้หรือจะสู้เนื้อเมียตน
เมียร้อยคนหรือจะสู้พระแม่ได้...”
ร้องไม่ทันจบก็เปลี่ยนเป็นเขมรไทรโยค
“เสียงนกยูงทอง มันร้องโด่งดัง หูเราฟัง หูเราฟัง....”
โดยร้องดังอย่างลืมตัว จนเห็นคนในร้านหัวเราะชอบใจ จึงรู้สึกตัวหยุดร้อง
เมื่อแยกกับทองอินที่โว่กี่ราว ๔-๕ ทุ่ม “ลุงแจ๋ว” ข้ามกลับมาที่เฉลิมกรุง เห็นฝ่ายฉากของประสิทธ์ ยุวะพุกกะ ยังทำงานกันอยู่ จึงแวะเข้าไปหลังเวที และเมื่อง่วงจัดก็เลยหาที่เหมาะเอนตัวลงหลับอยู่แถวนั้น
“ลุงแจ๋ว” เล่าไว้ใน “ความเอย ความหลัง” ว่า
“...ผมรู้สึกแปลกใจมาก ที่ใครไม่ทราบขึ้นมาเล่นเปียโนในห้องเล็กก่อนผม เสียงเปียโนที่แว่วมาไพเราะเหลือเกิน เป็นสำเนียงไทยแท้มีรสหวานเย็นเศร้า รวมวิญญาณของเขมรไทยโยคและลาวครวญให้เป็นเกลียวเขม็งเข้าหากันอย่างสนิทแนบ สำเนียงและวิญญาณถอดออกมาจากเพลงสองเพลงนี้อย่างครบถ้วน โดยที่เพลงเดิมไม่ได้เสียหายอะไรแม้แต่น้อย ดูดุจวิญญาณเก่าเข้าเคล้ากันจนเกิดวิญญาณใหม่ที่สวยงามขึ้นอีกวิญญาณหนึ่ง...
ผมฟังเพลินอยู่จนสะดุ้งเมื่อมีมือหนักๆมาเขย่าจนรู้สึกตัว ตื่นจากภวังค์ เอ๊ะ! นี่ผมไม่ได้อยู่บนห้องเล็กของเฉลิมกรุงหรือนี่ ผมมานอนที่เก้าอี้นวมใต้ถุนเฉลิมกรุง และมือที่มาเขย่านี้คือมือของคนเก็บกวาดทำความสะอาด ผมนอนอยู่จนเช้าเทียวหรือนี่...”
ในวันนั้น หลังจากที่ซ้อมนาฏศิลป์เสร็จแล้ว “ลุงแจ๋ว” ได้ยิน “เนรมิต” และ “มารุต” บ่นกันถึงเรื่องเพลง “น้ำตาแสงไต้” ว่าทำนองที่คนแต่งส่งมายังใช้ไม่ได้ “ลุงแจ๋ว”นึกถึงเพลงที่ได้ยินในความฝันเมื่อคืนนี้ จึงเดินไปที่เปียโน แล้วนิ้วก็พรมไปบนคีย์ด้วยความรู้สึกที่บอกไม่ถูก เคลิบเคลิ้มล่องลอยไปตามทำนองเพลงในความฝัน จนสะดุ้งเมื่อได้ยินเสียง “เนรมิต” ร้องว่า
“หง่า...นั่นเล่นเพลงอะไร?”
จากนั้นทั้ง “เนรมิต” และ “มารุต” ก็ประสานเสียงกันว่า
“นี่แหละ น้ำตาแสงไต้”
“ลุงแจ๋ว” ดีใจรีบจดโน้ต จากนั้น “มารุต”ก็ร้องขึ้นก่อนว่า
“นวลเจ้าพี่เอย...”
“คำน้องเอ่ยล้ำคร่ำครวญ” เนรมิตต่อ
“ถ้อยคำดังเหมือนจะชวน ใจพี่หวนครวญคร่ำอาลัย”
ต่างช่วยกันต่อ จากนั้น สุรสิทธิ์ สัตยวงค์ ผู้จะร้องเพลงนี้ในละครก็ร้องเกลา ภายใน ๑๐ นาที เพลงเอกของ “พันท้ายนรสิงห์”ก็เสร็จ
“น้ำตาแสงไต้” จึงกำเนิดมาจากความฝันเช่นเดียวกับ“เพลงพระสุบิน”ในสมัยรัชกาลที่ ๒
ความจริงเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องอภินิหารแต่อย่างใด นักจิตวิทยาได้บอกไว้ว่า เมื่อคนเราหมกมุ่นครุ่นคิดเรื่องหนึ่งเรื่องใด แม้เมื่อเราหยุดคิด หรือขณะนอนหลับ สมองบางส่วนจะนำเรื่องนั้นไปคิดต่อ พอตื่นเช้าก็มักจะคิดได้เสมอ บางทีตื่นมากลางดึกก็คิดได้แล้ว
นี่ก็เป็นคุณสมบัติพิเศษอีกอย่างของมนุษย์ ที่มักไม่ค่อยได้นำออกมาใช้กัน นอกจากคนที่มีความมุ่งมั่น หรือเผชิญวิกฤติ คุณสมบัติพิเศษที่ซ่อนอยู่นี้ ซึ่งยังมีอีกหลายอย่าง ก็จะแสดงอิทธิฤทธิ์ออกมาคลี่คลายปัญหาที่กำลังเผชิญนั้นให้